NEXT GEN

Food Safety ไม่พอ ! ต้องเท่าเทียม,รู้ถึงทรัพยากรอาหาร ,Food Waste เพื่อความยั่งยืนด้านอาหาร

10-11 กุมภาพันธ์ 2563…SB’20 Chantaboon Moonshots to Dream Food เปิดเวทีเสวนานานาชาติเพื่อหาความหมายอาหารที่ยั่งยืน อาหารที่ใช่ อาหารที่ควรจะเป็น อาหารสำหรับทุกคนในสังคมควรจะเป็นอะไร ในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ผลไม้และวัฒนธรรมการกินอีกแห่งหนึ่งของไทย คือจันทบุรี

ทำไมเป็นจังหวัดจันทบุรี

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล SB Thailand Country Director กล่าวถึงการจัดงาน Sustainable Brands ที่จะเข้าสู่ปีที่ 6 ในวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์นี้ ที่ มรภ.รำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี นับเป็นการตอกย้ำการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ลงลึกแบบ Issue Based ครั้งที่ 3 บนเวทีเสวนานานาชาติ

“2 ครั้งที่ผ่านมาจากคุ้งบางกระเจ้า สู่ชุมพร และมาถึงที่จันทบุรีปีนี้ เราเอาโจทย์ของชุมชนมาเป็นโจทย์ของการทำงาน เพราะก่อนที่เราจะจัดงานจะต้องไปศึกษาว่าชุมชนต้องการอะไร Issue ของเขาคืออะไร นอกเหนือจากสิ่งที่เราเสนอแล้ว ตรงกับสิ่งที่ชุมชนต้องการหรือไม่ เรื่องราวจึงถูกร้อยมาจนกระทั่งถึงที่จันทบุรี หอการค้า และชุมชนอยากเห็นเมืองจันทบุรี มีความเป็นออแกนิคมากขึ้น SB Thailand ตอบโจทย์จันทบุรี ก็คือช่วยตอบโจทย์ทุกจังหวัดที่ทำเรื่องอาหาร ไม่ว่าจะป็นระยอง หรือตราด โดยมีจันทบุรีเป็นกรณีศึกษา การที่ไปสัมผัสชุมชน เราจะได้รู้และนำ Global Knowledge เข้าไปให้โดยที่ไม่สูญเปล่า”


เรื่องของ “อาหาร” นับเป็นความท้าทายเรื่องใหม่ ๆ ทั้งนวัตกรรม ความคิด ไม่ต่างอะไรจากการเดินทางไปดวงจันทร์ หรือ Moonshots และเมื่อเป็น Moonshots to Dream Food สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการแสวงหา ค้นหาสิ่งที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องอาหารที่ดี มีคุณภาพ และสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่ของอาหาร ซึ่งรวมชุมชนด้วยจะต้องเป็นแบบใด

ดร.ศิริกุล กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเรื่องอาหารชื่อจังหวัดจันทบุรี ถูกเลือกขึ้นมาด้วย 3 เหตุผลคือ

1.เป็นพื้นที่ Tropical Fruit  ผลไม้ที่เป็นผลไม้หน้าร้อนมากมาย เป็นผลไม้ของประเทศ
2.เป็นพื้นที่มีอาหารทะเลมากมาย
3.เป็นพื้นที่มีวัฒนธรรมการปรุงอาหารไม่เหมือนใคร

“จันทบุรีเป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร หอการค้าจันทบุรีมีความเข้มแข็งมาก ซึ่งการทำงานแบบนี้ เมื่อชุมชนเอาด้วย ภาคธุรกิจเอาด้วย โอกาสที่งานสำเร็จ และยั่งยืนในชุมชนต่อไปมีโอกาสมาก”

 

ใครเป็นใครบนเวทีโลกด้านความยั่งยืนอาหาร

ในวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ จะเป็นเวทีที่นักคิดนักปฏิบัติที่ร่วมสร้าง “ความยั่งยืนทางด้านอาหาร” มาแลกเปลี่ยนประสบกาณ์ โดย Global Knowledge ในครั้งนี้เช่น

-Marc Buckley (มาค บัคลี่) เคยกล่าวว่า “หนทางหนึ่งที่สำคัญในการหยุดปัญหาภาวะโลกร้อนได้นั้นคือการปฎิรูประบบอาหารด้วยการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารเพราะอาหารคือสิ่งที่เราต้องทานอยู่ทุกวัน เราจะไม่สามารถรอไปอีกสี่หรือห้าปีเพื่อหาทางแก้ปัญหาได้อีกต่อไป”

