16 มิถุนายน 2565…การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) หรือการเงินสีเขียว (Green Finance) มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและส่งเสริมให้ผู้นำองค์กรคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ในทุกกระบวนการ เช่น การจัดสรรงบประมาณ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้าน ESG สร้างผลประกอบการที่ยั่งยืน และสร้างความพร้อมให้แก่องค์กรในการจัดการกับภาวะวิกฤต ขณะเดียวกันภาคการลงทุนซึ่งมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินทุนก็มีความตระหนักถึงปัจจัยด้าน ESG และมุ่งส่งเสริมการลงทุนในโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น
รายงานการจัดอันดับองค์กรที่สะท้อนเป้าหมายความยั่งยืน (ESG ratings) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย สถาบันการเงิน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร ใช้ประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ขององค์กร ทั้งนี้ การจัดทำรายงาน ESG ratings จะพิจารณาปัจจัยที่เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ มีตัวชี้วัดที่หลากหลาย และไม่มีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดความเข้าใจว่าข้อมูลด้าน ESG ไม่มีผลกระทบในเชิงการเงิน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้าน ESG นับว่าเป็นมิติที่สามารถสะท้อนศักยภาพทางการเงินและความยั่งยืนของกิจการในระยะยาวได้ โดย International Valuation Standards Council (IVSC) ให้ความเห็นว่าปัจจัยด้าน ESG ขององค์กรจัดเป็นข้อมูลทางการเงินเบื้องต้นที่ผู้ประเมินควรใช้พิจารณาประกอบการประเมินมูลค่ากิจการด้วยเช่นกัน
การพิจารณาปัจจัยด้าน ESG จะเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ยังคงมีข้อสงสัยว่าผลการดำเนินงานด้าน ESG จะมีผลกระทบต่อมูลค่าของกิจการหรือไม่ มิติใดของ ESG ที่มีผลกระทบต่อมูลค่ากิจการมากที่สุด และกิจการที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดีจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
เบญจมาพร ปิยะกุลวรวัฒน์ พาร์ทเนอร์ ที่ปรึกษาด้านการเงิน ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า มาตรฐานสากลสำหรับการประเมินและรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานด้าน ESG ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งรวมถึงมาตรฐานการรายงานของ International Sustainability Standards Board เพื่อให้เป็นข้อมูลที่สามารถใช้เปรียบเทียบกันได้ อย่างไรก็ตาม ESG ratings ที่จัดทำโดยสถาบันจัดอันดับในปัจจุบันสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ดีในระดับหนึ่งแม้ว่าผล ESG ratings จากแต่ละสถาบันอาจมีความแตกต่างกันเนื่องจากมีวิธีการประเมินที่แตกต่างกัน
บทความของ Deloitte ในหัวข้อ “Does ESG impact company valuations? An Australian perspective” (April 2022) ได้สรุปผลการศึกษาข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในดัชนีหลักทรัพย์ ASX200 ซึ่งใช้เป็นตัวแทนตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียในช่วงปี 2562 – 2564 ดังนี้
-ขนาดของบริษัทมีผลต่อการจัดอันดับ (size effect) โดยบริษัทขนาดใหญ่จะมี ESG ratings ที่ดีกว่า
-ESG ratings มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้น (total shareholder returns)
-ESG ratings ที่ปรับตัวดีขึ้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่ออัตราส่วนมูลค่ากิจการ (earnings multiples) เช่น อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไร EBITDA (EV/EBITDA) อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อรายได้ (EV/Revenue) และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E)
นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่าคะแนนด้านสิ่งแวดล้อม (E) มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้น (total shareholder returns) มากที่สุด ในขณะที่คะแนนด้านสังคม (S) มีความสัมพันธ์กับ earnings multiples ที่เพิ่มขึ้น มากที่สุด
แม้ว่าผลการวิจัยโดยทั่วไปพบว่า กิจการที่สามารถปรับปรุงตัวชี้วัดด้าน ESG ให้ดีขึ้นได้จะสามารถลดต้นทุนทางการเงินได้โดยพิจารณาจากแนวโน้มการลงทุนที่เน้นสนับสนุนโครงการด้าน ESG แต่ผลการศึกษาของดีลอยท์ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ด้งกล่าวในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่ทำการศึกษา
ดังนั้น จึงมีคำถามว่ากิจการจะสามารถพัฒนาผลการดำเนินงานด้าน ESG ได้อย่างไรเพื่อเพิ่มมูลค่าและรักษาผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวได้ ซึ่งทุกฝ่ายควรเน้นให้ความสำคัญในด้านต่อไปนี้
• เข้าใจมิติของ ESG ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ห่วงโซ่อุปทาน และผู้มีส่วนได้เสียหลักขององค์กร
• เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ด้วยความโปร่งใสและมีความสม่ำเสมอ
• ให้ความสำคัญกับแผนงานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กล่าวโดยสรุปคือ การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและการเงินเพื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กิจการสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ratings ในการกำหนดแผนงานด้านความยั่งยืน ปรับปรุงผลการดำเนินงาน และดึงดูดแหล่งเงินทุน ผู้ลงทุนมีความคาดหวังให้กิจการที่ตนเข้าไปลงทุนมีมาตรการเชิงรุกและมีความรับผิดชอบในทุกมิติของ ESG และเน้นส่งเสริมกิจการที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี และผู้ประเมินต้องพิจารณาใช้ตัวชี้วัดด้าน ESG ที่มีความน่าชื่อถือและมีมาตรฐานเดียวกันเพื่อสามารถใช้เปรียบเทียบในระดับองค์กร ระดับภูมิภาค และในแต่ละช่วงเวลาได้