วิจัยพบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พบพื้นที่ต่างจังหวัด-ชายขอบประสบปัญหาคุณภาพการสอน เหตุบุคลากรครูไม่เพียงพอ
2 คนรุ่นใหม่พัฒนา Inskruแพลทฟอร์มออนไลน์เพื่อการแบ่งปันเทคนิคการสอน หวังลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ยูเอ็นชี้ประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจังหวัดละ 70,000 คน
สรวิศ ไพบูลย์รัตนากรผู้พัฒนา Inskruแพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับการแบ่งปันเคล็ดลับการสอนสำหรับครูทั่วประเทศ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำที่เกิดระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนจำนวนบุคลากรครูของโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัด โดยครูหนึ่งคนทำหน้าสอนหลายชั้นหลายวิชา ทำให้คุณภาพการสอนในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร
จากผลดำเนินการโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติหรือPISA ในปี 2560 พบว่า นักเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล นักเรียนโรงเรียนสาธิต มีผลการประเมินมากที่สุด ขณะที่นักเรียนต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผลการประเมินต่ำที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังมีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย
นอกจากนี้ จากการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนเด็กด้อยโอกาสจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเฉลี่ยจังหวัดละ 70,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 12,000 ล้านบาทต่อปี
สรวิศ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีครูอยู่ 20% ที่มีประสบการณ์สอนและให้ความสำคัญกับการเตรียมการสอนอย่างมีคุณภาพ ครูเหล่านี้มักเป็นครูรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว มีอายุ 23-35 ปีขณะเดียวกัน ครูกลุ่มนี้พบว่าเทคนิคและแผนการสอนที่คิดขึ้นมานั้นกลับใช้ได้เพียงไม่กี่คาบเรียนที่ได้รับมอบหมายการสอน เนื่องจากครูส่วนใหญ่มีภาระหน้าที่หลายอย่างในโรงเรียนนอกเหนือจากการเรียนการสอน ได้แก่ งานการประกันคุณภาพ งานเอกสาร งานกิจกรรมและงานธุรการ
สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ชลิพา ดุลยากร ผู้ร่วมก่อตั้ง Inskru (นั่ง) และคุณครูพัชริยา ปานสิงห์ ครูโครงการ Teach for Thailand รุ่นที่ 4 โรงเรียนพระบางวิทยา จังหวัดนครสวรรค์ นำเทคนิคการสอนใน Inskruไปใช้กับเด็กๆ แล้ว เกิดการ Engageระหว่างนักเรียนกับครูมาก
นอกจากนี้ เทคนิคการสอนเหล่านี้ยังขาดช่องทางในการนำไปแบ่งปันสู่ครูที่สอนเรื่องเดียวกันในโรงเรียนอื่น ขณะเดียวกันยังมีครูในต่างจังหวัดที่มีความต้องการแผนการสอนที่มีคุณภาพ รวมถึงไอเดียการทำสื่อต่างๆ ที่จะช่วยให้ตนนำไปต่อยอดในการสอนในห้องเรียนได้ดีขึ้น
“ จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้น จึงได้คิดค้นแพลทฟอร์มออนไลน์เพื่อการแบ่งปันการไอเดียและแผนการสอนที่ชื่อว่า Inskru ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีทางการศึกษา (EdTech) ที่เปิดให้คุณครูทั่วประเทศจำนวนกว่า 500,000 คนสามารถแบ่งปันแผนการสอน สื่อการสอน ชีทแบบฝึกหัด และเทคนิคการสอนต่างๆ เปิดมุมมองการสอนและขยายไอเดียดีๆ สู่ห้องเรียนทั่วประเทศ โดยครูผู้ใช้สามารถให้เรตติ้ง คอมเมนต์และคำติชม เพื่อต่อยอดไอเดียและให้กำลังใจผู้แบ่งปัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กไทยกว่า 10 ล้านคน ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมผ่านคุณครูของพวกเขาเอง”
นอกจากนี้ ยังจัดเป็นหมวดหมู่ให้ครูค้นหาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ประกอบกับการสร้างกลุ่มเฟซบุ๊ก เพื่อประชาสัมพันธ์และแบ่งปันข้อมูลจากเว็บไซต์ เพื่อให้ครูเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“ผมเชื่อว่า ประเทศไทยมีคุณครูที่มีไอเดียดีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไอเดียที่ดีในมุมนึงของประเทศ สามารถส่งต่อไปให้ครูอีกมุมหนึ่งของประเทศที่มีบริบทเดียวกันสร้างห้องเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้นได้ ผมหวังว่า Inskru จะทำให้วันหนึ่งเด็กไทยกว่า 10 ล้านคน จะได้สัมผัสห้องเรียนคุณภาพจากคุณครูของพวกเขาเอง”
ทั้งนี้Inskru เป็นหนึ่งใน 10 ทีมสุดท้ายผู้ผ่านการคัดเลือกจากกรรมการในโครงการดีแทคพลิกไทยได้รับเงินทุนเบื้องต้น 100,000 บาทในการพัฒนาไอเดียเพื่อการพัฒนาสังคม
คุณครูสามารถแบ่งปันไอเดียการสอนเจ๋งๆ ได้ที่ www.inskru.com