14 กุมภาพันธ์ 2563… “ขอขอบคุณเอไอเอสที่เข้าใจคนทำงานสาธารณสุขปฐมภูมิ ผลิตเครื่องมือแอปฯ อสม.ออนไลน์ให้ใช้อย่างมืออาชีพ ช่วยทำให้งานสาธารณสุขไทยก้าวไกล” เจ้าหน้าที่รพ.สต.และอสม.แสดงความรู้สึกบนเวที หลังใช้งานจริง พร้อมรับรางวัลจากการประกวดในครั้งนี้ หวังจะให้แอปฯ อสม.ออนไลน์เป็น “พื้นฐาน” ในการทำงานรพ.สต.และอสม. ทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในฐานะผู้นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเป็น Digital Life Service มุ่งเป้าหมายนำศักยภาพทางด้านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่ครอบคลุมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยภายใต้การดำเนินงาน Digital for Thai ตั้งแต่ปี 2559 เห็นถึงปัญหาการสื่อสารอสม.กับรพ.สต. และผู้ป่วยในพื้นที่ที่อาจจะมีการตกหล่น ไม่ครบถ้วน รวมถึง มีความล่าช้าในการแจ้งเตือนข้อมูลการระบาดของโรคต่าง ๆ เนื่องจากใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างไกล และมีลักษณะการกระจายข่าวแบบ 1 ต่อ 1 บอกต่อ ๆ กัน
แอปฯ อสม.ออนไลน์จึงเกิดมาแก้ปัญหาเดิม ตอบโจทย์การทำงานด้วยการใช้งานง่าย ๆ มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย มีความรวดเร็ว แม่นยำ ข้อมูลถูกต้อง อสม.มีทักษะดิจิทัลเพิ่มขึ้น ช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง หากสงสัยก็ปรึกษาเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ทันที ที่บ้านของผู้ป่วยเลย
ด้วยเวลาไม่ถึง 5 ปีดีนัก แอปฯ อสม.ออนไลน์ก็ได้รับความนิยมจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรงมากขึ้น อสม.พร้อมเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแอปฯ รวมถึงเรื่องราวใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพโดยตรงไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาดลูกน้ำยุงลาย หรืออันตรายจากสารเคมีฯลฯ
“อสม. ถือว่าเป็นจิตอาสาที่เสียสละอย่างมากในการทำงานสาธารณสุข สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บางท่านเป็นผู้สูงอายุ ไม่ต้องกลัวเทคโนโลยี สามารถใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ได้ง่าย ๆ ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แบบเดิมได้ การประกวดแอปฯ อสม.ออนไลน์วันนี้ เราทำขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณพี่น้องชาวอสม.จริงๆ ที่เสียสละเรื่องการสาธารณสุขสำหรับคนไทย”
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวต่อเนื่องว่า การเรียนรู้และการมีทักษะด้านดิจิทัลในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวต่อไปที่สดใสสำหรับการเดินไปข้างหน้าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล
วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์ และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงภาพรวมของโครงการประกวดการใช้งาน แอปแอสม.ออนไลน์ปีที่ 3 ว่า
“การประกวดปีนี้ก้าวหน้ามากขึ้น พัฒนาการใช้งานอย่างมีคุณภาพ จำนวนคนส่งเข้ามาแข่งขันเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว แสดงให้เห็นว่า อสม.เข้าใจแอปฯ อสม.ออนไลน์อย่างถ่องแท้ และใช้ได้คล่องมาก เห็นได้ชัดว่าคนที่เคยได้รับรางวัลจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มรับรางวัลต่อ จึงมีรางวัลดาวรุ่งสำหรับผู้ใช้รายใหม่ ๆ เป็นกำลังใจ เชื่อว่าปีต่อไปจะมากกว่านี้ โดยการประกวดเริ่มปี 2561 จำนวนอสม.ออนไลน์ มีประมาณ 50,000 คนปี 2562 เพิ่มเป็น 100,000 คน ปี 2563 ซึ่งจะประกาศผลปี 2564 จำนวนคนมากขึ้นแน่นอน”
