NEXT GEN

L’Oréal for the future “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” วิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืนปี 2030

20 กรกฎาคม 2563… มุ่งพลิกโฉมการดำเนินงาน การเร่งยกระดับการทำงานบริษัท  เพื่อร่วมช่วยรักษาโลกให้ปลอดภัยเพื่อมนุษยชาติเป็นภารกิจสำคัญภายใต้ “ ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” พร้อมจัดทุน150 ล้านยูโรช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมระดับโลก


อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มกล่าวว่า New Normal is Now Normal เพราะทุกคนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว การมาของ Covid-19 เห็นถึงความไม่สมดุลย์ เรามองว่าในอนาคตโลกต้องมีปัญหาใหญ่มาก ๆ เกิดขึ้นได้ Now Normal ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด้วย โดยวิสัยทัศน์ลอรีอัล มุ่งยกระดับเร่งการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานที่คำนึงถึง “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” เป็นที่ตั้ง เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น

“ลอรีอัล กรุ๊ป ตั้งเป้าจากวิสัยทัศน์ใหม่เพื่อความยั่งยืน ไว้สูงมาก เราไม่ได้มองถึงความยากง่าย แต่มองการทำงาน การลงทุนต้องมีมากขึ้น ความท้าทายคือ Mindset คนทำงาน ทำอย่างไรจะมีพัฒนาการทุก ๆ ปี เพราะ 10 ปีผ่านไปเร็วมาก โลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและเดินหน้าแก้ไขอย่างเร่งด่วน เราจะมุ่งให้ความสำคัญกับการสนับสนุนชุมชน ส่งเสริมความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมกับระบบนิเวศการดำเนินธุรกิจของเราในประเทศไทย และแสดงให้เห็นว่าเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ได้”

อินเนส กล่าวต่อเนื่องถึงลอรีอัล กรุ๊ปมุ่งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทั้งในอุตสาหกรรมความงาม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้บริโภคและทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันเดินหน้าปกป้องโลกใบนี้โดยเป็นไปตามวิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืนปี 2030

ฌอง-พอล แอกง ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลอรีอัล กรุ๊ป กล่าวว่า “การพลิกโฉมการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของลอรีอัลกำลังก้าวเข้าศักราชใหม่ ปัญหาหลายอย่างที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบันนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเร่งยกระดับการทำงานบริษัทฯ เพื่อร่วมช่วยรักษาโลกให้ปลอดภัยเพื่อมนุษยชาติจึงเป็นภารกิจสำคัญ ทั้งนี้ ลอรีอัล จะดำเนินงานทั้งในส่วนธุรกิจของเราเอง และส่วนการช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในภาพรวม เราทราบดีว่าปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งกำลังคืบคลานเข้ามา บริษัทฯ จึงต้องยึดมั่นในเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเป็นที่ตั้งอย่างเคร่งครัด”

การปฎิรูปธุรกิจของลอรีอัลเพื่อไม่ละเมิด “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” (planetary boundaries)

รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึง “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” เป็นการประเมินถึงศักยภาพของโลกในการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

“ปัจจุบันมีกิจกรรมมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม กำลังจะก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สิ่งสำคัญคือขีดจำกัดความปลอดภัยดังกล่าวนั้นมีขอบเขตและต้องได้รับการแก้ไขร่วมกัน ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้ผลิต รวมทั้งผู้บริโภคเอง ต้องร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนภายในปี 2030 เพื่อความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนของทุกคนและโลกใบนี้”

รศ.ดร. สุชนา ได้อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ถึงคำว่า “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” โดยยกตัวอย่างแต่ละคนจะมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง และไม่ต้องการให้ใครก้าวมาในพื้นที่ส่วนตัว เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกัน

“ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” มีข้อจำกัด หากถูกละเมิดจะเป็นอันตรายต่อสภาวะความเหมาะสมของโลกสำหรับการอยู่อาศัยและพัฒนาการของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นพ้องอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ในช่วงทศวรรษต่อจากนี้จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นลำดับต้น ๆ เพื่อมนุษยชาติ

ลอรีอัลได้กำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับปี 2030 เพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย กำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative)พร้อมยกระดับแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีก 3 ประการ ได้แก่

1.การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
2.การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
3.การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน

ลอรีอัลจะไม่เพียงมุ่งลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงเท่านั้น แต่ยังต้องการลดผลกระทบของกิจกรรมทั้งหมดทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์และผู้บริโภคของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจนั้นคำนึงถึงโลกที่มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด และเป็นธรรมต่อชุมชนที่บริษัท ทำงานด้วย

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ลอรีอัลได้ประกาศแผนการช่วยเหลือปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนด้วยการจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านยูโร (ประมาณ 5.2 พันล้านบาท) โดยงบประมาณดังกล่าวจะถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้

-100 ล้านยูโร (ประมาณ 3.5 พันล้านบาท) สำหรับการให้ทุนเพื่อจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดย 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1.7 พันล้านบาท) จะเป็นเงินทุนสำหรับโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและป่าไม้ที่เสียหาย ผ่านกองทุน L’Oréal Fund for Nature Regeneration[3] ซึ่งดำเนินการโดย Mirova บริษัทในเครือของ Natixis Investment Managers ส่วนอีก 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1.7 พันล้านบาท) จะใช้ในการให้ทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

-ช่วยเหลือสตรีผู้ด้อยโอกาส โดย ลอรีอัลจึงได้ตั้งกองทุนบริจาคเพื่อการกุศลอีก 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1.7 พันล้านบาท) เพื่อช่วยสนับสนุนองค์กรภาคสนามและองค์กรการกุศลท้องถิ่นในการต่อสู้กับความยากจน ช่วยเหลือสตรีให้สามารถประสบความสำเร็จในสังคมและวิชาชีพ ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พิการสตรี และป้องกันความรุนแรงต่อสตรีและช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ

คลิกภาพเพื่อขาย Cr.mediaroom.loreal.com/en/

อินเนส กล่าวเพิ่มเติม สำหรับ ลอรีอัล(ประเทศไทย) ภายใต้วิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืนปี 2030 จะเห็นแบบที่ผู้บริโภคจับต้องได้เลยจากบรรจุภัณฑ์ของลอรีอัลที่วางขายในประเทศไทย ประมาณเดือนกันยายนนี้ โดยบรรจุภัณฑ์จะแสดงรายละเอียดการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง รวมถึงการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

“2020 คือศักราชใหม่ เป็นปีที่ลอรีอัล ตั้งเป้าการรับผิดชอบครั้งใหญ่ เตรียมพร้อมรับโลกอนาคต โลกความงาม ผู้บริโภคเกิดแรงบันดาลใจให้โลกยั่งยืน” อินเนสกล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like