12 พฤศจิกายน 2563…ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง ESG (E-Environment สิ่งแวดล้อม S-Social สังคม และ G-Governance ธรรมาภิบาล) มากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในตราสารหนี้ ESG ขยายตัว โดยข้อมูลล่าสุดของเดือนกันยายน 2563 มูลค่าอยู่ที่ 340,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39% เทียบกับปี 2562
พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน(ขวา) และ ประกอบ เพียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าบรรษัทขนาดใหญ่ และรักษาการผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรี ร่วมพูดคุยถึงเป้าหมายสู่ความยั่งยืนของกรุงศรี 2020
ธนาคารมุ่งเน้นดำเนินการตามแนวทางการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนเรื่อง ESG (E-Environment สิ่งแวดล้อม S-Social สังคม และ G-Governance ธรรมาภิบาล) อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังตั้งเป้าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความยั่งยืนมากที่สุดของไทยในปี 2023
ทั้งนี้ เป้าหมายสู่ความยั่งยืนของกรุงศรี 2020 ตั้งแต่ไตรมาส 2-4 / 2020 เป็นต้นไปได้เริ่มเห็น
-เผยแพร่รายงานผลกระทบเชิงบวกของพันธบัตรเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสตรี
-อบรมให้ความรู้แก่พนักงานด้าน ESG และบูรณาการระบบ ESMS
-ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ WWF (Thailand) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้าน ESG (ปีที่ 2)
-จัดทำจรรยาบรรณคู่ค้า
-สนับสนุนลูกค้าในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึงมิติ ESG เช่น Green Bond, ESG Bond
-พิจารณาทบทวนพอร์ตโฟลิโอและวิเคราะห์สถานการณ์
-ผนวกเป้าหมายด้าน ESG และกำหนด KPI ในแผนธุรกิจระยะกลาง (2021-2023)
พูนสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบัน การออกหุ้นกู้ ESG มีหลายประเภท ทั้งหมดอยู่ภายใต้ เป้าหมาย 17 เรื่องของสหประชาชาติ หรือ UN 17 SDG Goals เช่น ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐาน การประหยัดพลังงาน การจัดการของเสีย การลดมลภาวะ Climate Change ฯลฯ
ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) เช่น ตราสารหนี้ เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน สินเชื่อสนับสนุน SME ความมั่นคงด้านอาหาร การพัฒนาที่อยู่อาศัย สนับสนุนการจ้างงาน ฯลฯ
สำหรับลูกค้ารายย่อย ในส่วนนี้ ธนาคารทำได้ดีในเรื่องของนาโน และพิโก ไฟแนนซ์ ไมโคร เอสเอ็มอี ผ่านบริษัทในเครือคือ เงินติดล้อ
ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีมีส่วนร่วมในการออกหุ้นกู้ Green Bond และ Social Bond ของกระทรวงการคลัง (วงเงิน 30,000 ล้านบาท) หุ้นกู้ Green Bond ของบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) และบริษัทโกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) -GPSC (วงเงิน 2,000 ล้านบาท)
จากการศึกษาของธนาคารกรุงศรีพบว่า นอกจากธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ในมิติของอุตสาหกรรม แนวโน้มธุรกิจที่มีความต้องการเงินทุนสูงคือ พลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจอาหาร
ช่วง 9 เดือนของปี 2563 ธนาคารและพันธมิตรร่วมกันออก ESG Bond Green Bond และ Social Bond มูลค่ารวม 37,000 ล้านบาท โดยคาดว่า สิ้นปีจะเพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีตั้งเป้าว่าตราสารหนี้ภายใต้การบริหารจัดการจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%
ประกอบให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พัฒนาการล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับ ESG คือ Sustainability Link Loan: SLL หรือสินเชื่อที่เชื่อมโยงการดำเนินงานของบริษัทกับความยั่งยืน
SLL เป็นการให้สินเชื่อ โดยกำหนดตัวชี้วัด ระหว่างผลการดำเนินงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้กับระยะเวลาของการเกิดความยั่งยืน โดยหากทำได้ตามเป้าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา และกำหนดมาตรฐานที่เห็นพ้องร่วมกัน เพื่อการปล่อยสินเชื่อในอนาคต
“เรามีการกำหนดตัวชี้วัด หรือ KPI ว่าจะมีปัจจัยในการพัฒนาความยั่งยืนเรื่องใดบ้าง ก็จะมีการตกลงกัน เช่นอาจจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือสิ่งต่างๆที่ปล่อยออกไป”
ขณะที่สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างการร่างกฎระเบียบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/64
นับได้ว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นกู้ ESG เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีความต้องการของนักลงทุนสูงมาก แต่ตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทนี้ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด
“โดยสรุปธนาคารมองว่า ESG เป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยงสำหรับธนาคารพาณิชย์ ถ้าเราสามารถสร้างการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อได้ ESG ก็จะเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญ” ประกอบกล่าวในท้ายที่สุด
เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง