30 กันยายน 2562…ดีแทคหนุนสตาร์ทอัพช่วยแก้ปัญหาประเทศ ผลจากเวที ดีแทค แอคเซอเลอเรท ปีนี้ FinGas, Arincare, ViaBus สร้าง Impact ให้กับสังคมวงกว้างเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดีแทค แอคเซอเลอเรท ร่วมสร้างระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ดำเนินมาถึงปีที่ 7 แล้วและมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 60 บริษัท มูลค่ารวมเกือบ 7 พันล้านบาท มีอัตราประสบความสำเร็จถึง 70% สามารถดึงเม็ดเงินระดมทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติรวมกว่า 1,200 ล้านบาท
ในอีกทางหนึ่งปีนี้ ความตั้งใจของดีแทค แอคเซอเลอเรท ในการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มาพร้อมกับแนวคิดการแก้ปัญหาสังคมคู่พัฒนาธุรกิจ
ดังนั้น จะเห็นได้จากสตาร์ทอัพจำนวนมากที่นำเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) เข้ามาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่งหรือ IoT บล็อกเชน เข้ามาแก้ไขปัญหาสังคมไทยมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาสาธารณสุข, การเงิน, แรงงาน และการขนส่งสาธารณะ เรียกได้ว่าไม่เฉพาะแค่ขจัด Pain Point ในระดับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังขจัด Pain Point ในระดับสังคมเลยทีเดียว ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของธุรกิจในโลกปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่การ “สร้างคุณค่าร่วม” (Creating Shared Value) ระหว่างสตาร์ทอัพเอง ภาคธุรกิจและสังคมโดยรวม
ในปีนี้ ได้เปิดตัวสตาร์ทอัพ 5 ทีมของ ดีแทค แอคเซอเลอเรท ที่มีส่วนสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูลให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
1. FinGas
“ภรณี วัฒนโชติ” ซีอีโอ/ผู้ร่วมก่อตั้ง FinGas
FinGas เป็นมาร์เก็ตเพลสที่เข้ามาแก้ Pain Point ของผู้ใช้แก๊สหุงต้มให้มีความสะดวกขึ้น ทำให้ Customer Journey ของการสั่งแก๊สง่ายขึ้น ซึ่งสามารถใช้บริการได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นแจ้งจำนวน และเวลานัดหมาย โดย FinGas จะใช้อัลกอรึธึ่มในการหาร้านขายแก๊สที่ใกล้ที่สุด
ในกรณีผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องตุนแก๊สอีกต่อไป ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติภัยได้อีก และยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการติดเครื่องมือ IoT เข้ากับถังแก๊ส ทำให้ผู้ใช้สามารถรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับแก๊สแบบเจาะลึกมากขึ้น เช่น ปริมาณคงเหลือของแก๊ส ระยะเวลาในการใช้ต่อครั้ง ต้นทุนต่อการประกอบาอาหรในครั้งนั้นๆ
“เราไม่ได้ขนส่งแค่แก๊ส แต่เราใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ร้านค้าแก๊สมีกำไรมากขึ้น และบริหารจัดการดีขึ้นได้ เพราะ FinGas ยังทำหน้าที่มากกว่าการเป็นมาร์เก็ตเพลสด้วยการใช้ดาต้าที่ได้จากการใช้บริการเป็นข้อมูลในการขอสินเชื่อแก่ร้านค้าประเภท Street Food”
ภรณี ขยายความต่อเนื่องถึงสาเหตุที่เลือกเจาะกลุ่มนี้ เพราะร้านค้าประเภทนี้มีจำนวนกว่า 103,000 ร้าน มักประสบปัญหาในการขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ จากข้อมูลปี 2559 ซึ่งสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนที่ไม่ได้รับบริการทางการเงิน หรือที่เรียกว่า Unbanked มีสัดส่วน 7% ในขณะที่คนที่เข้าถึงแต่ไม่ได้รับการบริการ หรือ Undeserved มีจำนวนถึง 33% รวมกันเป็น 40% ของจำนวนประชากรไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขายอาหารริมทางหรือ Street Food นั่นเอง
