NEXT GEN

เอไอเอส นำแพลตฟอร์ม IoT ฟาร์มอัจฉริยะ ชวนคนเมืองทำเกษตร … ปลูกกินเอง สร้างรายได้เสริม หนุนภาคเกษตรกรรมไทยโตอย่างยั่งยืน

27 ธันวาคม 2562…ภาคการเกษตร ถือเป็นรากฐานสำคัญของทั้งภาคเศรษฐกิจ และสังคมไทยมาโดยตลอด ในฐานะผู้นำ Digital Life Service Provider “เอไอเอส” มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เข้ามามีส่วนช่วยยกระดับภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน ด้วยแพลตฟอร์ม IoT ฟาร์มอัจฉริยะ ในชื่อ Intelligent Farm (iFarm) เพิ่มความแม่นยำให้กับผลผลิต ดูแลจัดการฟาร์มได้ง่ายๆ บนมือถือและแท็บเล็ต ได้ทุกที่ ทุกเวลา

เกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักของประเทศไทย แต่ครัวเรือนภาคการเกษตรส่วนใหญ่ ยังคงเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนในด้านการผลิต และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้ง ยังมีปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรม ยังเป็นมรดกที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ต่อเนื่องมาจนถึงรุ่นหลาน  คนรุ่นใหม่ที่ต้องการปลดล็อคการเป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วกลับมายังภูมิลำเนาบ้านเกิด เพื่อยึดอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังมีคนเมืองอีกจำนวนไม่น้อย ที่หันมาสนใจอยากทำเกษตรในพื้นที่ของตัวเอง เป็นแนวเกษตรคนเมือง (Urban farm) เพื่อปลูกผักกินเอง หรือเพื่อขายเป็นรายได้เสริมจากรายได้ประจำ

วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า

“เอไอเอสพร้อมผลักดันในเรื่องการสร้างประโยชน์สำหรับสังคมเกษตรกรรม เราได้สร้างแพลตฟอร์ม IoT ภายใต้ชื่อ Intelligent Farm (iFarm) เป็นฟาร์มอัจฉริยะที่เชื่อมต่อผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้ง 4G/NB/Fibre พร้อมเปิด API และ Interface อย่างง่าย เพื่อให้นักพัฒนาอุปกรณ์ภาคเอกชน ได้นำไปต่อยอดในการคิดค้นอุปกรณ์ Smart Farm โดยไม่ต้องลงทุนสร้างระบบ Cloud ด้วยตัวเอง ทำให้การพัฒนาอุปกรณ์ IoT ภายในฟาร์ม มีความหลากหลายมากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ผ่านสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา”

สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นการสร้างสรรค์ Digital Ecosystem สนับสนุนการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายของเกษตรกรในพื้นที่ ช่วยทุ่นแรง เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแม่นยำในการสร้างผลผลิต จนนำไปสู่การช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้เติบโตด้วยความยั่งยืน

“ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้มีการเปิดศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุขขึ้น ที่ฟาร์มไพรวัลย์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งที่นั่นทำการปลูกเมล่อน โดยเอไอเอส นำเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงสามารถควบคุมต้นทุน ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สม่ำสเมอ แม่นยำยิ่งขึ้น”

ล่าสุด เอไอเอสได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างฟาร์มลุงรีย์ เปิดศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข ฟาร์มลุงรีย์ ด้วยแนวคิด “สอน – เสริม – สร้าง” เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีผสมผสานแนวคิดการทำเกษตรกรรมแบบคนเมือง (Urban farm) ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติงานจริงหลอมรวมจนเกิดเป็น Smart Farm ขณะเดียวกัน ซึ่งถือเป็นแบบอย่างของ Smart Famer ที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ โดยหวังว่าจะเป็นแลนด์มาร์คสำหรับ Smart Famer และภาคีเครือข่ายภาคการเกษตร ที่จะได้ร่วมศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยยั่งยืน

ลุงรีย์ เจ้าของฟาร์มลุงรีย์

ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข ฟาร์มลุงรีย์ ถูกออกแบบเป็นพื้นที่การเกษตรยุคใหม่ 200 ตารางวา กลางชุมชนซอยเพชรเกษม 46 แยก 11 ใกล้สถานี BTS บางหว้า และรฟม.สายสีน้ำเงินสถานีเพชรเกษม 48

ชารีย์ บุญญวินิจ หรือลุงรีย์ เจ้าของฟาร์มลุงรีย์ กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เอไอเอสนำมาสนับสนุนครั้งนี้ ได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างมากมายหลายด้าน

“ถ้าไม่มีเทคโนโลยี สิ่งที่จะหายไปคือ เวลาที่ต้องให้กับคนที่เรารัก พ่อแม่ ครอบครัว ผมต้องตัดทุกอย่างทิ้งทั้งหมด เพื่อเอาเวลาไปทุ่มเทให้กับการเกษตร 100% กว่าจะสำเร็จก็ต้องสู้กับดินฟ้าฝนที่มีความไม่แน่นอน พอมีเทคโนโลยีนี้เข้ามา ก็ช่วยให้ผมมีเวลาเพิ่มมากขึ้น ทำให้เวลาเรามีคุณภาพเพราะนำไปใช้กับสิ่งที่ควรจะให้ เช่น คนใกล้ตัว พ่อแม่ และคนที่เรารัก นอกจากนี้ เทคโนโลยียังมาเพิ่มความแม่นยำ ความอุ่นใจ ความเสถียร ทำให้ธุรกิจการเกษตรมีจุดคุ้มทุนที่ชัดเจน”

