NEXT GEN

Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16 เตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีไทย สู่ทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal

22 ธันวาคม 2563… เอสเอ็มอีไทยที่รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16 ได้เผยถึงวิกฤติการณ์โควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งให้หลายธุรกิจปรับตัวให้อยู่รอดจากความท้าทายหลายประการ รวมทั้งมุ่งค้นหาวิธีในการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจในการฟันฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นและอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่ง

รางวัล Bai Po Business Awards by Sasin เป็นรางวัลเกียรติยศที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เพื่อยกย่อง และชื่นชมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่มียอดขายตั้งแต่ 50 ล้านบาท – 500 ล้านบาท และดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 3 ปี ที่มีความสามารถในการปรับตัว สร้างธุรกิจให้เติบโต และประสบความสำเร็จ และเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ ได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

เพื่อให้การตัดสินรางวัลมีความเป็นกลาง ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้มีส่วนในการพิจารณารางวัลแต่อย่างใด และผู้ประกอบการที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมพิจารณารางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคาร ดังนั้น รางวัลนี้จึงเป็นรางวัลของผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลสามารถใช้ตราสัญลักษณ์ของรางวัลในสินค้าและสถานประกอบการ เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองความโดดเด่นของกิจการ และสินค้าต่างๆ ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาด รวมถึงเป็นเครื่องหมายสะท้อนความน่าเชื่อถือแก่ลูกค้า หรือคู่ค้าของธุรกิจที่ได้รับรางวัล

ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในระดับนานาชาติ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจไทยสามารถก้าวสู่เวทีการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน คือ การสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ ดังนั้นคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ ด้านธุรกิจ จะพิจารณาว่าผู้ได้รับรางวัลมีการปฏิบัติอย่างยอดเยี่ยมในมิติทางธุรกิจ มิติใดมิติหนึ่ง หรือหลายมิติประกอบกัน อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กิจการมีความโดดเด่นต่อศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย 8 มิติ ได้แก่

1. องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice)
2. องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise)
3. การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer- Focused Product and Service)
4. การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing)
5. การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operational Best Practice)
6. การบริหารจัดการด้านการเงิน (Financial Strength)
7. การบริหารจัดการด้านบุคลากร (People Excellence)
8. การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

สำหรับ Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16 ปีนี้ มีผู้ประกอบการ 5 บริษัทได้รับรางวัล ซึ่งทั้ง 5 บริษัทถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในยุค Next Normal ได้เป็นอย่างดี ได้แก่

บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส ไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาเนื้อจากพืช แบรนด์ Let’s Plant Meat เบอร์เกอร์เนื้อจากพืชรายแรกในประเทศไทย รวมถึงจัดตั้งสถาบันวิจัยรสชาติอาหารแก่ผู้ประกอบการ ได้รับรางวัลในมิติ Innovative Enterprise, Customer Focused Product & Service และ Operational Best Practice

บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายผักสลัดออร์แกนิก อาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ “โอ้กะจู๋” โดยได้รับรางวัลมิติ Customer Focused Product & Service Branding & Marketing และ Entrepreneurship

บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิต เส้นบะหมี่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้งสาลี ภายใต้แบรนด์ หมื่นลี้ มัมปูกุ เส้นเงิน และเส้นไหม ที่ได้คุณภาพและความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยไม่ใช้วัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ ตลอดจน มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานด้วยงานวิจัยและพัฒนา ได้รับรางวัลในมิติ Sustainable Business Practice Customer Focused Product & Service และ Entrepreneurship

บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ผู้นําการให้บริการสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร (Environmental One-Stop Service) ในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ได้รับรางวัลในมิติ Sustainable Business Practice Customer Focused Product & Service และ Operational Best Practice

บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ฝาท่อระบายน้ำ ที่มีลวดลาย สีสัน เป็นรายแรกของประเทศไทย สร้างสินค้าที่ทุกคนเคยมองข้ามให้กลายเป็นสื่อใหม่ด้วยการฝัง QR Code บนฝาท่อ หรือเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ตอบโจทย์ยุคดิ จิทัล ได้รับรางวัลในมิติ  Innovative Enterprise, Branding & Marketing, Operational Best Practice  และ Entrepreneurship

ภายในงานผู้ประกอบการทั้ง 5 ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเคล็ดลับในการทำธุรกิจระหว่างที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ผ่านการเสวนาในหัวข้อ “Get Ready for the Challenging Year 2021”

“การบริหารสินค้าสินตัวไหนขายไม่ดีก็เลิกทำ บริหารเงินสดให้ดี อยากทำอะไรทำเลยไม่ต้องรอ ทุกอย่างเรียนรู้และเริ่มต้นได้ด้วยการลงมือทำ”

สมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด มองว่า ยุคนี้ SME ต้องมองให้ไกลกว่าหนทางรอด วิกฤติโควิด-19 เป็นบททดสอบที่ทำให้ SME ประเมินศักยภาพตนเองได้ เพราะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้พฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบอย่างมาก  คนรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง มีกำลังซื้อน้อยลง ทำอาหารทานที่บ้าน ดูแลสุขภาพมากขึ้น นิธิฟู้ดส์ปรับกลยุทธ์เข้าถึงลูกค้าให้สามารถเข้าสู่กระบวนการบริโภคแบบใหม่  และรักษากระแสเงินสด กระจายความเสี่ยงไปยังตลาดที่หลากหลาย  ขยายกำไรด้วยการเรียนรู้วิจัยพัฒนานำมาต่อยอดสินค้า สิ่งที่ SME ต้องทำเพื่อเดินหน้าสู่ยุค Next Normal คือต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม และให้ความสำคัญกับการรักษาชื่อเสียงและคุณธรรมขององค์กรมากกว่าการแสวงหาผลกำไร เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