มาค บัคลี่ เป็นที่รู้จักในฐานะตัวแทนหรือแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ UN ในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goal), นักอนาคตวิทยาของ UN, สมาชิกผู้เชี่ยวชาญของ World Economic Forum ในเรื่องสภาวะโลกร้อนกับการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม, นักปฎิรูปอาหารระดับโลก, ผู้ชนะเลิศของ Global Citizen ในการขับเคลื่อนสังคมให้สนับสนุนการขจัดความยากจนขั้นรุนแรง ผู้อำนวยการประจำประเทศเยอรมันและออสเตรียในโปรเจคสภาวะโลกร้อนของอัลกอร์ (Al Gores) รวมทั้งเป็นนักพูดระดับสากลในเรื่องวิกฤตโลกร้อน และนักอนาคตวิทยาในด้านความยั่งยืน

-Mark Brand จากคนไร้บ้านมาสู่เชฟที่มีชื่อเสียงทำให้ Mark Brand ต้องการให้ “อาหาร” เป็นตัวแทนในการเปลี่ยนชีวิตคนให้ดียิ่งขึ้น เพราะ Mark เชื่อว่า อาหารคือตัวแทนของความรัก และความห่วงใยที่เรามีต่อคนอื่นและสามารถส่งต่อให้คนอื่นได้

หลังจากประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจและร้านอาหารแล้ว Mark จึงมีความตั้งใจในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่หิวโหยและขาดโอกาสในชีวิต ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าคนไม่ได้รับอาหารคุณภาพที่ดีจะส่งผลต่อทั้งสุขภาพและประสิทธิภาพในความคิดของเขา

3 เรื่องหลักที่ Mark ทำคือ

1) Food Security มี 2 โปรแกรมสำคัญคือ
-Token Program คือเหรียญที่คนสามารถมาซื้อได้ที่ร้าน Save On Meats และนำเหรียญไปให้แก่ผู้หิวโหย เพื่อบอกว่าเขาสามารถไปรับอาหารดีๆ ได้ที่ร้านนี้ เพราะเขาเชื่อว่า บางครั้งคนที่อยากช่วยก็อายที่จะไปยื่นเงินให้กับคนอื่น ซึ่งเหรียญนี้คือสะพานเชี่อมระหว่างผู้ให้ที่ต้องการช่วยเหลือคนอื่นและผู้รับที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่ดี ซึ่งปัจจุบันมีคนมาซื้อเหรียญนี้สูงถึง 110,784 เหรียญ
-Meal Program เป็นโปรเจคที่ Mark ต้องการทำอาหารที่มีคุณภาพดี และทำจากวัตถุดิบท้องถิ่นในราคาที่ไม่แพง ให้แก่สตรีและเด็กไร้บ้านหรือที่ถูกทำร้าย ปัจจุบันมีกว่า 850 คนที่ได้รับอาหารจากโปรแกรมนี้ในทุกๆ วัน

2) Education & Training ด้วยความเชื่อว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นต้องได้รับการศึกษาและการฝึกฝนที่ดี ซึ่งในความเป็นจริงคนที่ไม่มีฐานะและขาดโอกาสในชีวิตจึงไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายได้ Mark จึงเริ่มเปิดสอนคนเหล่านี้ฟรี และให้พวกเขาสามารถหางานในวงการอาหารได้ด้วยการพาร์ทเนอร์กับธุรกิจร้านอาหารในชุมชนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนถึง 318 คนแล้ว และยังมีพาร์ทเนอร์กับองค์กรต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมเรื่องการสอนการทำอาหารให้กับคนที่ขาดโอกาสในสังคมอื่นๆ อีกหลายโปรเจค

3) Employment Mark ยังช่วยหางานให้ผู้พ้นโทษ ผู้มีความพิการทางร่างกาย ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต คนที่เคยติดยามาก่อน หรือคนที่ขาดโอกาสในการหางานเพราะประวัติที่ไม่ดี ซึ่ง Mark เชื่อว่าการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม ด้วยสถิติที่ผ่านมาคนเหล่านี้เมื่อได้รับโอกาสจะอยู่กับองค์กรนานกว่าพนักงานปกติถึง 72% และธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าธุรกิจด้วยซ้ำไป และที่สำคัญคนเหล่านี้มีพลังงานบวกในกับงานและความตั้งใจที่ดีต่อโอกาสที่เขาได้รับ ปัจจุบันร้าน Save On Meats ของ Mark นั้น 48% คือการจ้างงานผู้ขาดโอกาสในสังคม

