17 มีนาคม 2564…ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน การสร้างทักษะทางการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชนเพื่อเป็นเกราะในการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน รวมทั้งยังช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว
ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยถือว่าเป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่ผลักดันกิจกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการเงินให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน เพราะถือเป็นวัยแห่งเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการบ่มเพาะความรู้เพื่อให้กลุ่มคนในวัยดังกล่าวนำไปพัฒนาตัวเองในอนาคตได้ ตามความต้องการในการเป็น “เจ้าของธุรกิจ”
AFTERKLASS
สนุกกับชีวิตเพื่อนสนิททางการเงิน
ในปี 2557 ธนาคารกสิกรไทยได้ถือกำเนิดโครงการ AFTERKLASS บนแพลตฟอร์มเว็บไซต์และเฟสบุ๊คที่ให้ความรู้เรื่องการเงิน และการลงทุน สำหรับเยาวชนอายุ 15-20 ปี ที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ให้มีความพร้อมด้านการเงิน การลงทุน และการทำธุรกิจ ด้วยรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์สนุก ๆ พร้อมกิจกรรม และ Workshop มากมาย ปัจจุบันมีสมาชิกในเว็บไซด์กว่า 33,000 คน และมีสมาชิกผ่าน Social Media Platform อื่นๆ อีกกว่า 50,000 คน
แน่นอนว่าการให้ความรู้ด้านการเงินกับเยาวชนจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องทำให้ผู้เข้าร่วมมีความสนุกที่จะเรียนรู้ ดังนั้นนอกจาก AFTERKLASS จะเลือกแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เหมาะกับกลุ่มยูสเซอร์แล้วยังสอดแทรกสาระความรู้เรื่องการเงินการลงทุน และร่วมตอบคำถาม Quiz แบบรายวันและรายเดือน เพื่อรับคะแนนสะสมเป็น Koins ระบบค่าเงินจำลองที่นำไปแลกซื้อสินค้า สิทธิประโยชน์และร่วมกิจกรรมกับ AFTERKLASS แบบฟรี ๆ ตลอดทั้งปี
รวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสื่อสารและองค์การสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการ AFTERKLASS ว่า มาจากพันธกิจของธนาคารที่ต้องการเข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้เยาวชนมีความรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง หรือนำไปประกอบในวิชาชีพของตัวเองได้ ต่อยอดในชีวิต เมื่อไม่เป็นภาระกับสังคม ไม่สร้างหนี้เสีย ก็จะช่วยให้สังคมดีขึ้น
“สาเหตุที่เราเลือกให้ความรู้กับเยาวชนที่เป็นเด็กมัธยม เพราะเราคิดว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการปลูกฝังความรู้ทางการเงิน เพื่อให้เขามีวินัยทางการเงิน มีความคิดความอ่าน ประกอบกับผลจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันเด็กมัธยมเริ่มมีหนี้แล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้จ่ายที่เกินตัว เพราะขาดความรู้ด้านการเงิน กสิกรไทยในฐานะสถาบันการเงิน จึงอยากมีบทบาทเข้าไปสนับสนุนให้เขาบริหารจัดการการเงินของเขาเองได้ ถ้าเขาสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ก็จะสะท้อนไปถึงคนรอบข้าง และสังคม และเพิ่มศักยภาพของเขาเองในอนาคต”
Young Tech Start Up Business Kamp 2020
ตอบอินไซต์เด็กยุคใหม่
อย่างไรก็ดี ในแต่ละปี AFTERKLASS จะมีการจัด Business Kamp ครั้งใหญ่ จัดอบรมเข้มข้นเพื่อพัฒนาทักษะด้านการเงินกับเยาวชนเพื่อนำไปต่อยอดในชีวิตจริงได้ โดยในปีนี้ AFTERKLASS ได้จัดแคมป์ประจำปีขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้ชื่อ AFTERKLASS Young Tech Start Up Business Kamp 2020 เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสอนทักษะความรู้ทางการเงินให้กับเยาวชน
