NEXT GEN

แจ้งเตือน ! คนกรุง,คนหัวเมือง,ชาวนาทำนาปรัง “ภัยแล้งปี 64 วิกฤต” มาถึงตัวแล้ว

21 กุมภาพันธ์ 2564…สสน.ชี้ข้อมูลกับ SD perspectives เริ่มตั้งแต่เดือนแรกของปี ในวันที่ดื่มน้ำแล้วรู้สึกเค็ม นั่นคือ“ภัยแล้งปี 64 วิกฤต” เข้ามาถึงในบ้านแล้ว ส่วนคนหัวเมือง ใช้น้ำประปาแล้วรู้สึกน้ำไหลอ่อน “ภัยแล้งปี 64 วิกฤต” มาถึง ส่งผลกระทบชาวนาทำนาปรัง ที่ต้องเลือกระหว่างน้ำบริโภค หรือน้ำทำนาปรัง สสน.ย้ำต้องวางแผนการใช้น้ำ งดสูบน้ำทำนาปรัง

ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ (ซ้าย) และ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมกัน “สื่อสารสถานการณ์วิกฤตน้ำประเทศไทยปี 2564” เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2564 นี้ คาดการณ์ว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด

ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า เหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติเกิดมา 2 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2562-2563 โดยเฉพาะภาคเหนือ มีฝนน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 17 ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีน้อย รวมถึงปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนประมาณ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

“ทำให้ฤดูแล้งปี 2564 มีน้ำไม่เพียงพอต่อ การสนับสนุนการเกษตร ซึ่งภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง เพื่อให้มีน้ำสำหรับ การอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบัน เกษตรกรได้ทำนาปรังแล้วมากกว่า 2.8 ล้านไร่ ทำให้ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองชลประทาน จนน้ำที่ต้องใช้ผลิตน้ำประปาหลายแห่งมีไม่เพียงพอ และเริ่มมีข่าวการแย่งน้ำกันเกิดขึ้น ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2564 นี้ อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย”

เรื่องเดียวกันนี้ ยังเกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา น้ำเค็มเริ่มรุกเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก จนสูงที่สุดเท่าที่มีการตรวจวัดมาในรอบ 10 ปี บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี หรือปากคลองประปา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญของการประปานครหลวงที่ผลิตน้ำให้กับกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกทั้งหมด เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 เวลา 20.40 น. มีค่าความเค็มสูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร นอกจากค่าความเค็มจะเกินมาตรฐานในการผลิตน้ำประปาแล้ว ยังเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำใช้เพื่อการเกษตรด้วย

แม้ปัจจุบันค่าความเค็มจะลดลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงสูง ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก “ปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อย” และการเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ โดยมีอิทธิพลของลมใต้ที่เริ่มพัดปกคลุมทะเลอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ส่งผลให้น้ำทะเลเกิดการยกตัวของระดับน้ำทะเลพัดเข้าสู่อ่าวไทยตอนบน ระดับน้ำที่ตรวจวัดได้จริงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจึงสูงกว่าระดับน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของดวงจันทร์ การยกตัวของระดับน้ำทะเลนี้ จะเสริมให้น้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น

“ที่ผ่านมา เราใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญมาช่วยผลักดันน้ำเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปีนี้ เขื่อนทั้งสองมีน้ำน้อยมาก พอสำหรับใช้ในลุ่มน้ำแม่กลองเท่านั้น อาจมีน้ำเหลือพอที่จะผันมาช่วยฝั่งเจ้าพระยาได้เพียง 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็มอย่างปีที่แล้ว ที่ผันน้ำจากแม่กลองมาช่วยถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งภาครัฐโดยเฉพาะกรมชลประทาน เร่งแก้ไขปัญหา โดยเพิ่มการระบายน้ำเพื่อช่วยลดน้ำเค็มที่รุกตัวเข้ามา แต่การระบายน้ำยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะมีการสูบน้ำออกไปจากแม่น้ำ”

ดร.สุทัศน์ กล่าวถึงหลักสำคัญในตอนนี้คือ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเข้าใจสถานการณ์น้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤต และไม่สูบน้ำไปจากแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่อน้ำกินน้ำใช้ ส่วนประชาชนทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบ จนกว่าจะสถานการณ์ภัยแล้งจะเริ่มคลี่คลาย แม้จะคาดว่าในเดือนเมษายนนี้ อาจจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติและอาจเกิดพายุฤดูร้อน

@สสน. ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสำหรับประมวลผล และเครื่องโทรมาตรที่ใช้วัดปริมาณน้ำฝนแบบเรียลไทม์ในจุดที่เป็นเครือข่าย สสน.ทั่วประเทศ เครื่องใช้ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์ สื่อสารด้วย 2 ซิมที่อบู่ในตู้สีขาว ในกรณีที่ซิมทำงานไม่ได้ระบบจะใช้ดาวเทียม(อุปกรณ์สีดำด้านบน) ทำงานแทน

ดร.รอยล ขยายความเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นตัวอย่าง ในช่วงที่ประเทศไทยประสบภัยแล้ง ปี 2562-2563 ชุมชนต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกับสถาบันฯ 1,773 หมู่บ้าน รอดพ้นจากภัยแล้ง จากการสรุปข้อมูล พบว่า

ชุมชนเข้าไป “ฟื้นป่า”โดยการทำฝายเพื่อเพิ่มน้ำ จากฝายก็ทำต่อในเรื่องน้ำประปาภูเขา สามารถใช้เป็นระบบน้ำอุปโภคบริโภคส่วน “น้ำเพื่อการเกษตร” ชุมชนแก้ปัญหาโดยการดูแลอ่างเก็บน้ำ และทำเป็นระบบสระพวง ทำให้มีน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งการทำการเกษตรจะแตกต่างจากพื้นที่ราบ คือทำเป็นวนเกษตรหรือเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนสามารถแก้ปัญหาความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรวมกันเป็นทีมบริหารจัดการน้ำ

“หลายชุมชนมีความเป็นอยู่เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว คือมีกองทุนของตัวเอง เวลาเกษียณอายุหรือเวลาเจ็บป่วยจะมีเงินช่วยเหลือ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชน เอกชนและรัฐ ไม่ใช่รัฐทำฝ่ายเดียว ยกตัวอย่างเช่น ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน เราเข้าไปฟื้นโดยการทดลองพื้นที่ 2,000 ไร่ เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพด และแทนที่จะปลูกป่าชุมชน เริ่มจากฟื้นฟูฝาย ฟื้นระบบแทงก์น้ำ แล้วปลูกกล้วยนำก่อน 7 เดือน จากนั้นปลูกถั่วดาวอินคา มะนาว มะละกอ ทุเรียน แล้วมี กสทช.เอา 4G เข้าไปในพื้นที่ ชาวบ้านสามารถขายผลผลิตผ่านออนไลน์เกิดธุรกิจ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่า ไม่มีการบุกรุกป่าและทำเป็นวนเกษตรและชุมชนไม่แล้งอีกต่อไป”

ดร.รอยลกล่าวในท้ายที่สุด“ภัยแล้งปี 64 วิกฤต” อาจมีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร ซึ่งภาครัฐพยายามประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง ซึ่งใช้น้ำปริมาณมาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคชุมชน หันมาทำเกษตรวิถีใหม่ ส่วนคนเมืองต้องเริ่มวางแผนการใช้น้ำให้ประหยัดกันมากขึ้น

คลิก อ่านเนื้อหาความสำเร็จของชุมชนบางแห่ง ที่เปลี่ยนจากแล้ง/น้ำท่วม เป็นพื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องนี้

You Might Also Like