-Charles E. McJiltonb มองเห็นทุก ๆ ปีประเทศญี่ปุ่นจะมีอาหารเหลือทิ้งสูงถึง 17.8 ล้านตันต่อปี ในทางตรงข้าม 1 ใน 6 ของประชากรในประเทศญี่ปุ่น อยู่ภายใต้เส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) หรือมีระดับรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ โดยอาหารเหลือทิ้งหรือ Surplus Food แม้จะยังทานได้ แต่มักถูกกำจัดทิ้งเพียงเพราะบรรจุภัณฑ์มีตำหนิจากการขนส่ง ป้ายวันหมดอายุติดวันที่ผิด การสต็อกของที่เกินพอดี สินค้าที่ใกล้หมดอายุ หรือเหตุผลอื่นๆ

Second Harvest Japan จึงเกิดขึ้นโดยมีแนวคิดที่จะส่งผ่านอาหารเหลือทิ้งหรือ Surplus Food ไปยังตัวแทนพันธมิตรที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ไม่ว่าจะเป็น สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ที่พักพิงสำหรับผู้หญิง หน่วยงานช่วยเหลือคนขาดอาหารและอื่นๆ โดยอาหารเหลือทิ้งที่ Second Harvest Japan รับบริจาคคืออาหารก่อนหมดอายุหนึ่งเดือน และไม่รับอาหารที่ไม่มีฉลากบอกวันหมดอายุ สร้าง 3 ข้อดีคือ

1.ข้อดีต่อหน่วยงานพันธมิตรคือ สามารถลดค่าใช้ง่ายต่อมื้อได้ถึงสี่สิบเปอเซนต์และได้รับอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้นจากหลากหลายแบรนด์ที่ช่วยบริจาค

2. ข้อดีต่อแบรนด์ที่บริจาคคือ ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดสินค้าและลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากกำจัดอาหารเหลือทิ้ง ทำให้พนักงานรู้สึกภูมิใจต่อแบรนด์

3.ข้อดีต่อหน่วยงานรัฐคือ บรรลุเป้าหมายการลดขยะ และได้ช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน ส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการกินของคนด้วยระบบอาหารหมุนเวียนที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน Second Harvest Japan ได้รับบริจาคอาหารจากแบรนด์อาหารกว่า 431 แบรนด์และได้ส่งต่อไปยังหน่วยงานพันธมิตรกว่า 320 หน่วยงานด้วยคอนเซปง่ายกว่าเปลี่ยนจาก Waste ไปสู่ Thanks

-Chris Oestereich ผู้ร่วมก่อตั้ง Circular Design Lab ที่มีส่วนช่วยให้แบรนด์ต่างๆ นำเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy มาปรับใช้ในองค์กร ด้วยประสบการณ์การออกแบบ Zero Waste โปรแกรมให้แก่ร้านค้าปลีกแบรนด์ Albertsons และ SuperValu ในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 200 สาขาและ 15 ศูนย์กระจายสินค้า

โปรแกรมนี้ทำให้แบรนด์ทั้งสอง ประหยัดเงินไปหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐ และลดขยะเหลือทิ้งไปได้มากกว่า 90% นอกจากนี้คริสยังเป็นทั้งนักเขียน และอาจารย์สอนหลักสูตรเกี่ยวกับความยั่งยืนเพื่อสังคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ก้าวข้ามความท้าทายแนวคิดด้านอาหารแบบเดิม

ดร.ศิริกุล กล่าวต่อเนื่องถึงความโดดเด่นของ SB’20 Chantaboon ไม่ใช่เพียงเรื่องอาหารธรรมดา แต่เมื่อเห็น Moonshots จะเกิดความท้ทายมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนพื้นที่เป็นออกานิก