รวี กล่าวถึงความพิเศษของโครงการ AFTERKLASS Young Tech Start Up Business Kamp 2020 ว่าเป็นการให้ความรู้ทางการเงินผ่านโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งมาจากอินไซต์และ Passion ของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง รวมถึงมีความสนใจในการทำงานแบบสตาร์ทอัพมากขึ้นในปัจจุบัน
“แคมป์ของโครงการ AFTERKLASS แต่ละปีจะแตกต่างกันไปเหมือนเป็น Seasonal Marketing เพราะเราต้องปรับรูปแบบไปตามความต้องการของเด็กยุคใหม่ ว่าในช่วงไหนของแต่ละปีเขาทำอะไร และมีความสนใจในด้านไหน AFTERKLASS Young Tech Start Up Business Kamp 2020 ในปีนี้ จัดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเรื่องการประกอบอาชีพอิสระ การเป็นผู้ประกอบการ และการเป็นสตาร์ทอัพ ที่ใช้ไอเดียและเทคโนโลยีสร้างธุรกิจที่แตกต่าง จนสามารถดิสรัปท์ธุรกิจเดิม และเติบโตอย่างรวดเร็ว”
ความแตกต่างของกิจกรรมในปีนี้ ยังเป็นเรื่องของการให้เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการได้มีประสบการณ์จริง ด้วยการคัดเลือกผู้สมัครจากทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกร่วมกิจกรรม AFTERKLASS ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้ารับการเรียนรู้อย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึง Influencer ด้านต่าง ๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่ความรู้พื้นฐานด้านธุรกิจ แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ หลักการประเมินความเป็นไปได้โครงการ การทำงานเป็นทีม พร้อมสัมผัสประสบการณ์การนำเสนอไอเดียบนเวทีจริงในรอบ Idea Stage คัดเลือก 5 ทีมที่ผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการบ่มเพาะ (Incubation Period) และพัฒนาต้นแบบเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อนำเสนอรอบสุดท้าย (Demo Day Pitching)
รวี กล่าวว่า ปีนี้มีผู้ที่สมัครผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ AFTERKLASS Young Tech Start Up Business Kamp 2020 ทั้งหมด 9 ทีมรวม 36 คน โดยความโดดเด่นของแต่ละทีมในปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของเยาวชนในการมองหา Pain Point ที่มีอยู่จริงในสังคมกับสิ่งที่เกิดในชีวิตประจำวันที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
“สิ่งที่เยาวชนจะได้รับจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราจัดขึ้นในปีนี้ คือ ความรู้ในการทำธุรกิจในมุมมองต่าง ๆ ทั้งการตลาด การเงิน ไอที และการทำงานร่วมกัน ทักษะพวกนี้ล้วนเป็น Life Skill หรือทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้เขาสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ในอนาคต”
Parkdee
แอปพลิเคชันช่วยหาและจองที่จอดรถ
ผลการตัดสิน ผู้ชนะในปีนี้ก็คือ ทีม Parkdee แอปพลิเคชันหาที่จอดรถ ที่ใกล้บริเวณลูกค้าจะต้องจอดรถ และจองที่จอดรถได้ด้วยตนเอง เหตุที่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาการหาที่จอดรถซึ่งนับวันจะหากยากขึ้น โดยเฉพาะในเขตธุรกิจและใจกลางเมือง หรือแหล่งท่องเที่ยว เป็นทีมที่คณะกรรมการผู้ตัดสินมองว่า มีความตั้งใจในการหาข้อมูลแบบเจาะลึก รวมถึงมีการสำรวจความต้องการและ insight ของตลาดผ่านการเปิดเฟสบุ๊คเพจ ซึ่งภายในระยะเวลาไม่กี่วัน มีผู้สนใจสอบถามเข้ามา จึงทำให้มีความเป็นไปได้ในการต่อยอดทำเป็นธุรกิจมากที่สุด