“โรคบังคับให้เราปรับวิธีการต่างๆ การซื้อของผ่านออนไลน์ หรือเป็นรูปแบบเดลิเวอร์รี่เข้ามามีอิทธิพล โอ้กะจู๋ทำอย่างเต็มรูปแบบ ไม่เกิน 10 กม.หลังจากทดลองทำเล็กๆกับพาร์ทเนอร์ก่อนโควิด-19 สิ่งสำคัญคือทีมเวิร์คโดยเฉพาะกับธุรกิจที่มีโอเปอเรชั่นที่ซับซ้อน”

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล  CEO บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด กล่าวว่า โอ้กะจู๋ได้รับผลกระทบเต็มแรงจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เพราะเปิดให้บริการไม่ได้ ผักที่ปลูกเหลือค้างสต๊อก แต่มีพนักงานที่ต้องดูแล จึงแก้ปัญหาโดยการเปิดเดลิเวอรี่ทันที ควบคู่ไปกับการนำสินค้าที่ไม่มีโอกาสจำหน่ายเหล่านั้นเอาไปทำประโยชน์ในโครงการปันฮัก แจกหมอ พยาบาล เป็นการทำเพื่อสังคมแทน ชีวิตและการทำธุรกิจก็คือการแก้ปัญหา ต้องเรียนรู้ปัญหาเพื่อแก้ไข ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องรักษามาตรฐานของตนเองมากกว่ามุ่งแข่งขันกับคู่แข่ง

“ตอนโควิดทุกคนมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ขายได้หรือขายไม่ได้ ถ้าเรามองดูจากพฤติกรรมของตัวเราเองหรือคนรอบข้างอาจจะพบกับโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคนที่อยู่บ้านมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารการกินต้องซื้อของที่ดีมีคุณภาพ เราต้องมองปัญหาให้เข้าใจและปรับตัวตาม”

ลาวัลย์  ศรีรุ่งเรืองจิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด  กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 เทรนด์การรักและดูแลสุขภาพของผู้บริโภคกลับมา ความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าก็มีมากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสให้สินค้าของบริษัทได้รับการตอบรับที่ดีบทพิสูจน์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในคุณภาพสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้บริษัทตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะวิจัยพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า SME ไทยจะรอดได้ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอยู่เสมอ รวมทั้ง ต้องมีสติที่จะอดทนต่อการแก้ไขปัญหา และยึดมั่นในความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้า เพื่อนำพาธุรกิจให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

“ด้วยเนื้องานทำให้คนของเราติดโควิด สิ่งที่เราทำคือตั้งวอร์รูมและดูแลในการคัดแยก คัดกรอง เราดูแลพนักงานของบริษัท ดูแลลูกค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ของเราด้วยการให้ข้อมูลอย่างชัดเจน new normal ทำให้เราพบวิธีการทำงานแบบใหม่คือแบบออนไลน์ ทำให้เราทำงานได้มากขึ้น ความเป็นผู้รู้จริงจะทำให้เราผ่านเรื่องราวต่างๆไปได้”

ศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด หรือ UAE มองว่า SME ไทย สามารถที่จะใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการสร้างแบรนด์ด้วยบริการที่มีคุณภาพอย่างมืออาชีพควบคู่จรรยาบรรณวิชาชีพ และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงดูแลพนักงานที่ติดเชื้อและสื่อสารกับลูกค้าถึงวิธีการบริหารสภาวะวิกฤติอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าเสมือนพันธมิตร

“ช่วงที่เกิดโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่ได้หาโอกาสใหม่ ๆ ตลาดใหม่ที่เราไม่เคยคิดว่าจะเข้าไปยิ่งภาครัฐสนับสนุนเรื่องของการท่องเที่ยวในประเทศเราก็ยิ่งได้เปรียบเพราะทุกคนก็ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับสถานที่ท่องเที่ยวของตัวเอง จงอย่าลืมมองหาโอกาสใหม่ๆเสมอและเผื่อใจกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน”

อัชฌาวดี เจียมบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด เห็นว่าแม้อุตสาหกรรมเหล็กหล่อจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มากนัก แต่สิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่ต้องคำนึงและวางแผนรับมือเป็นข้อแรกคือ ความปลอดภัยของพนักงาน ถ้าพนักงานติดเชื้อ บริษัทต้องรับมืออย่างไร ข้อต่อมาคือการวางแผนรักษาสภาพเงินสด (Cash Flow)  เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ และวางแผนพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากจุดแข็งที่ตนเองมีให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามวิถีใหม่ที่เปลี่ยนไป SME ต้องไม่หยุดแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากช่องว่างของการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญไม่ว่าจะประสบปัญหาใดอยู่ก็ตาม ให้แยกวิกฤติหรือปัญหาออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่แก้ไม่ได้ กับส่วนที่แก้ได้ และมุ่งโฟกัสในส่วนที่แก้ไขได้ก่อนอย่างทันท่วงที

รางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ได้จัดมอบรางวัลเกียรติคุณให้กับผู้ประกอบการมาแล้วรวม 16 ครั้ง มีผู้ประกอบการ SME ไทยจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับรางวัลไปแล้วมากถึง 81 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทล้วนเป็นกรณีศึกษา ที่น่าสนใจและเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันได้ทั้งในเวทีไทยและต่างประเทศ

 

You Might Also Like