12 มีนาคม 2563…เพราะเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ จึงถูกคิดค้นและพัฒนาเป็นผู้ช่วยแพทย์ ทลายข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย แต่เมื่อสถานการณ์ เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์โดย วิศวฯ-แพทย์ จุฬาฯ และเอไอเอส จึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานปฏิบัติหน้าที่ติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotics Technology จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแพทย์เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์โรงพยาบาลโรคทรวงอก และวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส ได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี 5G และ 4G มาช่วยเสริมขีดความสามารถการทำงานของหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ในเหตุการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19
“ความร่วมมือของแพทย์และวิศวฯ มีมาโดยตลอดอยู่แล้ว ซึ่งเทคโนโลยีแยกกันไม่ออกกับทางการแพทย์ การปรับตัวเราเข้าสู่ Telemedicine คำนี้เราไม่จำเป็นต้องพบหน้าตรงๆ กับคุณหมอ เพราะฉะนั้น การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ เรามีหลายกรณีที่พยายามทำด้วยกันอยู่ หุ่นยนต์ตัวนี้เป็นยูสเคสที่เราร่วมกันทำอยู่กับเอไอเอสตั้งแต่ 4G เมื่อมกราคม 2562 เราอยากมองถึงการผ่าตัดทางไกล ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการสื่อสารแม่นยำ และน่าเชื่อถือได้ หุ่นยนต์ตัวนี้เอไอเอสนำ 5G เข้ามาช่วยเรื่องการสื่อสาร”
ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวต่อเนื่องถึงหุ่นยนต์ที่พัฒนาอยู่และสามารถใช้จริงได้แล้วระดับหนึ่งในการเฝ้าระวังโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเกิดภาวะการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 จึงมีเครื่องมือที่จะเข้าไปสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ได้
ศ.ดร.วิบูลย์ ขยายความต่อเนื่องถึงการทำงานของหุ่นยนต์ มีหน้าที่หลักทำการสื่อสารระหว่างแพทย์ กับคนไข้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสัญญาณที่คมชัด จึงทำงานร่วมกับเอไอเอส นำเทคโนโลยี 5G และ 4G มาช่วยเสริมขีดความสามารถการทำงานของหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ซึ่งคนไข้สามารถวัดสัญญาณชีพ วัดความดัน วัดไข้ ได้เอง ลดความเสี่ยงในการที่เราจะต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ และบุคลากรทางแพทย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วย
คุณสมบัติเด่นในการใช้งานหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ในการติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่
1. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์ และกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วย ได้สื่อสารโต้ตอบผ่านระบบ VDO Conference ด้วยภาพความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง ตลอดจน การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้
2. แพทย์ พยาบาล สามารถควบคุม สั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล เช่น ติดตามอาการของผู้ถูกเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ถูกเฝ้าระวังด้วยตนเอง
3. หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพ (Vital sign) เช่น วัดความดัน, วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG), วัดชีพจร, วัดอุณหภูมิ และส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์ เพื่อประเมิน ผลได้ทันที (ในส่วนของหุ่นยนต์ชุดแรกยังไม่ได้ติดเครื่องวัดสัญญาณชีพนี้ แต่ในรุ่นถัดไปจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว ตามความจำเป็น)
วสิษฐ์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมทำงานอย่างต่อเนื่องจาก 4G สู่ 5G ที่จะเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบการสื่อสารโต้ตอบผ่านกล้อง VDO ความคมชัดสูงที่ช่วยให้การทำงานมีเสถียรภาพ และการตอบสนองของหุ่นยนต์ที่รวดเร็ว และยังรองรับจำนวนหุ่นยนต์ที่ทำงานพร้อมกันได้มากขึ้นด้วย
“สัญญาณ 5G ของเอไอเอส ทำให้การสื่อสารในตัวหุ่นยนต์มีความรวดเร็ว แม่นยำ นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการติดตามเฝ้าระวังอาการระหว่างผู้ถูกเฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล รวมถึง ล่ามภาษาจีน เนื่องจากในปัจจุบัน ยังต้องมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด”
นพ.เขตต์ กล่าวถึงความจำเป็นของการใช้หุ่นยนต์ในสถานการณ์เฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า การที่โรงพยาบาลขาดหน้ากาก ขาดชุดป้องกันเชื้อโรค เป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่เมื่อเรามีหุ่นยนต์จะลดใช้ของเหล่านี้ได้
“ดังนั้นขอให้นึกภาพ หากมีผู้ป่วยมากขึ้น มี Ward สำหรับผู้ป่วยที่ติดต่อโรคร้ายแรงเช่นโควิด-19 วันหนึ่งที่หมอและพยาบาลเข้าไปดู ต้องใช้ชุดกี่ตัว รวมหน้ากากจำนวนมาก เราก็สามารถให้หุ่นยนต์ทำงานแทนในงานบางอย่างที่เราไม่ต้องเข้าไปก็ได้เช่น การวัดไข้ วัดความดัน นำยาไปส่ง หรือนำอาหารไปส่ง ส่วนแพทย์พยาบาลจะเข้าไปในกรณีทำหัตถการทางเลือด เข้าไปช่วยชีวิต ซึ่งหลังจากเคสโควิด-19 ผ่านไป เราก็ยังสามารถใช้หุ่นยนต์สำหรับเคสโรคระบาดอื่น ๆ ได้”
พร้อมกันนี้ นพ.เขตต์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่โรงพยาบาลทรวงอกมีหุ่นยนต์ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และเอไอเอส ใช้กับเคสไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 ตัว ซึ่งในการเรียนรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลไม่ยุ่งยาก เพราะระบบต่าง ๆ ถูกออกแบบในใช้งานง่าย และผู้ป่วยเองก็ใช้อย่างสะดวกเช่นกัน โดยมีภาพและเสียงคมชัดตามสัญญาณ 5G ของเอไอเอส
ปัจจุบัน หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ถูกนำไปใช้งานเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 3 แห่งคือ
1. โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 2 ชุดเป็นแบบตั้งโต๊ะ
2. โรงพยาบาลทรวงอก จำนวน 1 ชุด เป็นแบบ Mobile Robot
3. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จำนวน 1 ชุด เป็นแบบตั้งโต๊ะ
โดยเป็นการทำงานกับนายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และนายแพทย์เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์โรงพยาบาลโรคทรวงอก นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการสร้างจำนวนมากขึ้นและการพัฒนาโปรแกรมใหม่โดยเฉพาะ และยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านเครือข่ายสัญญาณ 5G ไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มเติมอีกด้วย
วสิษฐ์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า ตั้งแต่ที่เอไอเอสร่วมทดสอบด้วย 4G จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่นำหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ใช้ในสถานการณ์จริงเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เอไอเอสมั่นใจได้ว่าเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทสำคัญมากกับวงการแพทย์และการให้บริการทางการแพทย์อย่างไม่มีข้อสงสัย