เมื่ออยากจะรู้ว่า มีคนสนใจเรื่องการจัดหาและจองที่จอดรถในกรุงเทพฯ มากไหม ก็เลือกใช้เครื่องมือ Facebook Page ซึ่งภายในเวลาไม่กี่วัน มีผู้สนใจ Inbox สอบถามที่เพจ
กิตติภูมิ ปัดแก้ว (คีน) โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เบญจสิริน คลังพหล (มะเหมี่ยว) โรงเรียนโยธินบูรณะ
ณัชชา ชลานุเคราะห์ (พาร์) โรงเรียนราชินี และภัคจิรา นภาพรรณสกุล (โบนัส) โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
แห่งทีม Parkdee ช่วยกันเล่าถึงสาเหตุที่เลือกประเด็นนี้ เพราะเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเจออยู่ทุกวัน และเห็นสมควรว่าน่าจะนำมาขยายความแก้ไขเพื่อลดความสิ้นเปลืองทั้งด้านเวลา และพลังงานจากการวนหาที่จอดรถ
ทั้งนี้ แอป Parkdee วางกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เจ้าของบ้านผู้ให้ที่จอดรถ และผู้หาที่จอดรถ โดยกลุ่มผู้ให้ที่จอดสามารถมาลงทะเบียนกับแอป พร้อมกำหนดเวลาที่สะดวกในการจอด ในขณะที่ผู้หาที่จอดรถ สามารถกดค้นหาบ้านของผู้ให้ที่จอดรถในทำเลและเวลาที่ตนเองต้องการ โดยแอป Parkdee มีโมเดลการหารายได้จากค่าธรรมเนียม 20% จากอัตราค่าบริการซึ่งจะแตกต่างกันตามทำเล และช่วงเวลาเร่งด่วน และจะมีการตัดเงินค่าบริการผ่าน E-wallet ส่วนเรื่องความปลอดภัย จะใช้การให้ผู้รับบริการ และผู้ให้บริการถ่ายรูปผ่านแอปฯ เมื่อนำรถมาจอด และนำรถออกไป
“AFTERKLASS เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเป็นการเปิดโลกใบใหม่ให้กับเด็กมัธยมอย่างเรา ซึ่งแต่ละคนมาจากต่างโรงเรียน ได้มาทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้พวกเรามีความรู้รอบด้าน ตั้งแต่วันแรกของการเข้าร่วมกิจกรรม จนถึงวันนี้เราก็ได้ความรู้ใหม่อยู่ตลอด และยังทำให้เรามีประสบการณ์จากการลงมือทำจริงๆ ได้เพื่อน กล้าลองในสิ่งใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบมากขึ้น และยังผลักดันให้เราพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ดีมากขึ้นกว่าเดิม กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้นอกจากตำราเรียน และได้เข้าใจด้านการเงิน การลงทุน เรื่องกำไรขาดทุน เพื่อนำไปใช้สำหรับอนาคตได้ ที่สำคัญทำให้เราค้นพบแนวทางการเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยที่ชัดเจนมากขึ้น และมีเป้าหมายที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยนำความรู้ที่ได้จากโครงการมาช่วยกระบวนการคิดในทำธุรกิจ เพิ่มทักษะการใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้า”
รวี กล่าวในท้ายที่สุดว่า ธนาคารจะเดินหน้าจัดกิจกรรม AFTERKLASS Young Tech Start Up Business Kamp แคมป์ธุรกิจสำหรับนักเรียนมัธยมปลายเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าเป็นกิจกรรมที่ดีที่ช่วยสอนให้เยาวชนได้ฝึกคิด ลงมือทำจริง และพัฒนาทักษะอย่างเป็นระบบ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่จะเตรียมพร้อมเยาวชนไปสู่การลงสนามธุรกิจจริงในอนาคต โดยในปี 2564 การจัดแคมป์และการประกวดจะยิ่งเข้มข้นขึ้น ในรูปแบบทัวร์นาเมนท์ แข่งขันกันเพื่อหาทีมตัวแทนโรงเรียน และชิงรางวัลระดับประเทศ พร้อมทั้งเป้าหมายไปสู่การสร้างบริการที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะเปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการในเดือนสิงหาคมนี้
ด้านแนวทางโครงการ AFTERKLASS ในอนาคตว่าจะขยายกิจกรรมการแข่งขันไปในต่างจังหวัดผ่านการโรด์โชว์ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้ด้านการเงินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมอย่างแท้จริง