NEXT GEN

กสิกรไทย หนุนการซื้อคาร์บอนเครดิตโครงการ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ของอปท.สะท้อนการจะเปลี่ยนเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอยู่ในมือทุกคนทำได้

3 กรกฎาคม 2566…ธนาคารกสิกรไทยใช้เม็ดเงินจำนวน 816,400 บาทในการซื้อคาร์บอนเครดิต จำนวน 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งรับรองโดยอบก.นั้น นับเป็นครั้งแรกที่มีความหมายมาก เพราะเกิดจากการลงมือทำโดยประชาชน ซึ่งจริง ๆ เราทุกคนทำได้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยกระทรวงมหาดไทยก็เป็นผู้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิต

กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผนึกกำลัง UN Thailand และ ธนาคารกสิกรไทยประกาศความสำเร็จการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่อง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมคณะผู้แทนหน่วยงานใน UN Thailand ขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง อาทิ โชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง ชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ผู้แทนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีของกระทรวงมหาดไทย ร่วมงาน “กระทรวงมหาดไทยประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน (MOI’s Success on Food Waste Management for Climate Action and a Commitment to Sustainable Thailand)”

สุทธิพงษ์ และ ดร.วันดี ได้สรุปถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” จากชุมชนแห่งหนึ่งจังหวัดลำพูนมีงานเลี้ยง และจัดการแยกขยะในแบบที่เป็นปกติ ไม่มีการบังคับ และใช้ “เสวียน”เป็นหลักเป็นถังขยะระบบเปิด จากจุดนั้นได้พัฒนาเป็น“ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” และได้ร่วมมือกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วยเรื่องการรับรองระเบียบวิจัย (Methodology)ในการบริหารจัดการขยะของถังขยะเปียกลดโลกร้อน และส่งให้ อบก. รับรองคิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตร่วมกับหน่วยงานภายนอก

ในเวลาเดียวกัน ดร.วันดี ได้เชื่อมต่อมาถึงการขับเคลื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกับองค์การสหประชาชาติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) คือ การรักษาโลกใบเดียวนี้ให้มีอายุยืนยาว ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้การใช้ชีวิตของตัวเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ระบบนิเวศ สภาวะแวดล้อมเหมาะกับลูกหลานของเราเพื่อที่จะสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจัยความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลางแต่ “ส่วนกลางเป็นจุดเริ่มต้นในฐานะผู้นำ” ที่ต้องแสดงให้ “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการทุกส่วนของกระทรวงมหาดไทยและผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น” จนกระทั่งโครงการดังกล่าวกลายเป็นนวัตกรรมแรกที่เกิดในประเทศไทย และทางสหประชาชาติยอมรับนวัตกรรมดังกล่าวนี้

กฤษณ์ กล่าวว่า ธนาคารตระหนักและให้ความสำคัญต่อการเร่งแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยและประชาคมเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ จึงได้ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานของธนาคาร และร่วมมือกับพันธมิตรภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน

การได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับกระทรวงมหาดไทยมีความสำคัญมาก ด้วยการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชนนำร่อง 4 จังหวัด ในโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ โดยธนาคารรับซื้อทั้งหมด 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้รับการรับรองจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกเรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือนผ่านกลไกของรัฐและภาคประชาสังคมแบบบูรณาการแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รายได้ที่ชุมชนได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตในการดำเนินโครงการ จะกลับคืนสู่ประชาชนและครัวเรือนที่เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการพัฒนาตามความเห็นชอบของประชาคมในพื้นที่ต่อไป

“การลงมือทำเรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ดีมาก คือ ทำให้ขยะเปียกมีค่า เกิดเป็นคาร์บอนเครดิตที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้การรับรอง สร้างรายได้กลับมา นับเป็นเรื่องสำคัญและทรงพลังมาก มิฉะนั้นวงจรความยั่งยืนจะไม่หมุน เพราะทำไปสักพักก็เบื่อแล้ว ตัวอย่างวันนี้ ที่ทำคาร์บอนเครดิต ส่งผลให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว สามารถซื้อขายได้ และมีรายได้ไปหล่อเลี้ยงในชุมชนได้”

ทั้งนี้ กสิกรไทยเป็นธนาคารรายแรกที่นำร่องซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ด้วยราคา 260 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยคาร์บอนเครดิต จากโครงการประเภท Waste Management ซึ่งราคาตลาดอยู่ระหว่าง 200-320 บาทต่อตัน

กีต้า ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมความคิดริเริ่มต่าง ๆ เช่น โครงการคัดแยกขยะที่เป็น “ตัวเร่งSDGs” ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระของชาติเรื่อง Bio – Circular – Green Economy : BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกนี้คือหมุดหมายสำคัญจากการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นแบบทั้งองคาพยพ ทั้งภาครัฐ-สังคม 14 ล้านครัวเรือน ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารธนาคาร และหน่วยงานสหประชาชาติ (United Nations)

“สิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมประเทศให้มีต้นแบบตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใสเป็นรูปธรรมด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ตลอดมา”

 

You Might Also Like