ในปีนี้มีหน่วยบริการสุขภาพและชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข ที่ได้รับรางวัลรวม 123 แห่ง แบ่งออกเป็นรางวัลดีเด่นระดับประเทศ 10 แห่ง รางวัลดีเด่นระดับจังหวัด 82 แห่ง และรางวัลดาวรุ่ง จำนวน 31 แห่ง จากทั้งหมดที่สมัครเข้าร่วมประกวดกว่า 600 แห่ง
ผู้อำนวยการ รพ.สต.ที่เข้าร่วมประกวดรางวัลแอปฯ อสม.ออนไลน์ ปีที่ 3 ได้แสดงมุมมองการใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์ ที่มีความสะดวก สบายสำหรับคนทำงาน และบางแห่งก็ขยายการใช้ด้านสาธารณสุข ไปเป็นความช่วยเหลือชุมชนในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า “แอปฯ อสม.ออนไลน์เป็นพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีให้กับชาวอสม. ก็คงไม่ผิดนัก
สมจิตร บุญยง ผู้อำนวยการ รพ.สต.กุดบง จ.หนองคาย รัชนี หนูเพชร ผู้อำนวยการ รพ.สต.บางทอง จ.พังงา ละออ เพชรดำ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านทองหลาง จ.พังงา สุรีรัตน์ ฉิมเพ็ชร์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านโป่งพรหม จ.กาญจนบุรี และเจริญ คำนวล รพ.รพ.สต.บ้านปากคลอง อ.ควนขนุน จ. พัทลุง เป็นตัวแทนที่เล่าถึงการใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ ในช่วงเริ่มต้นที่ใช้งานจนถึงปัจจุบันเป็นผู้รับรางวัลในการประกวดเป็นที่เรียบร้อย
สิ่งที่เหมือนกันที่นับเป็นพื้นฐานคือ การเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิม อสม.เขาจะเยี่ยมผู้ป่วยทุกสัปดาห์ จากเดิมต้องเขียนบนกระดาษ แต่เมื่อใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์ ทุกคนอย่างทำในแอปฯ พิมพ์รายละเอียดเยี่ยมใครที่ไหน แล้วส่งรูป เข้าในแอปฯ แล้วรพ.สต.ก็เปิดดูได้เลย ในกรณีที่เกิดเหตุผู้ป่วยติดเตียงรายแรกที่อสม.ยังไม่เคยเจอ เขาต้องรายงานรายละเอียด เป็นใคร อาการแทรกซ้อนมีไหม ถ่ายรูป และแจ้งพิกัดว่าอยู่ตรงไหน เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่รพ.สต. เตรียมวางแผนที่จะไปเยี่ยมคนป่วยต่อ ซึ่งแอดมินอยู่ที่รพ.สต.ก็เปิดดูได้ตลอดเวลา
กรณีคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด ก็สามารถพูดคุยเข้ามาผ่านช่องทางสนทนาว่า ให้นมแล้วเป็นอย่างไร อสม. ก็จะตอบมา และให้คำแนะนำผู้ป่วยได้ หรือถ้าอสม.ไม่เข้าใจ เขาก็จะถ่ายรูปมาให้ทางรพ.สต.ดูได้ หรือถ้าเป็นเคสหนัก ๆ ที่ อสม.ส่งมา เจ้าหน้าที่รพ.สต.ที่เป็นพยาบาลจะเข้าไปเยี่ยมเลย ซึ่งรวดเร็วมาก
“ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ข้อมูล ภาพต่าง ๆ ไม่หายเก็บอยู่ในระบบ เรียกดูย้อนหลังได้ทั้งหมด และอสม.สามารถเช็คอินได้เลย ซึ่งเราจะรู้ว่าคนไข้อยู่ตรงไหนสำหรับรายใหม่ ส่วนรายเก่าเราก็สามารถวางแผนได้อย่างต่อเนื่องในการเตรียมการรักษาเป็นขั้นตอนตรงตามเวลา ซึ่งอสม.จะเป็นคนกลางที่เชื่อมคนป่วย และเจ้าหน้าที่รพ.สต. คนไข้ก็รู้สึกมีคุณภาพชีวิตที่ดี เชื่อมั่นในอสม. เราใช้แอปฯ มา 3 ปี มีความเชี่ยวชาญแล้ว อสม.รู้วิธีการใช้ทุกห้องในแอปฯ เราเองก็มีการกำหนดเรื่องรายงานต่าง ๆ รายงานลูกน้ำยุงลาย รายงานเหตุการณ์ ส่วนห้องสนทนาเราต้องมาพูดคุยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ส่วนไหนเป็นเคสที่ไปเยี่ยมบ้าน ดูแล หรือสำรวจลูกน้ำยุงลาย หรือมีกิจกรรม ก็ส่งมาที่ห้องนี้ ซึ่งการถ่ายรูปเวลาไปเยี่ยม หรือเซลฟี่คนป่วยชอบ เพราะรู้สึกว่าอสม.และรพ.สต.มีความใกล้ชิดดูแล ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้แอปฯอสม.ออนไลน์เป็นพื้นฐานในการทำงาน ต้องใช้ทุกแห่ง”