“ในอีกทางหนึ่ง FinGas จึงเป็นตัวกลางที่ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือแหล่งเงินทุนในระบบได้ดีมากยิ่งขึ้นผ่านการสร้าง Alternative Credit Scoring ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดช่องว่างทางสังคม และลดปัญหาความยากจน”
2. ViaBus
“อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์” ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง ViaBus
“การเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถเมล์เป็นการขนส่งที่ถูกใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับ 1 สูงถึง 5.2 ล้านเที่ยวต่อวัน คิดเป็น 16% ของปริมาณเดินทางรวม 32.7 ล้านเที่ยวต่อวัน ซึ่งมากกว่ารถไฟฟ้าถึง 6.3 เท่า และมากกว่ารถตู้ 12.4 เท่า ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการเดินทางที่มีราคาต่ำสุดเมื่อเทียบกับขนส่งประเภทอื่น จะเห็นได้ว่าการเดินทางด้วยรถเมล์มีความสำคัญมาก เพราะเป็นระบบขนส่งที่คนจำนวนมากใช้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงก่อตั้ง ViaBus ขึ้นมา”
อินทัช อธิบายต่อเนื่อง ปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น 35 นาทีต่อการเดินทาง คำนวณเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านเวลาที่ต้องติดอยู่บนถนนคิดเป็นมูลค่า 11,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 60 ล้านบาทต่อวัน
“หากประชาชนโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่หันมาใช้ขนส่งสาธารณะแทนรถส่วนตัว นอกจากจะช่วยลดปัญหาจราจรในภาพรวม ยังช่วยลดมลพิษฝุ่นควันในอากาศได้อีกด้วย ViaBus จึงออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย พัฒนาเวลาคุณภาพช่วยลดเวลารอคอยขนส่งสาธารณะกว่า 5,200 ล้านนาทีคิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 3,300 ล้านบาท”
ViaBus เป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงระบบโดยสารสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยครอบคลุมกว่า 20 จังหวัด มีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านคน ช่วยให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเข้าถึงและตัดสินใจเดินทางระบบโดยสารสาธารณะได้สะดวกขึ้น และยังรองรับการเชื่อมต่อการเดินทางหลากหลายระบบ เช่น รถเมล์ บีทีเอส เอ็มอาร์ที สองแถว รถร่วมบขส. รถข้ามอำเภอ รถข้ามจังหวัด
“VIA BUS ไม่ได้ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องรถขนส่งสาธารณะอย่างเดียว แต่เราต้องการแก้ไขทั้ง Ecosystem ปัจจุบันเรายังพัฒนาซอฟท์แวร์ให้กับผู้ประกอบการขนส่งอย่างเอสซีจี ลอจิสติกส์ เพื่อจัดช่วงเวลาปล่อยรถได้อย่างเหมาะสม และคำนวณรอบวิ่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และเป็นการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง” อินทัช กล่าวในท้ายที่สุด
3. ARINCARE
“ธีระ กนกกาญจนรัตน์” ซีอีโอ/ผู้ร่วมก่อตั้ง ARINCARE
ความแออัดของผู้ป่วย และเสียเวลารอรับยาในโรงพยาบาลนานเฉลี่ย 60-154 นาที ยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของคนไทยมาเป็นเวลานานและยังหาทางออกลำบาก ทั้งๆ ที่ร้านขายยาในประเทศไทยมีมากกว่า 24,000 ร้านกระจายอยู่ทุกตำบล
นับเป็นเกือบ 2 เท่าของร้านสะดวกซื้อ !
