16 กรกฎาคม 2563…นี่คือการเปลี่ยนและพัฒนาคน สร้าง Active Citizen ต้องฝึกให้พึ่งตัวเองให้ได้ ทำความสำเร็จให้ดูก่อน แล้วจึงเคลื่อนพร้อมด้วยเครือข่ายที่ผสานพลังทุกอาชีพ สร้าง Engagement ให้กับสังคม
พรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวอยู่วิทยา และผู้อำนวยการโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” พร้อมด้วย อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมกันเล่าถึงรูปธรรมที่คนไทยทุกคน สามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่การพึ่งตนและแบ่งปัน ฝึกอบรมเติมความรู้ สร้างคุณค่าใหม่ของสังคม ใน โครงการ ”พึ่งตน เพื่อชาติ”
พรรณราย กล่าวถึงพื้นที่ 50 ไร่ ในเขาใหญ่ ซึ่งเดิมจะต้องพัฒนาที่ดินเป็นรีสอร์ต แต่ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็น “ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา” ห้องเรียนตามแนวคิด “ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจใหม่” ซึ่งมีต้นทางมาจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ โดย อาจารย์วิวัฒน์ ที่มีฐานมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวคิด “ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจใหม่”
“จากมุมมองที่เราเห็นคำว่าเกินพออยู่ฝั่งหนึ่ง กับคำว่าไม่พออยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งหากยังไม่พอเช่นความรู้ยังไม่พอก็ทำให้พอ หรือสร้างการดำรงชีพให้พอขึ้นมา ส่วนฝั่งที่มีเกินพอต้องรู้จักแบ่งปัน ถ้าเมื่อทั้งสองฝั่งคิดแบบนี้โดยไม่ต้องคิดว่าจะต้องได้ผลตอบแทนเสมอ ทั้งสองฝั่งจะมีอยู่ร่วมกันตรงกลางได้ เพราะคนนี้ก็ไม่ได้ขออย่างเดียว คนนี้ก็ไม่ได้เสมอไปอย่างเดียว สังคมนี้จะอยู่ตรงกลางได้จริง ๆ เราอยู่ได้แบบนี้จึงเกิดศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา”
และนับจากนี้เป็นต้นไป พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นแหล่งเรียนรู้ใน โครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” ซึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของครอบครัวอยู่วิทยา “สร้างคน” ด้วยแนวคิดและการปฎิบัติตาม “ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจใหม่”
จากโครงการครอบครัว ส่งต่อองค์ความรู้ขยายสู่สังคม
“ความตั้งใจของครอบครัวอยู่วิทยาที่จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาสร้างแนวทางการดำรงชีวิตใหม่ เพราะการระบาดของไวรัสCovid-19 ครั้งนี้ทำให้ชีวิตของคนไทยนับล้านเปลี่ยนแปลงไป หลายครอบครัวไม่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้เหมือนเดิม ครอบครัวอยู่วิทยาเล็งเห็นว่าการดำรงชีวิตตามวิถีของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะช่วยสร้างความพอมีพอกินพอใช้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา โดยหวังว่าจะสร้างคุณค่าใหม่ของสังคมแห่งการพึ่งตนและแบ่งปันได้ในท้ายที่สุด”
พรรณรายขยายความเพิ่มเติมถึงโครงการของครอบครัวอยู่วิทยา ตั้งเป้า 1,000 คน ฝึกลงสนามทำจริง เน้นพึ่งตน-แบ่งปันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มั่นใจสร้างโมเดลชุมชนต้นแบบ “พึ่งตน เพื่อชาติ” 100 ชุมชน ขยายผลสู่เป้าหมายล้านคน ไม่หวั่นโควิด-19 กลับมารอบ 2 โดยครอบครัวอยู่วิทยาสนับสนุน Seed Money 300 ล้านบาทในระยะเริ่มต้น 3 ปี
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของ โครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” จะมี 3 กลุ่มที่ตกงานจาก Covid-19 ประกอบด้วย
