24 มิถุนายน 2562…เยาวชนไทย 8–12 ปี ใช้เน็ตสูงถึง 35 ชม. /สัปดาห์ มากกว่าค่าเฉลี่ย ทั่วโลกถึง 3 ชม. แต่ขาดทักษะใช้งานดิจิทัลที่ฉลาด เกิดภัยแฝง Cyberbullying หากทุกคนตระหนัก “เราทุกคน คือเครือข่าย” อุ่นใจ CYBER จะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันดิจิทัลแพลตฟอร์ม ของคนไทยทุกคน
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวถึงบทบาท เอไอเอส ตั้งใจมุ่งมั่นในการเป็น Digital Life Service Provider ขับเคลื่อนให้ทุกคนได้ใช้เทคโนโลยีอย่างดีที่สุด ซึ่งภายใต้บทบาทดังกล่าว บริษัทย่อมไม่ต้องการทำเพียงด้านธุรกิจอย่างเดียว เพราะจะต้องคำนึงถึง Stakeholder อื่นๆ โดยเฉพาะในภาคสังคม ภาคสิ่งแวดล้อมที่จะต้องคำนึงถึงอย่างมากไม่น้อยกว่าด้านธุรกิจ
“เราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ วันนี้คนใช้เพื่อการค้นหาข้อมูล เปิดโลกทัศน์ด้วยเรื่องราวน่าสนใจทั่วโลก ใช้ดูหนังฟังเพลง หรือเล่มเกมส์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากในโลกอินเทอร์เน็ต ถ้าเราไม่มี DQ หรือ Digital Quotient อัจฉริยะทางดิจิทัล ก็จะเป็นโทษสำหรับน้องๆ เยาวชนได้ แต่วันนี้เอไอเอสมีโซลูชั่นที่เรียกว่าอุ่นใจ CYBER จะมาช่วยปกป้องให้เป็นเยาวชนที่ปลอดภัยจากสิ่งไม่ดีในโลกดิจิทัล ซึ่งถือเป็น ดิจิทัลของเราของคนไทยทุกคน เพื่อเยาวชน ไม่ใช่ของเอไอเอส…”
เราทุกคน คือเครือข่าย
หากมองถึงความเป็นเครือข่ายในการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ผ่านทางสมาร์ทโฟน จะพบสิ่งที่เป็นประโยชน์ค่อนข้างมากในความหลากหลายทุกรูปแบบ และสิ่งที่มาคู่กันก็คือ ภัยในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเยาวชน ทั้งที่ครู พ่อแม่ ผู้ปกครองรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว
“ล่าสุด งานประชุมผู้ปกครองในโรงเรียนพบว่า เด็กอายุ 4 เดือน ยังคลานไม่ได้ แม่ยื่นมือสมาร์ทโฟนให้ลูกแล้ว! เพราะต้องการให้เด็กหยุดร้อง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ Digital Wisdom การรู้เท่าทันดิจิทัล”
ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา เล่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ซึ่งตามหลักวิชาการและตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศ การจะให้ลูกเริ่มเห็นจับต้องจอทุกประเภท รวมถึงสมาร์ทโฟนได้ เด็กจะต้องมีอายุ 2 ขวบขึ้นไป
หลักของการใช้สิ่งเหล่านี้ จะต้องไม่ใช่ให้เป็นของเล่น แต่จะต้องใช้เป็นเครื่องมือ เพราะหากเป็นของเล่นพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปล่อยให้ลูกหลานเล่นได้เอง แต่เมื่อเป็นเครื่องมือ จะต้องมีผู้ใหญ่ดูแลอยู่ด้วย แม้ว่าลูกจะโตแล้วก็ตาม
“สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่อาจจะเคยได้ยินลูกบอกเหมือนลูกกบว่า หนูไม่มีอะไรทำ ขอดูไอแพดได้ไหม ซึ่งคิดว่าหากมีอะไรทดแทนมีความสนุกก็จะช่วยให้ห่างออกไปได้ ซึ่งเท่าที่มีโอกาสคุยกับแม่หลายบ้านห้ามลูกใช้สิ่งเหล่านี้ กบมองว่าเทคโนโลยียังมีประโยชน์อีกมาก และเป็นยุค เป็นวัยของเขาที่จำเป็นจะต้องใช้ ต้องเรียนรู้ แต่ที่ยังมองไม่เห็นในบ้านเราคือ สอนให้ใช้เป็น มีจิตสำนึกที่ดีในการใช้”
กบ-สุวนันท์ ปุณณกันต์ นักแสดง มีมุมมองต่อเนื่องว่า ในฐานะที่ตนเองมีลูกสาววัย 8 ขวบและใช้เทคโนโลยีด้วยเพราะโรงเรียนให้ใช้ โดยที่บ้านได้พยายามสร้างจิตสำนึกในการใช้ให้ลูกของเธอได้มากที่สุดว่า อะไรควรเล่นหรือไม่ควรเล่นในวัยขนาดนี้ ซึ่งเธอจะเป็นผู้ตั้งกฎในการเล่น รวมถึงคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อเวลาเล่น พูดคุย “ดูอะไรนะ”
