25-27 กันยายน 2563..เป้าหมาย ที่วางไว้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 ที่รู้จักกันในชื่อ Paris Climate Agreement เป็นความสําเร็จที่ 196 ประเทศบวกกับสหภาพยุโรป ร่วมให้คำมั่นสัญญาว่า จะทำให้อุณหภูมิของโลกต่ำลงกว่าช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมประมาณ 2 องศาเซลเซียส ทุกประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาปารีสยังตกลงกันว่า จะกำหนด SDGs เป็นหมุดหมาย เป็นคํามั่นสัญญาที่จะช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายในประเทศของตัวเองด้วย
สมาชิกของทุกประเทศให้คํามั่นที่จะระดมเงินทุน ตอกย้ำการลงมือทำอย่างจริงจัง และช่วยเหลือองค์กรความร่วมมือนี้ ให้บรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี 2030 นั่นคือ ไม่ทิ้งให้ใครอยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ทศวรรษใหม่ เป็นที่ชัดเจนมากว่าการลงมือทํามากขึ้นเป็นสิ่งจําเป็น มีประเทศจำนวนน้อยมากเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสัญญาที่พวกเขาทําไว้ และต้องการให้ทุกคนทำตาม
10 ปี เพื่อการปกป้องโลก
“จําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เร่งการดําเนินการเรื่อง SDGs สําหรับบรรดาผู้ที่ยังคงล้าหลังในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว” Tijjani Muhammad Bande ประธานสภาสหประชาชาติ กล่าว
ปีที่แล้ว มีการประชุม Sustainable Goals Summit ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกนับจากวาระปี 2030 ถูกตั้งขึ้นเป็นต้นมา นับว่าเป็นการปลุกให้กระแสเรื่องข้างตันให้กลับมาเข้มข้น และอยู่บนเส้นทางที่ควรจะเป็นอีกครั้ง
António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แสดงความยินดีเกี่ยวกับความคืบหน้า ที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศบูรณาการ SDGs เข้าไปในนโยบายในประเทศของพวกเขา แต่เขาก็กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า
“ความขัดแย้งบางเรื่องที่หาข้อยุติไม่ได้ วิกฤตการณ์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ความรุนแรงทางเพศ และปัญหาความไม่เท่าเทียมที่มีอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจมีผลทำให้ทุกอย่างต้องถอยกลับไม่ก้าวหน้าอย่างที่หวังไว้”
อีกด้านหนึ่ง บรรดาผู้นําจากทั่วโลก ต่างขนานนามว่า ช่วงเวลานี้ สมควรเรียกว่าเป็น Decade of Action ทศวรรษของการลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ในปี 2030 และร่วมแถลงว่า มีมากกว่า 100 โครงการที่ต้องเร่งทำ
คาดว่าจะมีงบประมาณหลักล้านล้านดอลลาร์นำมาใช้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือทุกระดับของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส จะมีบทบาทสําคัญอย่างยิ่ง
มีใคร … กำลังทําอะไรอยู่บ้าง ? ตัวอย่าง
-บทเรียนยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเกิดขึ้นที่ไนจีเรีย เป็นการสอนเด็กจำนวน 500,000 คนเกี่ยวกับเป้าหมาย SDGs
-สวีเดนได้ให้คํามั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็น “ศูนย์สุทธิ-net zero carbon emission”ในปี 2045 -เม็กซิโก ให้คํามั่นสัญญาที่จะขจัดปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ในปี 2024
-มหาวิทยาลัยเบรุต มีแผนสร้างชุมชนวิจัย เกี่ยวกับพลังงานทดแทนเพื่อให้บรรลุ SDGS ในตะวันออกกลาง ความท้าทายมากมายที่เผชิญอยู่
“เรารู้สึกได้ถึงการตระหนักอย่างกว้างขวางว่าเราคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2030 แล้ว แต่ก็ยังคงมีความมุ่งมั่นแรงกล้าที่จะกลับมาอยู่ในเส้นทางดังกล่าวอีกครั้ง” Amina Mohammed รองเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว
Climate Change เป็นอุปสรรคสําคัญกับเป้าหมายเกือบทั้งหมด และความร้อนก็ยังคงเพิ่มสูง เป็นหัวเรื่องของรายงานโดย UNDP และ UN Climate Change ระหว่างการประชุม Climate Action Summit ซึ่งพบว่ามีสัญญาณในเรื่องข้างต้นมาจากทุกมุมโลก รวมทั้งจากประเทศที่รู้สึกว่า มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจาก Climate Change
รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า บรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนโฟกัสที่เป้าหมายระยะยาว แต่กลับละเลยปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ดำรงอยู่ตอนนี้ ซึ่งจำเป็นต้องจัดการอย่างเร่งด่วน ซึ่งต้องเน้นใช้แผนระยะสั้น
รายงานฉบับดังกล่าว มุ่งเน้นเรื่อง ข้อมูลและหลักฐานที่ดีกว่า การเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งระหว่างการดําเนินการ Climate Change กับเรื่อง SDGs แผนการตรวจสอบความคืบหน้าอย่างละเอียด
หนทางข้างหน้า
ในฐานะมนุษยชาติ ไม่ว่าใครก็ไม่เคยทําอะไรแบบนี้มาก่อน มันเป็นดินแดนที่ไม่เคยมีในแผนที่ ทุกคนทุกฝ่ายต้องยกเครื่องแนวทางดำเนินชีวิต และวิธีทําธุรกิจ ผลิตพลังงานและอาหาร สร้างความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มากที่สุด
แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากก้าวไปข้างหน้า เพราะทุกคนน่าจะเห็นแล้วว่า สิ่งที่สูญเสียไปแบบ Real Time จากการนิ่งเฉยไม่ทำอะไร ทำให้สภาพภูมิอากาศทั่วโลกเลวร้ายลง การประท้วงทางการเมืองขยายวง ไฟป่าเกิดขึ้นมากมาย เมืองโบราณน้ำท่วม คนนับล้านถูกบังคับให้อพยพย้ายถิ่น
SDGs เป็นตัวแทน เป็นความหวังเดียวในการจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อน และยุ่งเหยิงเหล่านี้
สหประชาชาติมีคําตอบและ UNDP มุ่งมั่นที่จะระดมทรัพยากร เพิ่มความทะเยอทะยานที่จะบรรลุเป้าหมาย รวมถึงส่งเสริมการแก้ปัญหาที่เชื่อมโยงเป้าหมายกับความกังวลของโลกแห่งความเป็นจริงของประชาชนทั่วไปอย่างจริงจัง
“มีงานหนักรออยู่ข้างหน้า แต่ข่าวดีก็คือ เรายังพอมีเวลาอยู่ เราต้องทุ่มเทให้ทุกอย่างคืบหน้าไป เดี๋ยวนี้”
António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในท้ายที่สุด
ที่มา