1.กลุ่มคนเมืองที่ยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพในเมือง ต้องหาทางออกที่ช่วยตัวเอง โดยคนกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนประมาณ 10%
2.กลุ่มคนกึ่งเมือง คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่เริ่มเรียนรู้แล้วว่า ไม่อยากอยู่เมืองตลอดไป อยากลงมือทำเกษตรจริงจังในบ้านเกิดตัวเอง หรือในที่ดินของตัวเองในต่างจังหวัด สัดส่วนประมาณ 70%
3.กลุ่มเกษตรกร ที่มีความสนใจในการเปลี่ยนวิถีเกษตรกรจากการใช้สารเคมี และอินทรีย์ สัดส่วนประมาณ 70%
พรรณรายขยายความการฝึกอบรมเต็มโครงการจะใช้เวลา 3 เดือน โดยแบ่งเป็น การอบรม 5 วัน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าโปรแกรมเติมหลักคิด หลักทำตามทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างวิถีชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเรียนรู้การออกแบบพื้นที่นิเวศ ดิน น้ำ ป่า คน เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยเป็นพื้นฐานของการพึ่งตน ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เขาใหญ่
“วันแรกเราจะปรับพื้นฐานร่วมกัน วันที่สองทำให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้สัมผัสธรรมชาติ วันที่สามพาลงดิน เรียนรู้ ดิน น้ำ ป่า แล้ววันที่สี่จะเริ่มลงพื้นที่ทดลองเล็ก ๆ แล้วเริ่มค้นหาต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่แตกต่างตามภูมิสังคม โดยทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมายไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ สุดท้ายวันที่ห้า วางแผนลงชุมชน โดยเลือกฝึกกับครูเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตามพื้นที่ 4 ภาครวมระยะเวลา 10 วัน เพื่อให้คำแนะนำ เราเชื่อว่า 10 วันผู้เข้าอบรมจะนำองค์ความรู้ที่ได้รับกลับไปลงมือปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง สร้างชุมชนของตนเอง หรือนำองค์ความรู้นี้ไปฝึกลงมือทำในพื้นที่ของครอบครัวอยู่วิทยา เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกสอนคนอื่นๆ ต่อไป”
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมี 3 เป้าหมายหลักคือ
1.มุ่งสร้างผู้นำเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงตนเอง และชุมชน โดยหนุนเสริมจุดเล็กๆ คนเล็กๆ เริ่มจากครอบครัว เพื่อนฝูง สู่ชุมชน ให้มีพลังในการสร้างรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานการพึ่งตนและแบ่งปัน ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ และด้วยกระบวนการการเรียนรู้และการเชื่อมโยงที่เข้าหาตนเองอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้รับรู้ว่าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาอย่างไร และจะช่วยลดปัญหาหรือทำให้ชีวิตของพวกเขาและสังคมในวงกว้างดีขึ้นได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมให้เกิดการพัฒนาผู้นำที่พร้อมจะเป็นทัพหน้าพาคนไทยฝ่าวิกฤต สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง และชุมชน
2.มุ่งสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม (Social Impact) สู่คุณค่าใหม่ของการพึ่งตน เพราะเราเชื่อว่าการพึ่งตนและแบ่งปันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมไทย และเป็นจุดแข็งที่ทำให้เรารอดจากความยากลำบากไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็ตาม การเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน ที่การแลกเปลี่ยนไม่ได้ถูกวัดด้วยมูลค่า สู่การแบ่งปันแบบไม่มีเงื่อนไข หากแต่เกิดจากความพึงพอใจของผู้ให้และผู้รับเป็นหลักจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมสู่คุณค่าใหม่ได้อย่างยั่งยืน
