9 ธันวาคม 2563…ก.ล.ต. ลงนาม MOU กับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมจัดทำหลักสูตรอบรมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน และร่วมพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ลงนาม MOU เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
“ความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรอบรมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย เป็นการตอบโจทย์ที่ ก.ล.ต. เป็นหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผน NAP โดยนำหลักการชี้แนะฯ UNGPs มาใช้ เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนให้คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและสามารถผนวกเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินธุรกิจตามความเหมาะสม และสามารถจัดทำข้อมูลด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเปิดเผยในแบบ 56-1 One report ในปี 2565 ตอบสนองความคาดหวังของผู้ลงทุนทั่วโลกที่ให้ความสนใจและใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น”
รื่นวดีกล่าวต่อเนื่องว่า ปี 2564 ต้องทำให้เสร็จ แต่ต้องเข้าใจบริษัทเล็กด้วยว่ามีอะไร ไม่สามารถนำสิ่งที่อยู่ในบริษัทใหญ่มาเป็น One Size Fit All เพราะแต่ละบริษัทมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันออกไป ปัจจุบัน ก.ล.ต.ขอข้อมูลการเปิดเผยข้อมูลของบจ.ใหญ่ ๆ มาหมุนเวียนให้คนอ่าน เรื่องไหนตรงก็นำไปใช้ได้ ไม่ได้มีถูกกับผิด มีเฉพาะคำว่า คุณทำอะไรที่คุณคิดว่าใช่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ใช่ในเรื่องสังคมธรรมาภิบาล และใช่ในสิทธิมนุษยชน ก็นำข้อมูลใส่มา ส่วนเรื่องที่น่าจะเข้าใจมากสุดคือเรื่องธรรมาภิบาล เพราะเวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว ดังนั้นคำถามน่าจะเป็นเรื่อง สิ่งแวดล้อมคืออะไร? สิทธิมนุษยชนคืออะไร? น่าจะเป็นสิ่งที่จะต้องเริ่มก่อน ซึ่งก.ล.ต.และคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จะสนับสนุนการดำเนินงานใน 2 ส่วน ได้แก่
1.ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรอบรมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยตามที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights (แผน NAP) โดยใช้หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (หลักการชี้แนะฯ UNGPs) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ โดยการประชุมคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน” ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้จัดทำและกำหนดโครงสร้างหลักสูตรอบรมและสัมมนา
“เรามองในเนื้อหาหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน ประเด็นสิทธิมนุษยชนทางสังคมต่างๆ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถให้ความคุ้มครอง ให้ความเคารพ หรือมีกลไกลที่จะลดผลกระทบ เยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ นอกจากเราจะมองว่า หลักการทางสากลมีความสำคัญแล้ว เราต้องมองบริบทสังคมไทย รวมถึงภาคปฏิบัติของบริษัทต่างๆด้วย ทำอย่างไรจึงจะสามารถให้หลักการเหล่านั้นออกมาใช้ได้จริง ไม่เป็นภาระมากเกินไปสำหรับบริษัท ขณะเดียวกันยังสามารถยืนหยัดบนเวทีสากลได้ว่า เรามีความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน นี่คือเป้าหมาย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ขยายความต่อเนื่อง ถึงรูปแบบของจะดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรนี้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบริษัทขนาดกลางและเล็ก ซึ่งน่าจะได้ผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ โดยจะดูว่าบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งทำเรื่องนี้อยู่แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางสำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็กได้อย่างไรบ้าง
2.ความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสนับสนุนการออกกฎหมายลำดับรอง และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะมีผลบังคับใช้พฤษภาคม 2564 โดยในส่วนนี้ทางคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สามารถลงมือจัดการอบรมได้ทันที เพราะได้ศึกษาเรื่องนี้มาแล้ว 3 ปี
“ระหว่างทางตรงนี้ ก.ล.ต.ตั้งคลินิกให้คำปรึกษาทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว หากบริษัทมีปัญหา ไม่แน่ใจเรื่องเหล่านี้โทร.มาหาเรา หรือใช้แพลตฟอร์มถามได้ เราเสมือนโค้ชช่วยเหลือ เพื่อบริษัทจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ อย่างไรก็ตามหากบริษัทไม่ทำ ก็อาจจะอยู่ในสังคมนี้ได้ลำบาก เพราะอย่าลืมว่า มุมมองนักลงทุนวันนี้ มองหาสิ่งนี้” รื่นวดี กล่าวในท้ายที่สุด