29 พฤศจิกายน 2566…“จันทบุรี” ถูกเลือกให้เป็นต้นแบบเมืองที่จะเป็นตัวอย่างสำคัญของการพัฒนาผ่านแนวคิด Regenerative จากงานประชุม SB’23 BANGKOK CHANTHABURI ซึ่งมาภายใต้แนวคิด “Regenerating Local Food & Future”
งานในพื้นที่เน้นการให้ความสำคัญกับ “พริกไทย”และ “กระวาน” โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากการขายทุเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะอันที่จริงแล้ววิถีชีวิตของคนเมืองจันท์ผูกพันกับพริกไทยมายาวนานเพราะพริกไทยจันท์เคยเป็นถึงเครื่องราชบรรณาการที่ถูกส่งไปยังเมืองจีน ดังนั้นถ้าสามารถฟื้นคืนพริกไทยท้องถิ่นที่เรียกว่า พันธุ์ปรางถี่ ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือเพียงไม่มาก ก็จะสามารถสร้างความรุ่งเรืองให้เศรษฐกิจและจังหวัดจันทบุรีได้ โดยไม่ต้องเพิ่งทุเรียนเพิ่งอย่างเดียว
งาน SB ประเทศไทย ครั้งนี้จับมือกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี จัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เริ่มจากการการกระตุ้นให้เกิดความสนใจต่อความอุดมสมบูรณ์ที่กำลังจะหายไปด้วยมื้ออาหารสุดพิเศษ ผ่านงานเลี้ยงภาคค่ำภายใต้ชื่องาน “รสจันท์ที่จางหาย” นำแนวคิดการกู้คืนสูตรตำหรับอาหารเมืองจันท์ที่แท้จริงให้ฟื้นกลับคืนมา The Regenerative Dinner – The Lost Recipe “Herb – Heritage – Hope” โดยภายในสถานที่จัดงาน มีนิทรรศการบอกเล่าสิ่งที่จะจายหายของเมืองจันท์ ไม่ว่าจะเป็น ตำรับอาหารจันท์ การทำเสื่อจันทบูร ศิลปวัฒนธรรมอย่างการแสดง “เท่งตุ๊ก” ดนตรีและนาฏยกรรมพื้นถิ่นเมืองจันท์ซึ่งนับวันจะจางหายไปขาดคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อ
อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จันทบุรี กล่าวถึงอาหารมื้อพิเศษว่า “รสจันท์ที่จางหาย เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันที่จะรื้อฟื้นตำรับอาหารพื้นเมืองจันทบูรที่กำลังจางหายให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง และในครั้งนี้ ได้นำ พริกไทยปางถี่ และกระวานจันท์ มาเชิดชูอยู่ในตำรับอาหาร เรามุ่งหวังกันว่ามื้อพิเศษนี้จะให้ทุกคนสัมผัส รู้สึก และสำนึกต่อพลังของถิ่นที่จันทบุรี ในฐานะของ ห้องนั่งเล่นของภาคตะวันออก หรือ Living Room of the East รวมถึงช่วยกันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูของคนกับธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างที่เคยเป็น และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน”
หลังจากนี้ อุกฤษฏ์ กล่าวเสริมว่าทางจังหวัดจันทบุรีกำลังมีการเขียนแผนพัฒนาจังหวัด 20 ปี โดยจะมีการใส่แนวคิด Regenerative ลงไปในหมวดต่างๆของการพัฒนาด้วย รวมถึงการต่อยอดไปสู่การจัดงานสำคัญอย่าง Fruit Innovation Fair นำเรื่องอาหาร ท่องเที่ยวชุมชน วิถีเกษตรเชื่อมโยงกับวิถีการเกษตรเก่า ฟื้นฟูการเพาะปลูกที่ทำให้แน่ใจว่าคนรุ่นปัจจุบันไม่ได้ใช้ดินจนรุ่นลูกหลานไม่มีใช้