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้คือ เด็กจะเติบโตมาอย่างมีความรู้คิดเป็นไหม ระวังตัวเองเป็นไหม เพราะเด็กจะต้องเติบโตใช้เอง คิดเองเป็น สร้างสรรค์เองได้แล้ว เพราะเราจะห้ามให้เด็กหยุดไม่ได้ เนื่องจากเด็กต้องเติบโตในยุคนี้”
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ช่วยขยายความถึงการเติบโตของเด็กและเยาวชนในท่ามกลางยุคสื่อออนไลน์ถือเป็นเรื่องปกติแล้ว เพราะโลกอยู่ในยุค Digital World นับว่าเป็นสิ่งดีงามที่ทำให้โลกหมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จากที่เมื่อก่อนไม่เข้าใจเลยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อมาดูผ่านสื่อออนไลน์เข้าใจได้มากขึ้น แต่ก็มีประเด็นไม่ดีสำหรับสื่อไม่สร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงทฤษฎีจิตวิทยา เช่นเมื่อพูดถึงซิกมัน ฟรอยด์ เรื่องวัยต่างๆ จะเป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันนี้ใช้ไม่ได้เลย เพราะสื่อมีผลกระทบทั้งบวกและลบ จำเป็นจะต้องใช้ให้เป็น
“การใช้ให้เป็นต้องรู้เท่าทันพบจากงานสำรวจทั้งประเทศว่า พ่อแม่กับลูกไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องสื่อในบ้านเลย ครูก็ไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักเรียนในเรื่องสื่อที่กำลังดังๆ แม้กระทั่งละครที่ดังๆ ซึ่งหากใช้สื่อให้เป็น เอาละครฉากเหล่านี้มาเปิดเป็นวิชาถกแถลง เราจะได้ยินความรู้สึก ความคิดของเด็ก และเด็กกำลังเรียนรู้อะไร ส่วนข้อกำหนด น.18 อะไรต่างๆ นั้นเป็นจุดอ่อนของผู้ใหญ่ที่แนะนำไม่เป็น”
รศ.นพ.สุริยเดว ย้ำว่า กระบวนการให้ความรู้ต่อเด็กเยาวชนในเรื่องสื่อออนไลน์นั้น ครอบครัว โรงเรียนครูสำคัญมากที่สุด โดยชุมชนอาจจะห่างออกจากตัวเด็ก ซึ่งเพียง 2 ระบบนิเวศน์ที่กล่าวนั้นต้องเข้มข้น เปิดประเด็นพูดคุย รู้จักรับฟังความคิดเห็น วิธีการเหลาความคิด 3-4 คำถามง่าย ตั้งคำถามปลายเปิดให้เด็กแสดงความคิดเห็นได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็กอนุบาลขึ้นไปจนกระทั่งถึงพ่อแม่ ผู้ใหญ่ทั่วไป
-ดูแล้วรู้สึกอย่างไร
-ดูแล้วคิดอะไร
-ดูแล้วเรียนรู้อะไร
-ถ้าเป็นเราอยู่ในเหตุการณ์แบบนั้น จะทำอย่างไร
การเหลาความคิดข้างต้น เป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยให้มีการยับยั้งชั่งใจ หากเด็กจะใช้สื่อในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมส์ จนกระทั่งกลายเป็น “โรคติดเกมส์” หรือการจะพิมพ์ข้อความในการโพสต์อย่างมีอารมณ์
อุ่นใจ CYBER
นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เอไอเอส เล่าถึงความเสี่ยงของเยาวชนต่อภัยจากสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องราวทางสังคมที่ไม่ใช่เอไอเอสจะเป็นห่วงเท่านั้น นักลงทุนสถาบันเองก็มีความเป็นห่วงที่สอบถามเป็นระยะ บางสถาบัน 2 ปีต่อครั้ง เพราะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอไอเอส
