30 ธันวาคม 2563..ระหว่างโควิด-19 ระลอกเก่า ต่อเนื่องระลอกใหม่ กลุ่มดุสิตธานีเปิดแนวรุกตลาดท่องเที่ยวคนไทยครั้งใหม่ ภายใต้แนวคิดท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งถึงชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น หวังสร้างประสบการณ์เดินทางคุณภาพเชิงลึก ทำงานร่วมกับ Local Alike ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสังคมที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
“อย่างที่ทราบดีว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเข้ามาเที่ยวในประเทศได้ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องหันมาโฟกัสกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่การจะดึงให้คนไทยหรือนักท่องเที่ยวที่อยู่ในประเทศรู้สึกอยากออกมาเที่ยวมากขึ้น จะต้องพยายามมองหาสิ่งใหม่ ประสบการณ์ใหม่ที่เขายังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัส”
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป
แน่นอนว่าการท่องเที่ยววิถีใหม่ต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวไทยทั้งที่มองหาความสะดวกสบาย (Convenience) รวมถึงต้องการประสบการณ์ใหม่ (Experience) ภายใต้การท่องเที่ยวที่เน้นความคุ้มค่า(Value)
กลุ่มดุสิตธานีจึงปรับยุทธศาสตร์ด้วยการขยายตลาดไปสู่การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการท่องเที่ยวในประเทศอย่างลึกซึ้งในชุมชนและท้องถิ่นโดยร่วมมือกับ Local Alike ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสังคมแนวใหม่ต่อยอดการท่องเที่ยวด้วยการจัดแคมเปญที่เน้นสร้างความยั่งยืนและสร้างประสบการณ์ใหม่ในท้องถิ่น ซึ่งช่วยสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ
“ความร่วมมือของดุสิตธานีกับ Local Alike จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือในระดับแรก โปรโมทชุมชนที่มีความพร้อมผ่านแพคเกจท่องเที่ยว Dusit Local Explorer กับโรงแรมในเครือดุสิตธานีทุกแห่งทั่วประเทศ นำเสนอทริปการท่องเที่ยวแบบเจาะลึก เน้นสาระสามารถสัมผัสและเข้าถึงชุมชนได้จริง ซึ่งรายได้ของทริปการท่องเที่ยว 70% จะเข้าสู่ชุมชนโดยตรง และอีก 30% จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการอย่าง Local Alike เพื่อต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวในชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ ส่วนรายได้ของดุสิตธานีจะมาจากการเข้าพักในโรงแรมเท่านั้น”
ศุภจีกล่าวต่อเนื่องสำหรับความร่วมมือในระดับที่ 2 เชิงลึก จะเป็นการส่งบุคลากรเข้าไปเป็นทีมงานจิตอาสาดุสิตธานี ร่วมกับทีมงาน Local Alike เพื่อให้ความรู้กับชุมชนแห่งใหม่ ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา
“กลุ่มดุสิตธานีมีจุดแข็งในเรื่องของประสบการณ์และมีหน่วยงานด้านการศึกษาอย่างวิทยาลัยดุสิตธานีที่พร้อมส่งทีมงานและบุคลากรที่มีความรู้เข้ามาช่วยเสริมและทำงานร่วมกันกับ Local Alike ในการให้ความรู้คนในชุมชนเพื่อยกระดับการดูแลนักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานทั้งในเรื่องของความสะอาด ความสะดวกสบาย”
สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด ที่ทำงานกับ 160 ชุมชนในประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือกับกลุ่มดุสิตธานี ด้วยเป้าหมายคือต้องการช่วยให้ชุมชนมีรายได้และรอดไปด้วยกันโดยใช้การท่องเที่ยวพัฒนาชุมชน ให้เขาจัดการตัวเองได้ด้วยโมเดลที่เขามีส่วนร่วมโดยได้ทั้งรายได้และยังคงรักษาทรัพยากรไว้ได้
“ที่ชุมชนกุฎีจีนมีความพร้อม และทำงานร่วมกับเรามา 7-8 ปีแล้ว เขาสร้างรายได้ในขณะที่ยังรักษาความเป็นชุมชนของเขา โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวและมีศักยภาพในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เองเพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้รับประสบการณ์คุณภาพจากการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นถิ่น เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวของประเทศด้วย การร่วมมือกับดุสิตธานีที่กรุงเทพฯ เราจีงเลือกที่นี่ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำ ”
สำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่ ดุสิตธานี x Local Alike จะมีในจังหวัดที่ดุสิตธานีให้บริการโรงแรม ซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการทั้ง 7 แห่งแล้ว ประกอบด้วย
กรุงเทพฯ– สัมผัสเสน่ห์ของกลิ่นอายโปรตุเกสในชุมชนกุฎีจีน ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เชียงใหม่ – เปิดประสบการณ์วิถีชีวิตชาวไทยภูเขาผ่านกิจกรรมวัฒนธรรมกับชุมชนไทลื้อ
ภูเก็ต– เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนบนเรือแคนูและสัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงพร้อมเยี่ยมชมฟาร์มล็อบส์เตอร์ภูเก็ต
กระบี่ –สัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงท้องถิ่นพร้อมกิจกรรมธรรมชาติท่องป่าชายเลน
หัวหิน – ร่วมกิจกรรมปกป้องผืนป่าแบบท้องถิ่นและสนุกกับการผจญภัยล่องแม่น้ำ
พัทยา – สัมผัสชุมชนชนบทใกล้พัทยาพร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา
เขาใหญ่ – ปั่นจักรยานท่องหมู่บ้านเกษตรกรรมเพื่อเรียนรู้การเกษตรแบบยั่งยืน
“การการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่แบบนี้ ชุมชนต้องเปิดรับด้วยในหลาย ๆ เรื่อง มีเรื่องที่ต้องดูแลใส่ใจเพิ่มมากขึ้น อย่างเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด สิ่งแวดล้อม เช่น ร้านอาหาร ห้องน้ำ การจัดการเรื่องขยะ ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์กับชุมชน สุดท้ายแล้วจะเป็นประโยชน์กับประเทศโดยรวม” ศุภจีกล่าวเสริม
นอกจากนี้ Local Alike ยังมีกิจกรรมซึ่งช่วยสนับสนุนรายได้เสริมด้านอื่น เช่น Local Aroi ส่งเสริมให้ชุมชนได้มีทักษะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ สามารถจัดเลี้ยงอาหารนอกสถานที่แบบพิเศษได้ ซึ่งนอกจากจะได้อิ่มท้องด้วยอาหารอร่อยจากท้องถิ่นยังได้ซึมซับวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชุมชนด้วย รวมถึงยังดึง Local Alot ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่พัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน
“การจะปักหมุดความยั่งยืนได้ ในสถานการณ์ที่ท้ายทายมากเช่นนี้สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวไทยคือ จะทำอย่างไรให้คนไทยบอกต่อถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่ ดุสิตธานี x Local Alike จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ร่วมเพื่ออยู่รอด เราอยู่ได้ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ได้ ผู้ประกอบการเพื่อสังคมอยู่ได้ และชุมชนรวมถึงท้องถิ่นก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในที่สุด” ศุภจีกล่าวในท้ายที่สุด