22-23 สิงหาคม 2563…“ดีแทค” ผนึก “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พัฒนา 2 หลักสูตรที่ไม่มีสอนในโรงเรียน ได้แก่ “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” เพื่อให้สอดรับกับทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างอัตราเร่ง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ภูมิทัศน์การเรียนรู้ของนักเรียนและครูเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วภายใต้เทคโนโลยีดิจิทัลของโลก ซึ่งสิ่งที่ตามมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคนเช่น การถูกบูลลี่ในมุมมองต่าง ๆ อ้วน เตี้ย ดำ พวก LGBT หรือมีเฟคนิวส์มากมายแต่ละวัน ฯลฯ
ผลผลิตจาก 1 ในโครงการ “ห้องเรียนเด็กล้ำ” บางตัวอย่าง
มิก- ธนกฤต งาเกาะ นักเรียนม.5/1 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี และ พี-พีรพงศ์ แซ่กัว นักเรียนม.5/3 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี เป็นตัวแทนเพื่อน ๆ อีก 3 โรงเรียนในจังหวัดนนทบุรีคือ โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย โรงเรียนชลประทานวิทยา เล่าถึงการผลิตบอร์ดเกมส์(การ์ดเกมส์) ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้รู้ว่าอะไรคือเฟค นิวส์ อะไรคือข่าวจริง
“ผมและเพื่อน ๆ 4 โรงเรียนเรียนพิเศษที่เดียวกัน เมื่อต้นปีดีแทคเปิดห้องเรียนฉลาดล้ำ อาจารย์ก็แนะนำให้ลองสมัครเพราะเห็นว่าสนใจเรื่องนี้อยู่ ทั้งหมดจึงสมัครเข้าโครงการ Young SafeInternat Leader Camp ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนเด็กล้ำ รุ่นที่ 2 เป็นแคมป์ออนไลน์ เพราะอยู่ในสถาการณ์โควิด-19 ซึ่งพวกเราเจอปัญหาเดียวกันคือเฟคนิวส์มาจากครอบครัว” มิก เริ่มเล่าถึงที่มาของการวมตัวกับเพื่อน ๆ ต่างโรงเรียนแต่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน
เฟคนิวส์ จากครอบครัวที่มิก พี และเพื่อน ๆ เจอ มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ ได้รับการแชร์ข้อมูลสุขภาพต่างๆ ที่ขาดไม่ได้คือเรื่องโควิด-19 การเปิดโรงเรียน รวมข่าวอื่น ๆ ซึ่งจริงบ้าง ไม่จริงมากกว่า
“เราก็เลยอยากเปลี่ยนแปลงตรงนี้ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จึงทำเป็นบอร์ดเกมส์ขึ้นมาเล่นก็จะเป็นข่าวสุขภาพที่ใกล้ตัว เช่นเราใช้โทรศัพท์มาก ทำให้ตาเสียหรือไม่ โดยผมจะเลือกข่าวที่เราทำเป็นประจำแต่ไม่ค่อยได้ระวังตัว เราทำขึ้นมาแล้วก็ลองเอาไปใช้เล่นในครอบครัว พอเขาลองเล่น เราก็ถามว่า ข่าวนี้เป็นจริงไหมตามหัวข้อข่าว หรือสำนักข่าวมีอยู่จริง ๆ ไหมหรือว่าปลอมแปลง”
พีอธิบายเพิ่มเติมเสริมมิกว่า บอร์ดเกมส์จะเล่นในครอบครัวก่อน บางทีเขาก็ตอบถูกว่าข่าวนี้ข่าวปลอม อันนี้ข่าวจริง เพราะในข่าวจะมีรายละเอียดประเภทเกินจริงไหม อันนี้ข่าวปลอม บางทีก็ตอบผิด
ทั้งนี้ ทั้งมิกและพียอมรับว่า จุดประสงค์ที่ทำเป็นบอร์ดเกมส์ก็เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับพ่อแม่ ญาติๆ ในครอบครัว ผู้ใหญ่ เราได้พูดคุยกันต่อหน้ากัน ช่วยสร้างการรับรู้ว่าอะไรคือเฟคนิวส์ อะไรไม่ใช่ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ครอบครัว ต่างจากการเล่นโทรศัพท์มือ
จาก “ห้องเรียนเด็กล้ำ” สู่ “ห้องเรียนครูล้ำ” พัฒนาทักษะชีวิตดิจิทัล
มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะทางดิจิทัล (digital upskilling) ให้เยาวชนฝึกสร้างกระบวนการทางความคิดและพัฒนาทักษะเพื่อรับกับการปรับใช้ดิจิทัลเพื่อโอกาสทางอาชีพ ขณะเดียวกัน เยาวชนมีความตระหนักและมีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาข้อมูลความเป็นส่วนตัวของตัวเอง การแยกแยะข่าวสารและความต้านทานที่จะไม่รับอิทธิพลความเชื่อจากโฆษณาชวนเชื่อหรือการปกป้องตัวเองจากการล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ ดีแทคมีความเชื่อมั่นว่า เยาวชนไทยไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เพื่อนในวัยเดียวกันได้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ
ดีแทค ภายใต้ความร่วมมือกับ ดีป้า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย รวมทั้งพันธมิตรในแวดวงการศึกษาและภาคสังคม จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่จำเป็นในชีวิตดิจิทัล โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ ห้องเรียนเด็กล้ำ และห้องเรียนครูล้ำ