“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทคโนโลยีอยู่ใกล้ตัวเรามาก ติดตัวเรา 24 ชั่วโมง อาจจะเรียกว่าเป็นอวัยวะที่ 33 ก็ไม่ผิดนัก และในนี้ก็มีโซเชียลมีเดียที่ใหญ่มากอยู่ด้วย เป็นจุดที่เราต้องมาตั้งคำถามว่า เอไอเอสต้องการที่จะทำอะไรตอบโจทย์ความสำคัญนี้ ซึ่งก็คือ อุ่นใจ CYBER เรามี 2 แกนให้ความรู้กับเยาวชนของเรา Educator เสมือนพ่อแม่ดูแลสุขภาพร่างกายให้ลูก ไม่อยากให้ทานขนมหวาน ทำไมควรทาน เป็นเหมือนอาหารสมอง ที่จะให้เด็กๆ แยกแยะว่าอะไรเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี ส่วนอีกแกน Protector เป็นการให้เครื่องมือในการป้องกัน แม้ว่าพ่อแม่ดูแลความสะอาดลูกเต็มที่แต่ก็อาจจะติดเชื้อ การทำแกนนี้เสมือนเราให้วัคซีนป้องกันไข้พื้นฐาน”
นัฐิยา ย้ำว่า อุ่นใจCYBER อยากชักชวนเครือข่าย ร่วมกันสร้างเยาวชนให้เป็นคนที่เก่งแล้วดี ใช้เทคโนโลยีให้มีประโยชน์กับชีวิต
ศิวลี บูรณสงคราม หัวหน้าแผนกงานบริหารแบรนด์ เอไอเอส อธิบายภาพต่อเนื่องภายใต้กรอบใหญ่ อุ่นใจ CYBER ทั้ง 2 แกน ด้วยการยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทัน Digital ด้วย DQ (Digital Quotient)
“เรามีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัล (Digital Educator) เป็นรายแรกและรายเดียวในไทยที่ได้นำเข้า DQ ชุดการเรียนรู้ 360 องศา จากมหาวิทยาลัย Nanyang ประเทศสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาทักษะและความฉลาดทางดิจิทัล DQ ครบทั้ง 8 ทักษะ ให้กับเด็กๆ สร้างภูมิคุ้มกันในการก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างมีไหวพริบ รู้จักวางตัวอย่างเหมาะสมกับคนแปลกหน้า และใช้มือถือ แท็บเล็ต อย่างฉลาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ”
นอกจากนี้ เอไอเอส เป็นผู้ให้บริการและพัฒนาเครือข่ายที่ป้องกันความเสี่ยง (Network Protector) จาก Content ที่ไม่เหมาะสม ด้วย AIS Secure Net (Beta) ที่จะช่วยป้องกันและคัดกรองเนื้อหาบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บ, ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอที่ไม่เหมาะสม จากบุตรหลาน
ในช่วงแรก จะเปิดให้ลูกค้าได้ทดลองใช้บริการเป็น Beta Phase เชิญชวนลูกค้าเอไอเอสที่สนใจอยากใช้บริการ เข้ามาลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์ เพื่อร่วมเป็น Pioneer ในการทดลองใช้บริการก่อนใคร จำนวน 10,000 คนแรก สามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2562 และลูกค้ากลุ่มนี้ ก็จะได้ทดลองใช้บริการ AIS Secure Net ได้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
“อีกเรื่องหนึ่ง เอไอเอสร่วมมือกับ Google ในการนำบริการ Parental Control ผ่านแอปพลิเคชัน Google Family Link มาขยายผลสู่กลุ่มผู้ปกครองคนไทย ซึ่งใช้ได้ทุกเครือข่าย ที่จะสามารถให้คำแนะนำดูแลการใช้งานโทรศัพท์ รวมถึงดูแลความปลอดภัยจากพิกัดปัจจุบันของบุตรหลานได้ง่ายๆ”
การเดินหน้าสร้างการรับรู้และลงมือทำ อุ่นใจ CYBER ในฐานะ “ถ้าเราทุกคน คือ เครือข่าย” เอไอเอสตั้งใจจะเป็นแกนกลางเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาความรู้แก่เยาวชน สร้างการเติบโตของสังคม Digital อย่างยั่งยืน รวมถึงยังมีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้า ที่จะอุทิศตนเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมให้มีความสุข จากสภาพแวดล้อมที่ดี มีความแข็งแกร่ง และเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศชาติ ผ่าน Digital Platform ที่จะเป็น Digital Platform ของคนไทยทุกคน
สมชัยกล่าวในท้ายที่สุดว่า “อยู่ที่นิ้วของเรา ที่จะสร้างสรรค์ หรือทำลาย”
เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง