4 ธันวาคม 2561…ร้อยละ 85 ขององค์กรธุรกิจทั่วโลก ต้องการได้มาตรฐานด้านความยั่งยืนที่ยอมรับในวงการธุรกิจหรือตลาด และเพื่อเพิ่มโอกาสการหาประโยชน์ทางการเงินใหม่ ๆ
ผลสำรวจใหม่ล่าสุดของธนาคารเอชเอสบีซี ในหัวข้อ ‘Navigator: Now, next and how for business’ ที่ดำเนินการสำรวจบริษัทต่าง ๆ จำนวนกว่า 8,500 แห่งใน 34 ตลาดทั่วโลก พบว่า องค์กรธุรกิจมีแนวโน้มที่จะบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองให้เกิดความยั่งยืน เพื่อปรับปรุงผลกำไรของธุรกิจ
เกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 31) ของบริษัททั่วโลกมีแผนที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของตนเองในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนด้านจริยธรรมหรือสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานขององค์กรธุรกิจ มีแรงจูงใจที่สำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของต้นทุน (ร้อยละ 84) และการปรับปรุงผลประกอบการทางการเงินและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 84 เช่นเดียวกัน)
แนวโน้มดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่บริษัทต่าง ๆ เผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากลูกค้า เพื่อให้กระบวนการสรรหาวัตถุดิบของบริษัทเป็นไปอย่างยั่งยืนและโปร่งใสมากขึ้น ทั้งนี้ จากสัดส่วนราวร้อยละ 80 ของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน สะท้อนว่า หลักฐานรับรองการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Credentials) ของซัพพลายเออร์รายสำคัญและพันธมิตรธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อชื่อเสียงและผลประกอบการของบริษัท
ไบรอัน พาสโค ผู้อำนวยการบริหาร สายงาน Client Coverage ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “จากการที่บรรดาองค์กรธุรกิจต่าง ๆ พยายามค้นหาและลงทุนในวิถีทางที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต แนวคิดในลักษณะมองไปข้างหน้า (Most Forward Thinking) กำลังดำเนินไปสู่การลงมือปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงสู่วิถีแห่งความยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทด้วย”
จากผลการสำรวจ พบว่า กว่าร้อยละ 26 ของบริษัทที่ร่วมการสำรวจคำนึงถึงความโปร่งใสเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ เมื่อต้องการสรรหาซัพพลายเออร์รายใหม่ เนื่องจากผู้บริโภคอยากทราบถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและวิธีการบริหารจัดการบุคลากร สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต
นอกจากนี้ ผู้กำกับนโยบายและนักลงทุนต่าง ๆ กำลังกดดันบริษัทเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เปิดเผยแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งสะท้อนจากผลสำรวจที่พบว่า ร้อยละ 85 ของบริษัทต้องการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐานด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจหรือตลาด
เพื่อเป็นการตอบโจทย์ดังกล่าว บรรดาบริษัทในประเทศตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ จึงมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะยกระดับมาตรฐานด้านจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กว่า 1 ใน 5 ขององค์กรธุรกิจ (ร้อยละ 21) ที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ มีแผนจะยกระดับมาตรฐานดังกล่าวในอีก 2 ปีข้างหน้า เทียบกับร้อยละ 15 ขององค์กรธุรกิจในตลาดที่พัฒนาแล้ว
จากการที่ 1 ใน 5 ของบริษัท (ร้อยละ 20) ระบุว่า บริษัทของตนดำเนินนโยบายกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างเข้มงวดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลนี้ได้สะท้อนถึงโอกาสที่เหมาะเจาะสำหรับองค์กรธุรกิจที่จะประเมินเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานของตนเองและบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ในสถานการณ์การค้าที่ต้องจับตาเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ แผนดำเนินงานของบริษัทบางแห่งได้บรรลุผลสัมฤทธิ์แล้ว โดยร้อยละ 17 ของบริษัทที่ร่วมการสำรวจ อ้างว่า บริษัทของตนสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ไบรอัน กล่าวในท้ายที่สุดว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้นส่งผลดีหลายประการต่อธุรกิจ และบรรดาธนาคารต่าง ๆ ย่อมต้องมีบทบาทสนับสนุนธุรกิจด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เครือข่ายสาขา ความเชี่ยวชาญทางการเงิน เครื่องมือทางการเงิน และความสัมพันธ์ทางธุรกิจของเอชเอสบีซี สามารถช่วยส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดเพื่อบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบัน