2 ตุลาคม 2563…ดีแทค Safe Internet และกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อม “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” พัฒนาหลักสูตร ‘การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber-bullying) ในห้องเรียน “ครูล้ำ”
หลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์” มุ่งพัฒนา “ครู” ให้เป็น “โค้ช” เพื่อช่วยทำให้ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทรปลอดภัย ทุกคนเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจถึงแนวคิด “ความแตกต่างหลากหลาย” ไม่ใช่ความผิดปกติ อันจะช่วยลดอคติและความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะกลั่นแกล้งรังแกเพื่อนและคนร่วมสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ อีกทั้งครูเองก็มีงานทางวิชาการมากมาย
อรอุมา เริ่มเล่าถึงความหลากหลาย และการแก้ปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ซึ่งมีข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นข้อลเชิงประจักษ์ว่า ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่างเคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขี้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก
“ในงานวิจัยบอกว่า LGBT ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยกลุ่มนักเรียนที่เปิดเผยในงานวิจัยว่า เป็น LGBT เผยว่า มีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งทางวาจา แกล้งทางเพศ แกล้งทางไซเบอร์ และถูกรังแกมากที่สุด เมื่อเทียบกับนักเรียนหญิงและชาย และเด็กนักเรียนร้อยละ 33.8 ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก “ไม่เชื่อถือ” ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงออนไลน์ ดังนั้นนักเรียนจึงปรึกษาเพื่อน และก็จะได้คำตอบว่า ไปเอาคืนเลย”
การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา
ดีแทคและองค์การแพลนได้พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ กรุ๊ป และองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ที่มีเป้าหมายคือ ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล
รัชญาเล่าถึงผลสำรวจเล็ก ๆ จากหัวใจ กับ 3 คำถาม ของผู้ร่วมงาน “ความหลากหลายทางเพศ” โดยใช้สี แสดงถึง ชาย หญิง และอื่นๆ พร้อมตอบ
1.อัตลักษณ์ทางเพศ… ของคุณเป็นแบบไหน เกิดมาพร้อมเพศอะไร ?
2.การแสดงออกทางเพศ… ของคุณเป็นแบบไหน เช่นเพศชายต้องชอบเพศหญิง?
3.แรงดึงดูดทางกายและทางใจ… ของคุณเป็นแบบไหน ?
“จากบางตัวอย่างที่เราเห็นบนบอร์ด เพศชายมีอยู่ 5 ซึ่งโดยกรอบปกติเพศชายต้องชอบเพศหญิง ซึ่งก็ต้องมีคู่ 5 คู่ แต่ที่พบบนบอร์ด ไม่ใช่ นั่นพอจะบอกให้ทราบว่า คนคนหนึ่งมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นเหตุที่ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ เพราะทุกความหลาหลายคือความเป็นปกติ ต่อไปนี้เราจะไม่เรียกคนอื่นแบบบูลลี่”
ทั้งนี้ การเริ่มต้นในเรื่อง “การเคารพในความหลากหลายทางเพศ” จะต้องเริ่มที่โรงเรียน โดยดีแทคและองค์กรแพลน ได้ร่วมกันจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียน ที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย ซึ่งครูสิทธิชัย จากโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียนเป็น 1 ใน 60 คนจาก 15 โรงเรียนในเชียงใหม่มาร่วมเป็น Pilot ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
“เรื่องนี้ครูไม่เคยเรียนมาก่อนเพราะไม่มีในหลักสูตร ขณะเดียวกันครูจะถูกสอนมาอีกแบบหนึ่ง และเมื่อมาเป็นครู ครูจะมีอำนาจเหนือเด็ก แต่หลังจากได้อบรมหลักสูตรนี้ ทำให้เราฉุกใจคิดได้ว่าครูไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือเด็ก ครูควรใช้อำนาจอย่างเหมาะสม นักเรียนก็ควรมีอำนาจในวงของเขา เราถูกปลูกฝังว่า โตด้วยไม้เรียว ซึ่งปัจจุบันต้องใช้วิธีอื่น นอกจากนี้โรงเรียนก็ขาดนโยบายส่งเสริมเรื่องการเคารพในความหลากหลายทางเพศ ในการเรียนการสอนจะมีแค่เพศหญิง เพศชาย แบ่งตามสรีระ เมื่อเกิดเป็นเพศชายต้องเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ สู้งานหนักกว่าเพศหญิง เพศหญิงต้องอ่อนแอกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อครูหลายคนไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็จะไม่กล้าพูดเรื่องนี้”
ครูสิทธิชัย กล่าวต่อเนื่องว่า เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ และผู้บริหารโรงเรียนได้ถามถึงพัฒนาการโครงการฯเมื่อนำมาใช้ในห้องเรียนวิชาของครูสิทธิชัย โดยครูเปิดห้วข้อ “ภัยออนไลน์” จากนั้นนักเรียนเป็นคนทำกิจกรรมเอง และได้เห็นผลเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในมุมของนักเรียนที่ครูจะไม่มีโอกาสเห็น หากใช้วิธีการแบบครูสอนเช่นเดิม
กรองแก้ว ช่วยขยายความหลักสูตรการเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้นจะมีการนำทฤษฎีที่มีนักสิทธิมนุษยชนได้พัฒนาไว้เป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือเรียกในชื่อย่อว่า SOGIESC
“เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึง “ความแตกต่าง” คนที่มีความแตกต่าง และมักจะตกเป็น “เหยื่อ” ของการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่ในความเป็นจริง “ความแตกต่างหลากหลาย” ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เรามีความหลากหลายทั้ง ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา ศาสนา รสนิยมเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ”
หลักสูตรฯ มุ่งสร้างการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย และเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาโดยอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างๆ “วิถีทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)” คืออัตลักษณ์พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
อรอุมากล่าวในท้ายที่สุดว่า หลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศ” ยังมีการแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์การสอนให้ครูนำไปปรับใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียน และแนะนำบทสนทนาให้ครูสามารถพูดคุยกับเด็กนักเรียนด้วยความเข้าใจ เป็นมิตร ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะภูมิใจอัตลักษณ์ของตนเอง เคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น