แม้กระทั่งการรายงานเรื่องสารเคมี เพิ่งเริ่มใช้ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เป็นรายงานใหม่ แต่อสม.ทักษะการรายงานอยู่แล้ว มีความรู้เรื่องสารเคมี การใช้ห้องดังกล่าวรายงานเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก อสม.เข้าไปอ่านและตอบคำถาม รพ.สต.ได้เลยว่า มีการใช้หรือไม่มีการใช้
นอกจากนี้ แอปฯอสม.ออนไลน์ ยังช่วยทำหน้าที่อื่นๆ ไปในตัว กรณี รพ.สต.บ้านโป่งพรหม กาญจบุรี สุรัตน์ เล่าว่า ในพื้นที่ที่รับผิดชอบมีคนท้องร่วงมาก แต่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ ในขณะที่อสม.ก็ทำหน้าที่รายงานเรื่องลูกน้ำยุงลาย และแจ้งในห้องสนทนาถึงการพบลักษณะน้ำดื่มไม่ถูกสุขลักษะ มีตระกอน ไม่มีการบำบัด มีการตรวจสอบพิกัดดังกล่าวผ่านแอปฯ ก็ตรงกับพื้นที่ที่คนท้องร่วงมาก ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ขาดแคลนน้ำ และชุมชนใช้น้ำบริภคจากบ่อดิน ซึ่งเป็นวิถีที่ปฏิบัติมานานมากกว่า 30 ปี โดยจากรุ่นสู่รุ่นก็เชื่อว่า “ใช้ได้ไม่มีอะไร” แต่ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรมากขึ้น จะปนอยู่ในดินและน้ำสามารถซุมผ่านแหล่งน้ำได้ จึงให้ อสม.เป็นผู้แนะนำในเรื่องการใช้น้ำให้ถูกต้อง มีการกรอง หรือต้มน้ำให้สะอาดก่อนใช้บริโภค
กรณีของ รพ.สต.บ้านปากคลอง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นำแอปฯ อสม.ออนไลน์ใช้ไม่เกิน 4 เดือนในปี 2560 เจริญก็ใช้แอปฯ ในการสื่อสารรับมือกับน้ำท่วมที่เกิดในพื้นที่ มีการตั้งกลุ่มเฝ้าระวังน้ำท่วม ซึ่งแม้ในช่วงแรกชุมชนไม่เชื่อนักว่าจะเกิดน้ำท่วม เพราะไม่เคยเกิดมาก่อน แต่ด้วยการสื่อสารที่รวดเร็วผ่านอสม.ที่ใช้แอปฯ อย่างเชี่ยวชาญ 20 คน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งที่ติดเตียง และผู้ป่วยทั่วไป ขึ้นไปอยู่ในที่สูงครบถ้วน จนกระทั่งถึงห้าทุ่ม น้ำก็ทะลักเข้าชุมชน ในแบบที่คนพื้นที่ไม่เคยพบมาก่อน !
วีรวัฒน์ ขยายความต่อเนื่อง แอปฯ อสม.ออนไลน์ถูกออกแบบมาตามความต้องการผู้ใช้งาน ทำให้ฟังก์ชั่นต่างๆ ตอบโจทย์การทำงานสาธารณสุขชุมชนได้อย่างแท้จริง และยังเป็นคู่มือการทำงานสนับสนุนข้อมูลพื้นที่ให้แก่หน่วยงานที่ทำงานการจัดการให้แก่หน่วยงานระดับสูงขึ้นไป ทั้งสาธารณสุขอำเภอ จังหวัด และหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้วางแผนการดำเนินการในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ เช่น ข้อมูลรายงานประจำเดือน อสม. ข้อมูลรายงานเหตุ ข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ข้อมูลการสำรวจสารเคมีในครัวเรือน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน ในงานมอบรางวัลโครงการประกวดการใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ ปีที่ 3 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็น อสม.หมอประจำบ้าน การมีแอปฯ อสม.ออนไลน์ ช่วยทำให้ อสม. สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเหมาะสมกับบริบทในชุมชน ช่วยให้การทำงานระหว่าง อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยบริการสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“กระทรวงสาธารณสุข พร้อมที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชน ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพคนไทยให้เข้มแข็ง เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า”
เมื่อ “อสม.ทุกคนคือเครือข่าย” ที่จะร่วมกันนำดิจิทัลไปสร้างเสริมงานสาธารณสุขไทย และดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยให้มีสุขภาพที่ดี โดยเอไอเอสจะพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ให้เป็นแพลตฟอร์มสาธารณสุขอย่างแท้จริง