18 สิงหาคม 2563…ก.ล.ต. ร่วมกับกองทุนพรอสเพอริตี้ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด (สิงคโปร์) จัดงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “Deep-dive into green bond: post-issuance reporting and sector eligibility criteria” เพื่อส่งเสริมการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และการมีส่วนร่วมของตลาดทุนไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
จอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า
“ตลาด Green Bond ในไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และในปีนี้หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย พบว่ามีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายรายให้ความสนใจระดมทุนผ่าน Green Bond โดยอยู่ระหว่างเตรียมการออกและเสนอขาย รวมถึงตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม หรือ Social Bond และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainability Bond ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ออกเสนอขายตราสารหนี้ดังกล่าวพบว่าสามารถขยายฐานผู้ลงทุนให้กว้างและหลากหลายขึ้น ลดต้นทุนจากการจ่ายผลตอบแทน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร ก.ล.ต. จึงหวังว่าผู้เกี่ยวข้องจะตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการระดมทุนผ่านตราสารดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับบทบาทของตลาดทุนในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้”
การสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพรอสเพอริตี้ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ภายใต้โครงการ ASEAN Low Carbon Energy Programme ซึ่งบริหารโดยบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด (สิงคโปร์) โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศมาให้ความรู้เกี่ยวกับ Green Bond และคำปรึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรฐานและเกณฑ์คุณสมบัติโครงการแต่ละประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม
ยกตัวอย่าง กลุ่มไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มพลังงานจากขยะ กลุ่มไฟฟ้าพลังงานน้ำ และกลุ่มพลังงานชีวภาพ รวมทั้งกระบวนการรายงานภายหลังการออกและเสนอขายในลักษณะเฉพาะเจาะจงที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมแก่องค์กรที่สนใจออกและเสนอขาย
สำหรับผู้สนใจออกและเสนอขาย Green, Social and Sustainability Bond ในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ขนส่งและโลจิสติกส์ และธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ โดยที่ผ่านมามีผู้ออกเสนอขายตราสารหนี้ดังกล่าว จำนวน 8 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนรวมมากกว่า 47,000 ล้านบาท