“เรารู้สึกดีที่ครั้งนี้เมืองจันทบุรีได้อยู่ในสายตาของชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งตรงกับการที่เราพยายามจะขับเคลื่อนเมืองจันท์ซึ่งทางหอการค้าก็กำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจเมืองจันท์ อย่างที่ทราบดีว่าตอนนี้เมืองจันท์กำลังอยู่ใน Honeymoon Period กับทุเรียน พึ่งพาแต่ทุเรียนพอทุเรียนราคาตกก็เกิดวิกฤต ดังนั้นเราจึงมองเรื่อง Food เป็นภาพใหญ่เป็นเรื่องของอากาศการกินต่างๆ และใน Food จะรวมถึงสมุนไพรอื่นๆด้วย ซึ่งเมืองจันท์มีสมุนไพรดีๆมากมาย หนึ่งในนั้นคือพริกไทยและกระบวน ซึ่งสามารถปลูกเคียงคู่พริกไทยและกระบวน วิธีการคือต้องดึงความสำคัญของสมุนไพรในด้านการตลาดอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เพียงแค่ราคาอย่างเดียว”
สิ่งที่หอการค้าจันทบุรีพยายามทำ คือ การเชื่อมต่อส่วนต่างๆที่จะทำให้คนเห็นความสำคัญของสมุนไพรได้มากขึ้น โดย อุกฤษฏ์ กล่าวเสริมว่า ที่ดำเนินการแล้วคือ การเข้าไปจังมือกับสาธารณสุขจังหวัด ผ่านโครงการอาหารเป็นยา วิถีคนจันท์ ทำให้คนเห็นคุณค่าของสมุนไพรไม่ว่าจะเป็นชะมวง พริกไทย กระบวน หรือการจับมือกับการท่องเที่ยวเพื่อให้คนเห็นว่ามีสำรับจันท์ที่หายไป เป็นสูตรอาหารเก่าที่มีคุณค่าจากสมุนไพรเมืองจันท์
“สิ่งที่กำลังทำไม่สามารถกลายเป็น Cinderella effect ต้องอาศัยระยะเวลา ทำอย่างไรที่จะดึงให้เกษตรกรที่กำลัง Honeymoon Period กับทุเรียน มองเห็นว่าพริกไทยก็ดี งาน SB’23 BANGKOK CHANTHABURI ครั้งเดียวไม่สามารถสั่นกระดิ่งให้ดังได้ เราต้องเชิญนักวิชาการมาดูว่าพริกไทยพันธุ์ปรางถี่มี Piperine จำนวนมาก หรือต่อไปมังคุดเราอาจจะปลูกเพื่อขายเปลือกแทนก็ได้เพราะเปลือกมีแซนโทนมีมูลค่าในธุรกิจเครื่องสำอางมากกว่ากินเนื้อด้วยซ้ำ ทั้งหมดต้องใช้เวลาในการสร้างเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา”
อีกกิจกรรมที่ถือว่าได้ความรู้จากห้องเรียนธรรมชาติ คือการลงพื้นที่ สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม จันทบุรี เรียนรู้การนำแนวคิด Regenerative ไปใช้จริงในระบบเกษตร และอาหาร และระบบการฟื้นฟูเมือง เพื่อกอบกู้ชีวิตและเสน่ห์ของเมืองจันท์ให้กลับมาอีกครั้งผ่านเรื่องราวของวัตถุดิบหลักของจันทบุรี คือ พริกไทยและกระวาน พืชสำคัญของประเทศไทย ที่อุดมคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
สุธีร์ ปรีชาวุฒิ สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม จันทบุรี เล่าย้อนให้ฟังว่า “ตอนเด็กเวลาเราติดพ่อแม่มาขายผลผลิต เราได้แต่สงสัยว่าทำไมเราไม่สามารถตั้งราคาผลผลิตของเราได้ เราได้แต่ถามเคนซื้อว่าจะซื้อเท่าไหร่เป็นอย่างนั้นมาตลอด โตขึ้นเราก็รู้สึกอายว่าเราเป็นเกษตรกรที่ต้องคอยไปง้อคนอื่นไม่มีสิทธิ์กำหนดอะไรได้เลย พอเราเข้ากรุงเทพเราก็เห็นส่วนต่างระหว่างเรากับปลายทางที่นำผลไม้ไปขายมันมากจนเกินไป เราจึงคิดว่ามันน่าจะมีอะไรที่อยู่ในวงจรการค้านี้”
