18 ตุลาคม 2561…รู้ทันทีที่คนแก่จะล้ม, เกล็ดเลือดขอปุบได้ปับ,โปรตีนลดความรุนแรงมะเร็งปอด,อนุรักษ์ประการังในอุณหภูมิทะเลที่เปลี่ยนไป, สารที่มีความบริสุทธิ์สูงและมีความสำคัญในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางและเคมีวิเคราะห์นั้นเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก
บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เดินหน้าโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2561 เป็นปีที่ 16 ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการฯ และสานต่อการสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
“ลอรีอัลเชื่อมั่นมาตลอดว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล และเป็นหัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย ดำเนินโครงการมาแล้วกว่า 16 ปี ได้เป็นเสมือนกำลังใจและแรงสนับสนุนนักวิจัยสตรีของไทยให้เดินหน้าสร้างผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของพวกเขาให้ประสบผลสำเร็จ ในปีนี้ล้วนมุ่งพัฒนาทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่าองค์ความรู้จากผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าเหล่านี้จะสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศและโลกของเราได้ต่อไป”
อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงความตั้งใจของบริษัท และปีนี้ นักวิจัยสตรีทั้ง 5 คน จาก 2 สาขา คือ
1.สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
-ดร. จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง”
ประเทศไทยมีเกล็ดเลือดไม่พอต่อการใช้งานอย่างทันท่วงที จะเรียกว่าต้องจองคิวขอเกล็ดเลือด 1-2 วันคงไม่ผิดนัก แต่ข้อเท็จจริงคือ คนป่วยต้องการเกล็ดเลือดอย่างเร็วที่สุด ยกตัวอย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งบางคนต้องใช้เกล็ดเลือด ส่วนใหญ่แพทย์จะเป็นคนโทรประสานงานขอด้วยตนเอง เอาเป็นว่าถ้าฟลุค!โทรเช้าบ่ายให้เกล็ดเลือดคนไข้ได้เลย ดังนั้นหากวิจัยสำเร็จ ผู้ป่วยก็ไม่ต้องรอลุ้นว่าจะฟลุคไหมที่จะได้เกล็ดเลือดมาอย่างรวดเร็ว
-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. วริษา พงศ์เรขนานนท์ จากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAP ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอด”
มะเร็งปอด ไม่ได้มีต้นเหตุจากการสูบบุหรี่อย่างเดียว แต่มีหลายสาเหตุมาก ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดจำนวนมาก อีกทั้งเซลล์มะเร็งปอดยังเป็นเซลล์ที่มีความรุนแรงสูง มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีการดื้อต่อยาเคมีบำบัดสูง เมื่องานวิจัยสำเร็จ จะสามารถนำไปสู่การหาโมเลกุลเป้าหมายของการออกฤทธิ์ของยาต้านมะเร็ง และอาจสามารถนำไปสู่งานวิจัยต่อยอดในการค้นคว้าพัฒนายาต้านมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิผลได้ต่อไปในอนาคต
-ดร. วิรัลดา ภูตะคาม จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมิน ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน”
เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับการปิดอ่าวมาหยา เพื่อการฟื้นฟูปะการังและระบบนิเวศน์ในพื้นที่ หลังจากที่ถูกคนจำนวนมากเที่ยวชมแล้วกลายเป็นการทำลายปะการังโดยไม่รู้ตัว เรื่องนี้เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลกโดยเฉพาะการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลเป็นปัจจัยคุกคามที่ทำลายแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างมาก จึงต้องค้นหาพันธุ์ปะการังที่ทนต่ออุณภูมิโลกที่เปลี่ยนไป งานวิจัยจะช่วยทำนายโอกาสในการอยู่รอดของแนวปะการังไทยเมื่อสภาวะแวดล้อมเกิดการแปรปรวนในอนาคต เป็นประโยชน์แก่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการคัดเลือกปะการังเพื่อนำไปขยายพันธุ์ก่อนทำการย้ายปลูกกลับสู่ทะเลภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังให้ดำรงสภาพสมบูรณ์อย่างยั่งยืนได้ต่อไป
2.สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ
-ดร. จุฬารัตน์ วัฒนกิจ จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้า”
ปัจจุบัน สารอิแนนทิโอเมอร์ (Enantiomer) ที่มีความบริสุทธิ์สูงและมีความสำคัญในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางและเคมีวิเคราะห์นั้นเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดทั้งทางด้านการพัฒนากระบวนการแยกสารและการผลิต การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้าเพื่อให้ได้สารที่ต้องการนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่องานวิจัยสำเร็จ สามารถประยุกต์ใช้งานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมทางเคมีวิเคราะห์ ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตยาลดลง ส่งผลทำให้ราคายาและเครื่องสำอางลดต่ำลงอีกด้วย
-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรภา เทียมจรัส จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กับผลงานวิจัยหัวข้อ “ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย”
นำเทคโนโลยีโครงข่ายเซนเซอร์ร่างกายและ IoT มาใช้สนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย เริ่มต้นจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้จากผู้ดูแล ผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุจากหลายๆ แหล่ง เพื่อนำมาพัฒนาอุปกรณ์และระบบสำหรับเฝ้าระวัง ตรวจจับ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาแผลกดทับและการลื่นหกล้ม เป็นต้น เซนเซอร์อัจฉริยะขนาดเล็กจะคอยเฝ้าระวังผู้สวมใส่และแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลหากมีเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์เกิดขึ้น หรือผู้สวมใส่อยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ไม่ใช่ว่า “ล้มแล้วค่อยเตือน” คงไม่มีประโยชน์อะไร
อรอนงค์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า ผลงานวิจัยแต่ละหัวข้อที่ได้รับทุนวิจัยต้องผ่านการคัดเลือกที่คำนึงถึงความยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติเป็นหลัก นอกเหนือจากนั้นแล้วคุณค่าของงานวิจัยที่จะสร้างประโยชน์แก่สังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมไปถึงจริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และต้องเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย ก็จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์จากสาขาต่างๆ ของประเทศไทย เช่นกัน