28 กันยายน 2562…ในยุคที่เทคโนโลยีมีราคาถูกลง ย่อมทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ตามกันทัน ถ้าเช่นนั้นลองจินตนาการว่า หากทุกบริษัทใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการผลิตสินค้าเหมือนกัน แล้วอะไรล่ะคือความแตกต่างระหว่างสินค้า?
คำตอบก็คือ แบรนด์ !
แต่บริบทของแบรนด์ในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเช่นกัน มันไม่ได้หมายถึงยี่ห้อสินค้าอีกต่อไป แต่คือตัวตนของสินค้านั้นๆ ต่างหาก และในอนาคตแบรนด์ที่มีตัวตนในแบบ Sustainable Brand ย่อมทวีความสำคัญมากขึ้นๆ เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้แบรนด์มีความยั่งยืนตราบนานเท่านาน
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นการเลือกซื้อจากแบรนด์เพื่อสะท้อนตัวตนของผู้ซื้อ ในทำนองเดียวกัน ผู้ผลิตก็จะไม่สามารถขายแค่สินค้าอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องขายแบรนด์ผ่านสินค้า ตามการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในอนาคตนั่นเอง
“ผมคิดว่าเทคโนโลยีก็ดี หรืออุปกรณ์ก็ดี ผู้ผลิตทุกเจ้าสามารถหาซื้อได้เหมือนกันหมด อย่างดอยคำเราทำน้ำผลไม้ขาย ในเมื่อน้ำส้มเหมือนกัน รสชาติเหมือนกัน พอเป็นสินค้าเหมือนกัน ถามว่าจะต่างกันตรงไหน ถ้าไม่ใช่แบรนด์ ดังนั้นหลายปีที่ผ่านมาดอยคำจึงพยายามสร้างความแตกต่างด้วยแบรนด์โดยมุ่งเน้นการเป็น Sustainable Brand ”
ดอยคำ ถือได้ว่าเป็น Sustainable Brand ตั้งแต่ Day 1 ของการทำธุรกิจเพราะเป็น Social Enterprise โดยการนำวัตถุดิบที่ได้จากเกษตรกรชาวเขา มาเพิ่มมูลค่า สร้างให้เกิดรายได้เลี้ยงชีพ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้แยกส่วนของโครงการหลวงออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ ดูแลเรื่องวิจัยและพัฒนา อีกส่วนเป็น บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นำโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้ง 4 แห่ง ที่ ฝาง แม่จัน เต่างอย และละหานทราย ออกมาตั้งเป็นบริษัท โดยมอบให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ ยังยึดหลักความเป็นธรรมต่อคน 4 ฝ่าย ได้แก่
1. เป็นธรรมต่อพนักงาน ต้องอยู่ดีกินดีก่อนจึงจะช่วยเหลือคนอื่น
2. เป็นธรรมต่อเกษตรกรหรือซัพพลายเออร์ รับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรสูงกว่าราคาตลาด
3. เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะสินค้าของดอยคำได้ “มาตรฐานสากล ในราคาที่จับต้องได้”
4. เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม
“เราเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้เน้นกำไรสูงสุด เพราะเราเชื่อในเรื่องการกินแบ่ง ไม่กินรวบ จึงจะทำให้ทุกๆ คนในสังคมอยู่ได้ และแบรนด์ก็จะยั่งยืนไปได้เรื่อยๆ ดังนั้นการทำธุรกิจจะต้องรู้จักให้ ไม่ใช่ Take อย่างเดียว แต่แบ่งปันให้เกษตรกรส่วนหนึ่ง ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง แล้วแบรนด์ก็พอมีกำไรที่จะดูแลพนักงานของเรา และดูแลผู้ถือหุ้น สำหรับที่นี่เราแบ่งปันกำไรให้กับผู้ถือหุ้นสูงกว่าดอกเบี้ยนิดหน่อย ผมคิดว่าแค่นั้นก็พอจะทำให้แบรนด์ยั่งยืนได้ เพราะสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และสังคมก็จะมีความสุขมากขึ้น”
นอกจากนี้ ดอยคำยังคำนึงถึงชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยการร่วมทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนในชุมชนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเป็นผู้สนับสนุนงาน Sustainable Brands Thailand ติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และปีนี้เป็นปีที่ 3
“การได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปในชุมชน ผมมองว่าเราได้อะไรจากชุมชนเยอะ เพราะได้ไปเรียนรู้ว่าเขามีความต้องการยังไงบ้าง อีกแง่มุมหนึ่ง เราก็สามารถนำความรู้ที่ดอยคำมีมาถ่ายทอดให้เขาได้พัฒนาตัวเองไปสู่ความยั่งยืนในชุมชนเช่นกัน อย่างปีที่ผ่านมา งาน Sustainable Brands ถูกจัดขึ้นที่ชุมชนบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งที่นั่นมีของดีให้นำไปพัฒนาได้หลายอย่าง เช่น ส้มที่รสชาติหวานมาก เราก็ได้เข้าไปแนะนำให้เขานำไปขยายพันธุ์ อาจจะเริ่มจากเล็กๆ แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ชุมชนก็จะต้องจับมือกันนำของดีในชุมชนให้เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมด้วย”
สำหรับ SB’ 19 Oceans & Beyond Chumphon, Thailand ที่กำลังจะจัดขึ้นที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพรในวันที่ 25-26 ตุลาคมที่จะถึงนี้ พิพัฒพงศ์ กล่าวว่ามีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่างที่ดอยคำสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชนได้
ยกตัวอย่างเรื่องกาแฟ ในฐานะที่ชุมพรเป็นจังหวัดที่มีการปลูกกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย คิดเป็น 60% ของการผลิตทั้งหมดของประเทศ ซึ่งกาแฟที่ปลูกเป็นพันธุ์โรบัสต้า มีกาแฟทั้งขายส่ง ขายปลีก แปรรูปมากมายกว่า10 ยี่ห้อในชุมชนต่างๆของชุมพร
“การปลูกหรือผลิตกาแฟขาย จำเป็นต้องเข้าใจสายพันธุ์ โรบัสต้าถือเป็นกาแฟที่ปลูกมากในชุมพร แต่โรบัสต้าเป็นกาแฟที่ให้ Body มีเข้มข้นกว่าอราบริกา เพราะมีแป้งเยอะกว่า ในขณะที่อราบริก้ามีความหอม และคาเฟอีนสูง คนเลยนำกาแฟทั้ง 2 สายพันธุ์นี้มาผสมกันเพื่อให้ต้นทุนถูกลง แต่จากการที่ผมอยู่ในธุรกิจนี้ ก็จะเข้าไปแชร์ความรู้ในเรื่องเทรนด์การดื่มกาแฟไปแบ่งปันกับชุมชน เพราะเทรนด์การดื่มต่อไปจะเป็นอราบริกามากขึ้น ตามซัพพลายที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในชุมพรจะต้องปรับตัวอย่างไร”
พิพัฒพงศ์ กล่าวในท้ายที่สุดถึงความน่าสนใจอีกเรื่องใน SB’ 19 Oceans & Beyond Chumphon, Thailand คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับอาหารทะเล
“คนในชุมชนประมงอาจจะของบจากภาครัฐเพื่อนำมาทำธนาคารปู หรือสัตว์ทะเลชนิดอื่นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากร คือแทนที่จะจับปู กุ้ง ปลาที่มีไข่อยู่เต็มท้องขาย ก็นำมาปล่อยในกระชังให้สัตว์เหล่านั้นได้สลัดไข่ออกไปในทะเล รอบๆ นั้นก็จะอุดมไปด้วยสัตว์ทะเล หรือการใช้อวนตาไม่ถี่ในการประมง พวกนี้คือการดูแลอาหารทะเลอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่จับอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างทรัพยากรในเวลาเดียวกันด้วย”
เศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่เกื้อกูลระหว่างกัน และประสบการณ์เหล่านี้จะพบใน SB’ 19 Oceans & Beyond Chumphon, Thailand #SB19Chumphon