หลังจากเข้าสู่วงการเกษตรก็ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกลมาใช้ในแง่ของวิธีคิดที่สอนให้เข้าใจสิ่งต่างๆและรู้ว่าจะนำอะไรมาใช้ในกระบวนการ เพื่อจุดมุ่งหมายคือการทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่รอด
“แต่ก่อนพ่อก็เคยทำเคมีมาก่อนแล้ววันนึงเขาวูบ หมอบอกว่ามีเคมีในเลือดมากจากนั้นจึงตัดเคมีออกจากการทำการเกษตรกว่า 80% แล้วก็ทำแบบนั้นมากว่า 10 ปี จนวันนี้เราเปลี่ยนมาเป็นการใช้ระบบนิเวศน์เกื้อกูลกันแทน ช่วงแรกเราก็อาศัยเปิดความรู้จากกูเกิ้ลดูตัวอย่างจากพื้นที่อื่นว่าเขาทำอย่างไร แต่พอมาทำกับพื้นที่เรามันไม่เวิร์คเลยเลิกทำเพราะเราคิดว่าพิ้นที่แตกต่างกันสูตรการปลูก็ย่อมไม่เหมือนกัน ของเราขนาดหัวไร่กับท้ายไร่ธรรมชาติก็ยังไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นที่ของเราก็ต้องเขียนตำราของเราเอง สุดท้ายการปล่อยให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันเองดีที่สุด โดยเราทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ อย่างเราปลูกดาหลาเพื่อให้แมงมุมที่อาศัยอยู่ในแปลงดาหลาจัดการกับผีเสื้อในไร่เพื่อไม่ให้วางไข่เป็นหนอน แมงมุม ค้างคาว นกจะเป็นตัวจัดการกับไข่ผีเสื้อ การรู้จักลำดับขั้นของห่วงโซ่อาหารและคอยเสิร์ฟสิ่งเหล่านี้เข้าไปให้ธรรมชาติจัดการกันเองเพื่อไม่ต้องใช้เคมี”
การทำเกษตรโดยใช้แนวคิด Regenerative ไม่ได้ช่วยให้คนปลูกปลอดภัยเพียงอย่างเดียวแต่คนกินรวมถึงดินในพื้นที่เพาะปลูกไม่ถูกทำลาย แต่สามารถส่งต่อพื้นที่อุดมสมบูรณ์ต่อให้คนรุ่นหลังได้ นอกจากนี้ยังสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้ Ecosystem ด้วย เช่น การเกิดธุรกิจการเลี้ยงแมลงเพื่อปราบศัตรูของพืช เป็นต้น
ช่วงสุดท้ายของงาน SB’23 BANGKOK CHANTHABURI ผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด ยังได้เรียนรู้ใน 2 หัวข้อสำคัญ คือ การกู้คืนระบบอาหารของพริกไทยจันท์และลูกกระวานจันท์ โดยมาร์ค บัคลีย์ และหัวข้อคือ การเรียนรู้เรื่องการฟื้นคืนอนาคตของจันทบุรีผ่านการท่องเที่ยว หรือ Regenerative Placemaking โดยเจนนี่ แอนเดิร์สสัน
“เหมือนทุกครั้งที่เราจัดงาน SB ในประเทศไทย จะเน้นการสร้างผลงานที่จับต้องได้ มิใช่แค่การมาประชุมพูดจากันอย่างแลกเปลี่ยนความรู้แต่ไม่มีผลงานที่ยั่งยืน เราจึงได้เลือกจันทบุรี เป็นหนึ่งในที่จัดงานของเรา เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของจันทบุรีในการที่จะทำเป็นจังหวัดต้นแบบแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวคิดแบบ Regenerative ความพร้อมของคนจันทบุรีและศักยภาพของแผ่นดิน ผสานกับพลังของแบรนด์ จะทำให้งานประชุมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการจุดประกายสิ่งที่มีอยู่แล้วและกำลังจะจางหายถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อย่างน่าสนใจอีกครั้ง” ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Thailand กล่าวสรุปในตอนท้าย
เนื้อหาเกี่ยวข้อง