แต่ที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและร้านขายยาในการดูแลคนไข้เลย ส่วนคนที่สามารถเข้าถึงโรงพยาลเอกชนก็มักต้องพบกับปัญหายาแพงกว่าค่าเฉลี่ย 300-8,000% แค่ยาแก้ปวดที่ขายในร้านขายยาราคาเม็ดละ 1.50 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนขายเม็ดละ 22 บาท
“ARINCARE ต้องการเข้ามาลดปัญหาด้านสาธารณสุขที่คนไทยเจออยู่บ่อย ๆ เราออกแบบแพลตฟอร์มที่เชื่อมเครือข่ายร้านขายยาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันเราทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการทำรับใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการประชาชนรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้านได้อย่างปลอดภัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการแล้วในจังหวัดนำร่องคือ ปราจีนบุรี และรอยอง และจะขยายผลทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2562 ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาราคายาแพง และความแออัดในโรงพยาบาลได้อย่างยั่งยืน”
ธีระย้ำว่า ผู้ป่วยยังมั่นใจได้ว่า กาารรับยาที่ร้านขายยา จะเป็นยาใหม่ เพราะระบบของ ARINCARE สามารถแทรคข้อมูลได้ว่ายานั้นเป็นยาอะไร ล๊อตไหน ซึ่งหากร้านใดไม่ดูแลคุณภาพยา หรือนำยาเก่ามาจ่ายให้ผู้ป่วย ระบบจะแจ้งไปทางร้านทันที หากยังฝ่าฝืนร้านนั้นก็จะถูกขับออกไปจากระบบ
“การเกิด ARINCARE ไม่มีส่วนใด Lost เพราะเป็นระบบที่ออกแบบมาเกื้อกูลกันทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ โรงพยาบาล ร้านขายยา ที่จะมีความสะดวกมากขึ้น)
4. System Stone
“สิทธิกร นวลรอด” CEO System Stone
System Stone เติบโตท่ามกลางความท้าทายของเทรนด์ Industry 4.0 ซึ่งอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างมองหาโซลูชั่นที่จะเข้ามาช่วยสร้างความแตกต่างและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่บริษัทของเรามีความเชี่ยวชาญก็คือ การพัฒนา Mobile Application Platform ซึ่งจะถูกออกแบบให้เข้าไปช่วยสนับสนุนให้วิศวกร และผู้ปฏิบัติงานในโรงงานสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะด้านการซ่อมบำรุงเครื่องจักรได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัวขึ้น เสริมศักยภาพในการทำงาน ยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่ยุค Digital Workforces ได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา และเมื่อเราสามารถอัพเกรดภาคอุตสาหกรรมไปสู่ Digital Factory ได้แล้ว การเชื่อมโยงและสร้าง Ecosystem ร่วมกันก็สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งนั่นจะเป็นเป้าหมายหลักในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0
“หัวใจของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกคือ เครื่องจักร กระบวนการดูแลรักษาเครื่องจักรเหล่านี้จึงมีความสำคัญ และใช้ต้นทุนที่สูงมาก System Stone เป็นบริษัท Tech Startup ที่จะเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่จะปฏิวัติรูปแบบการเฝ้าดูแลเครื่องจักรไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีด้าน mobile App, Industrial IoT และ AI เราจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวิศวกร และช่วยคาดการณ์การเสื่อมสภาพของเครื่องจักรเพื่อการตอบสนองได้อย่างแม่นยำ”
5. Skooldio
“ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล” ซีอีโอ Skooldio
ข้อมูลปี 2560 มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเฉพาะสาขาคอมพิวเตอร์ 19,781 คน แต่กลับว่างงานเกือบ 7,000 คน ขณะที่ความต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ
สาเหตุสำคัญมาจากหลักสูตรคอมพิวเตอร์ปัจจุบันไม่ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง ซึ่งคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าคนไทยจะถูกเลิกจ้าง 4.9 ล้านคนจากการที่ภาคธุรกิจนำเอา Disruptive Technology มาใช้ เช่น Automation และ AI ส่วนมากอยู่ในภาคบริการ ธนาคาร และภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้นจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนการ Reskill แรงงานที่มีอยู่ในตลาดรวมถึงนักศึกษาให้มีทักษะที่สามารถใช้ทำงานได้จริง ตรงกับความต้องการของนายจ้าง
“Skooldio เชื่อในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยบทเรียนผ่านห้องเรียนจริงและห้องเรียนออนไลน์ เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้ทุกคนมีความเชี่ยวชาญในทักษะสมัยใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงสุดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมวิทยาศาสตร์ข้อมูล กระบวนการคิดเชิงออกแบบหรือการทำธุรกิจดิจิทัล และช่วยองค์กรต่างๆ สร้างทีมงานที่มีความพร้อมที่จะนำองค์กรไปสู่ความเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจตน”
ดร.วิโรจน์ ย้ำในตอนท้ายว่า บทเรียนครอบคลุม Hard Skill ที่ตลาดแรงงานไอทีในปัจจุบันต้องการ แต่สถาบันการศึกษายังผลิตได้ไม่ตรงกับความต้องการ เช่น ทักษะด้าน Cloud Computing ทักษะด้านการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ทักษาด้านการจัดทีม (People Management) ทักษะด้านการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (UX Design) และทักษะด้านการออกแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
นับเป็นปัญหาบางส่วนของประเทศ ที่สตาร์ทอัพทั้ง 5 ได้นำเสนอบนเวที ดีแทค แอคเซอเลอเรท ปีที่ 7 พร้อมทั้งประกาศผลให้ FinGas, Arincare, ViaBus เป็นผู้ชนะ