3.มุ่งสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาสังคม โครงการ พึ่งตน เพื่อชาติมุ่งเป้าหมายหนุนเสริมโมเดลชุมชนแห่งการพึ่งตน แบ่งปัน 100 ชุมชนต้นแบบ และขยายผลออกไป โดยมีเป้าหมายให้คนไทย 1 ล้านคนได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่ายิ่งพึ่งตน ยิ่งแบ่งปันมากขึ้นเท่าใด เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งถือว่าเป็นฐานรากที่สำคัญของชาติ ก็จะยิ่งมีความมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น
พันธมิตรขับเคลื่อนโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ
1 ในพันธมิตรที่ขับเคลื่อนโครงการคือ อาจารย์วิวัฒน์ กล่าวถึงการพัฒนาคนในโครงการฯ นี้ว่า
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างคนและการติดตามหนุนเสริม โครงการนี้เป็นการจับมือร่วมกัน ตั้งแต่การเริ่มออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับคนเมือง หรือคนที่เคยทำงานในเมืองซึ่งจะเป็นคนละแบบกับกลุ่มเกษตรกร โดยจะมีการอบรม 1 วัน 5 วัน และหลักสูตรเข้มข้นคือไปฝึกที่บ้านครูและพาลงชุมชน ไปเรียนรู้จากของจริง หลังจากนั้นกลับไปทำที่ชุมชนตนเอง หรือจะสร้างชุมชนแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกันแบ่งปันกัน รอดร่วมกัน โดยยึดหลัก Our Loss is Our Gain ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา”
นอกจากหลักสูตรที่ออกแบบให้เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้แล้ว โครงการฯ ยังร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ ทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดโมเดลการทำงานของโครงการ พึ่งตน เพื่อชาติ ซึ่งเป็นการประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดของภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม โดยเน้นกระบวนการเปลี่ยน กระบวนคิด (Mindset) สู่การคิดพึ่งตนและมองเห็นคุณค่าของการแบ่งปัน
1 ในพันธมิตร อาจารย์ประภาภัทร กล่าวถึงมุมมองด้านการศึกษาว่า งานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โครงการเดินหน้าสู่เป้าหมาย 1 ล้านคนได้อย่างมีทิศทาง
“เพราะจะเป็นการตอบคำถามอย่างมีหลักการ เพื่อให้ผู้ดำเนินโครงการได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานได้ทันท่วงที และจะเป็นชุดวิจัยที่เกิดบนสถานการณ์จริง นำไปใช้ได้ประโยชน์ทันทีเหมาะกับโลกยุคโควิด-19 ที่อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้”
อย่างไรก็ตาม การสร้างคนในการนี้สำหรับคนเมืองที่มาทำงานในกรุงเทพฯ นานมาก ไม่มีโอกาสใกล้ชิดสังคมเดิมเลย โอกาสที่จะนำสิ่งที่เรียนรู้จากโครงการไปทำจริงจะเป็นไปได้จริงหรือ?
หนึ่งในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เล่าประสบการณ์จริงของตัวเองว่า หลังจากทำงานจากต่างประเทศกลับมา ตอนที่เราจะเข้าชุมชน สิ่งแรกที่เราต้องเรียนรู้คือ เราต้องเข้าใจ และต้องลงมือปฏิบัติจนเกิดความเชี่ยวชาญเกิดความชำนาญ จนกระทั่งเราอินกับสิ่งที่เราทำ รู้สึกว่ามีประโยชน์ และสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องอัตโนมัติที่เราจะแบ่งออกไปให้กับชุมชนใดก็ตามที่อยู่ใกล้เราหรือไกลจากเรา ซึ่งชุมชนจะสัมผัสได้จากเราและมาอยู่กับเรา เป็นการชักชวนด้วยความปรารถนาดีว่ามีอีกวิถีชีวิตหนึ่งที่คุณจะมีความสุขนอกเหนือจากวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ที่คุณมีอยู่