“เราจะมีเซคชั่น Zero Fruit Waste เหล่านี้คือเรื่อง Circular Economy นอกจากนี้เป็นการกระจายโอกาสให้คนในสังคมเข้าถึงอาหารคุณภาพ คือ Chefs ฟอร์ Chance โดยเราแบ่งคนเป็น 4 กลุ่ม ผู้ต้องขังในเรือนจำ คนชราในบ้านพักคนชรา เด็กในสถานกำพร้า หรือสาถนอื่นๆ เขาต้องมีสิทธิในการเข้าถึงอาหาร และพระ เรามี 5 เชฟ ไปสอนการทำอาหารผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้มีทักษะการทำอาหาร แม้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เขาทำมาแล้วทั้งโลก แต่ที่เราทำในฐานะที่เราเกี่ยวข้องกับแบรนด์ เชฟที่ไปสอนนี่พร้อมให้โอกาสนักโทษทุกคนที่จะต้องออกจากเรือนจำ อยากประกอบอาชีพเรื่องอาหาร มีโอกาสโคแบรนด์ เช่นหมูทอดสูตรเจ้จง เพื่อให้มีโอกาสสร้างรายได้ กลับเนื้อกลับตัว”

รายชื่อเชฟประกอบด้วย
-เชฟเจ๊จง ร้านหมูทอดเจ๊จง
-เชฟพี่หนึ่ง สลัดไฮโซ
-เชฟเนตร ที่สั่งสมประสบการณ์จาก Le Cordon Bleu และร้านอาหารชื่อดังมากมาย
-เชฟจากัวร์ เจ้าของฉายา “พ่อครัวข้าวแกงเงินล้าน”
-เชฟพลอย Top Chef Season 2 ครูสอนทำอาหารและขนมร้าน A Little Something
-เชฟปริญญ์ ร้านสำรับสำหรับไทย และอดีตหัวหน้าพ่อครัวแห่ง Nahm
-เชฟผู้ช่วยอีกมากมาย ที่มาร่วมพัฒนาทักษะให้กำลังใจ แบ่งปัน การเรียนรู้และการสู้ชีวิต

ดร.ศิริกุล กล่าวต่อเนื่องในส่วนของของผู้สูงอายุ พระ เด็ก เชฟมาร์คกับเชฟทิมเจ้าจองร้าอีทมี มาทำอาหารแข่งกันให้ผู้สูงอายุ ทำอาหารให้เด็กเป็นคนชิมและเป็นกรรมการว่าชอบอาหารของใครมากกว่า ทั้ง2คนต้องไปตลาดเมืองจันตอนเช้า แล้วเด็กที่เมืองจัน นิสิตนักศึกษาเป็นลูกมือในการพาไปจ่ายตลาด ซึ่งอาจจะพูดภาษาอังกฤษเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ก็จะเป้นความสนุกสนานด้วย โดยสูตรอาหารที่ได้รับการโหวตจากกรรมการที่เป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุ จะมีโอกาสนำไปเสนอให้กับสถานที่ดูแลเด็ก และผู้สูงวัยต่อไป

 

ดร.ศิริกุล กับอีกพื้นที่ไฮไลต์ของจังหวัดจันทบุรี

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากงาน SB’20 Chantaboon Moonshots to Dream Food จะดำเนินต่อเนื่องเฉกเช่น SB’ 19 Oceans & Beyond Chumphon คือการสานต่อ ซึ่งที่ชุมพรมี Project มาสานต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาแฟ โรบัสต้า และ Sustainable Seafood Maneefesto (กฎบัตรความยั่งยืนด้านอาหารทะเล)

“ความยั่งยืนด้านอาหาร ปัจจุบันเชฟมีพาวเวอร์ที่จะคุยตรงกับลูกค้า อย่างเชฟบอกว่าตอนนี้ไม่ใช่หน้าปลาทู เราไม่ควรกินปลาทู เราควรเลือกกินสัตว์น้ำแบบใด สิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนตลาดด้วย เราจึงทำสิ่งที่เป็นกฎบัตร เมื่อทำเสร็จแล้ว ร้านอาหารที่ทำตามกฎบัตรดังกล่าว จะได้โลโก้ FAIR TRADE,Sustainable Food เมื่อมากินจะรู้ว่าสัตว์น้ำที่จับมาจับอย่างไม่ทำลายธรรมชาติ ให้ความสำคัญต่อฤดูกาล”

นับเป็น มิติของการทำธุรกิจและการสร้างแบรนด์ที่ให้ความยั่งยืน พร้อมๆไปกับการขับเคลื่อนชุมชนในงานประชุมสัมมนาประจำปีของเหล่านักสร้างแบรนด์ผู้มุ่งใช้ความรับผิดชอบเป็นสะพานสู่การพัฒนาสังคมและธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกันภายใต้แนวคิดการใช้ “อาหาร” เป็นจุดเปลี่ยนโลก SB’20 Chantaboon – Moonshots to Dream Food วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์นี้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี

ข้อมูลเพิ่มเติม

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like