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า การร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร ห้องเรียนครูล้ำ และ ห้องเรียนเด็กล้ำ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยเสริมทักษะดิจิทัล ให้ทั้งคุณครูได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่เหมาะสม สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนได้รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่กับการเสริมทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญรองรับศตวรรษที่ 21
ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ห้องเรียนเด็กล้ำจะช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้และเสริมทักษะใหม่ด้านดิจิทัลแก่เด็กและเยาวชนได้ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีและเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่มีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อสังคมอินเทอร์เน็ตร่วมกัน
ห้องเรียนครูล้ำ ครูคือจุดเริ่มต้นที่จะสร้างเด็ก การเกิดห้องเรียนดังกล่าวมาจากการสำรวจของดีแทคพบว่า
-คุณครูมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์เพื่อการสอนแบบ e-Learning มากที่สุด
-คุณครูมีปัญหาการออกแบบและพัฒนาคอร์สออนไลน์ และการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองในภูมิทัศน์ใหม่
-คุณครูมีความหนักใจกับปัญหาการให้คำปรึกษา และความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่นักเรียนเมื่อเผชิญกับภัยเสี่ยงออนไลน์ ได้แก่ การที่นักเรียนใช้เวลาหน้าจอมากเกินพอดี ส่งผลต่อการเรียน,พฤติกรรม และปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์
พร้อมทั้งสนับสนุนคุณครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนในเรื่องการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน และทักษะการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์แก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสม โดยในเบื้องต้นหลักสูตรจะประกอบด้วยเนื้อหา 4 วิชา ได้แก่
1.วิชาบูรณาการสื่อออนไลน์เพื่อการสอนในศตวรรษที่ 21
2. วิชาความหลากหลายทางเพศเพื่อหยุดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์
3.วิชาการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางออนไลน์ (Digital resilience for teacher )
4.การใช้สื่อศึกษาอย่างสร้างสรรค์
ส่วนห้องเรียนเด็กล้ำ ดีแทคเปิดให้บริการห้องเรียนเด็กล้ำ เพื่อรับกับความเสี่ยงออนไลน์ที่นักเรียนต้องหยุดพักอยู่บ้านตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยหลักสูตรใน ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
ส่วนที่หนึ่งคือ หลักสูตรการสร้างทักษะในการแยกแยะภัยในโลกออนไลน์ผ่านระบบการคิดเชิงวิพากษ์ และวิธีรับมืออย่างเป็นระบบ
ส่วนที่สองคือ แนวทางปฏิบัติตนที่เหมาะสมในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบ
“ห้องเรียนทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ dtac Safe Internet ที่ถือเป็นหน้าที่ของดีแทคในความรับผิดชอบต่อสังคม หลายปีมาแล้วนักลงทุนของเทเลนอร์ได้กล่าวถึงปัญหานี้ขึ้นมา การรับไม้ต่อของดีแทค ซึ่งเห็นผลกระทบเชิงบวกและลบจากการใช้เทคโนโลยี เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยที่มากับโลกดิจิทัล เราเริ่มสร้างองค์ความรู้เรื่องนี้ด้วยการอาศัยงานวิจัยที่ดีแทคทำกับมหาวิทยาลัยในการคุยกับเด็กเยาวชนไม่ต่ำกว่าพันคน พร้อมพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ดีแทคมี และปัจจุบันอยู่ในช่วงที่ขยายพันธมิตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องนี้ ทั้งฝั่งนักเรียน และครูอีกเป็นจำนวนนมาก”
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ขยายความต่อเนื่อง การทำงานภาพใหญ่ dtac Safe Internet เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มทักษะใหม่ด้านดิจิทัลให้กับเด็ก เยาวชน รวมถึงคุณครู
การผนึกความร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคมอย่าง “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ความยั่งยืนของดีแทคผ่านการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย (Policy drive) ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักในวงกว้าง (Thought leadership) ตลอดจนการสร้างความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่ครู พ่อแม่และผู้ปกครอง (Capacity building)
ห้องเรียนเด็กล้ำและห้องเรียนครูล้ำ พร้อมแล้วที่จะให้น้องๆ เยาวชน และบุคลากรครู อาจารย์ เข้าไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันแล้วได้ที่ https://learn.safeinternet.camp/