“ผมขอเสริมหลักง่าย ๆ สำหรับคน 4 กลุ่มหยาบๆ เด็กเล็ก วัยเรียน วัยทำงาน สูงวัย ถ้าแบ่งกลุ่มละสามก็จะเป็น 12 กลุ่ม คุณผึ้งเลือกเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียนก่อน เราทำภูเขาหัวโล้นให้มีน้ำแล้วสูบน้ำจากลำน้ำขึ้นมาปล่อย ซึ่งเด็กจะวิ่งขึ้นมาเล่นน้ำ เป็นประจำ คุณผึ้งมาเห็นก็จะมาชวนเด็กทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเด้กเหล่านี้คือเด็กประจำถิ่น หรือจะเริ่มจากคนแก่วัยกระเตาะมีพลังมาก รวมถึงกำลังสมอง ก็มีจะมีวิธี Approch มากมาย อยากให้ลองฟังอีกสักตัวอย่าง” อาจารย์วิวัฒน์กล่าว
อีกหนึ่งในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งเดิมก็เป็นวิถีคนเมือง หารายได้มากสุด ประมาณ 2 แสนบาทต่อเดือนเอาเงินไปซื้อสิ่งที่คนเมืองเรียกว่าความสุข กินเหล้า เข้าผับ ซื้อรถ บ้าน คอนโดฯ ทำทุกอย่างที่เราคิดว่าสมบูรณ์ แต่มาวันหนึ่งปี 2554 เราคิดว่า ประโยชน์ที่เราเรียนจบปริญญามาคืออะไร ได้มีโอกาสพบอาจารย์วิวัฒน์ที่มาบเอื้อง เป็นช่วงชีวิตที่เราเคว้งขว้าง เราอยากมีชีวิตมากกว่าแค่การใช้เงินซื้อสิ่งที่ทุกคนเรียกว่าความสุขแค่นั้น อยากที่จะทำประโยชน์อื่นใด ๆ ให้กับคนอื่นบ้าง พอเจอสิ่งที่อาจารย์สร้างไว้ ทุกคนทักทายพูดคุยสอบถามไม่ต้องสนใจว่าเป็นใครมาจากไหน ถามเราว่ากินข้าวมาหรือยัง มีอะไรให้ช่วยไหม เรารู้สึกว่าสังคมที่อาจารย์สร้างไว้เปลี่ยนความรู้สึกมากเลย เราถามตัวเองว่า ที่นี่หรือเปล่าที่เขาสร้าง “คน” ให้เป็น “คน” เปลี่ยน “มนุษย์” ให้มีคุณค่า เลยตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วมาดูว่าอาจารย์สอนคนอย่างไร ถึงวันนี้ก็เป็น 8 ปีที่ได้ทำงานกับชุมชน
โครงการพึ่งตน เพื่อชาติ มุ่งเน้นการหนุนเสริมคนที่มีความพร้อมที่จะเป็นทัพหน้าพาคนไทยฝ่าวิกฤต สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง และชุมชนอย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ทางเว็ปไซต์ของโครงการฯ คือ www.พึ่งตนเพื่อชาติ.com โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปกรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการได้แล้ววันนี้ และโครงการฯ จะประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมรุ่นที่หนึ่งจำนวน 300 คน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และจะเริ่มฝึกอบรมหลักสูตร 1 วัน “ก้าวแรก พึ่งตน” ในวันที่ 21 สิงหาคม เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรมพึ่งตนได้ง่ายๆ ได้ในเวลาเพียง 1 วัน
พรรณรายกล่าวในท้ายที่สุดว่า หากจะวัดผลแบบธุรกิจ ของ“ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา” รวมถึง “โครงการพึ่งตน เพื่อชาติ” ไม่สามารถทำได้ในแบบธุรกิจเพราะรูปแบบการดำเนินงานเป็นมูลนิธิมากกว่า เพราะไม่ได้หวังรายได้เงินกลับมา สิ่งที่หวังเป็นเรื่องสังคมเปลี่ยนไป คนที่อยู่ในสังคมเดียวกันเช่นพนักงานก็มีความสุขที่รายไ้ด้ที่เกิดในบริษัท ถูกแบ่งมาแบ่งปันสร้างคน สร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งพนักงานเองก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้เช่นกัน ทั้งหมดจะส่งผลให้เกิดสังคมที่เกื้อกูลกัน ช่วยกันสร้างคุณค่าใหม่ของการพึ่งตนและแบ่งปันให้กลับคืนมาอีกครั้ง