ทั้งนี้ ลุงรีย์ ทำงานร่วมกับเอไอเอสด้วยความเชื่อเดียวกัน คือการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น และชีวิตของผู้บริโภคที่ดีขึ้น

โซนที่ 1 คอนโดไส้เดือน วัดและควบคุมผ่านแพลตฟอร์ม iFarm เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ของพาร์ทเนอร์
Sensor วัดความชื้นในดินจำนวน 3 จุด, อุณหภูมิในอากาศ และความชื้นในอากาศ
Controller ระบบควบคุมการพ่นหมอกแรงดันสูงเพื่อดูแลระดับความชื้นในดิน และลดอุณหภูมิในอากาศบริเวณโซนเลี้ยงไส้เดือน
IP Camera ระบบกล้อง CCTV เพื่อดูแลไส้เดือนอย่างใกล้ชิด

“เราต้องการให้พื้นที่แห่งนี้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายๆ คนที่มีความฝัน อยากลงมือทำเกษตร สามารถสร้างฟาร์มสุขได้ด้วยตัวเอง แม้จะอยู่กลางเมืองกรุง ชุมชนเมือง แต่เราสามารถเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางด้านอาหารปลอดภัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ภายในศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุขในฟาร์มลุงรีย์ จะเป็นการฉายภาพของการนำนวัตกรรมด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ด้วยแนวคิดการทำเกษตรกรรมแบบคนเมือง ผลผลิตที่ได้จะถูกนำไปจัดจำหน่ายให้กับร้านอาหารชื่อดังและร้านอาหารที่มีแนวคิดสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันในพื้นที่กรุงเทพฯ และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ภายในพื้นที่จำกัดเพียง 100 ตารางเมตรนี้เท่านั้นที่ปลูกผัก”

โซนที่ 2 ห้องเห็ดอัจฉริยะ วัดและควบคุมผ่านแพลตฟอร์ม iFarm เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ของพาร์ทเนอร์
Sensor วัดอุณหภูมิในอากาศ และความชื้นในอากาศ ภายในห้องเพาะเลี้ยง
Controller เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในห้อง โดยมีพัดลมระบายอากาศ เมื่ออุณหภูมิสูงเกินไป, อุปกรณ์ Heater เมื่ออุณหภูมิต่ำเกินไป, ระบบเพิ่มความชื้นพ่นหมอก เมื่อความชื้นในอากาศต่ำไป, และติดตั้งหลอดไฟ LED Growth light
IP Camera ระบบกล้อง CCTV เพื่อดูแลห้องเห็ดหิมาลัยอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น เมื่อเราสามารถนำเทคโนโลยีมาผนวกกับการเกษตรจนสร้างผลผลิตได้ไม่ยากเหมือนก่อน อาจแปลงจากการเกษตร “การอยู่แบบพอมีพอกิน” เป็นอาชีพเกษตรกรได้ไม่ยาก เพราะเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุกอย่างทั้งประหยัดเวลา เพิ่มปริมาณ และคุณภาพผลผลิตที่มีความพิเศษมากขึ้น ทำให้ตั้งราคาได้สูง

“เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นการเป็นเกตรกรเป็นอาชีพหลักสืบทอดรุ่นต่อรุ่น  รักในงานของรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นต่อมาก็สืบต่อและพัฒนา ผมอยากเห็นภาพแบบนั้นเกิดที่เมืองไทย ในเวลาเดียว iFarm จะเข้ามาสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ให้คนเมืองได้ด้วย”

โซนที่ 3 โรงผักอัจฉริยะ วัดและควบคุมผ่านแพลตฟอร์ม iFarm เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ของพาร์ทเนอร์
Sensor อุณหภูมิในอากาศ, ความชื้นในอากาศ, ความชื้นในดิน และความเข้มแสงแดด
Controller เพื่อควบคุมระบบน้ำหยด, ระบบพ่นหมอกแรงดันสูง, และหลอดไฟ LED Growth light
IP Camera ระบบกล้อง CCTV เพื่อดูแลโรงปลูกผักอย่างใกล้ชิด

วีรวัฒน์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า “ผมเชื่อว่า ในวันนี้ เกษตรกรไทยพร้อมแล้วที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีศักยภาพในการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้เจริญเติบโต โดยเฉพาะคนเมืองจะได้เรียนรู้และสัมผัสกับ Digital Ecosystem ที่เอื้อต่อภาคธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร เอไอเอส ยืนยันที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกษตรกรไทยมีขีดความสามารถที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”

ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข ฟาร์มลุงรีย์ จะประกอบด้วย ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน, ฟาร์มเพาะเห็ดหิมาลัย, โรงเรือนปลูกผัก และโรงเลี้ยงสัตว์ บริหารจัดการผ่านแพลตฟอร์ม IoT ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Intelligent Farm (iFarm) มาช่วยในการบริหารจัดการดูแลฟาร์มอย่างครบวงจร

โซนที่ 4 สมาร์ทเล้า เป็นโซนเลี้ยงสัตว์ ควบคุมผ่านแพลตฟอร์ม iFarm เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ของพาร์ทเนอร์
Sensor อุณหภูมิในอากาศ, ความชื้นในอากาศ, ความชื้นในดิน และความเข้มแสงแดด
Controller เพื่อควบคุมระบบน้ำหยด, ระบบพ่นหมอกแรงดันสูง, และหลอดไฟ LED Growth light

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข ณ ฟาร์มลุงรีย์ ได้ทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 15.00 – 17.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 12.00 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง โทร. 061 – 414 – 5242 หรือทางเฟซบุ๊ก Uncleree Farm

 

 

You Might Also Like