11 มิถุนายน 2562…เอสซีจี จับมือ สถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส หยุดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ในพื้นที่เขตร้อนอย่างเอเชีย และแอฟริกาในโครงการ Defeat Dengue Program
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ Chief Technology Officer ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ ดร. อนวัช ศกุนตาภัย Coordinator of the Defeat Dengue Program, Head of Structure, Functional Genetics of Infectious Diseases,สถาบันปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส (Institut Pasteur) ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยมี Mr. Jacques Lapouge เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธี ณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
Mr. Lapouge เผยว่า ยุงลายและไข้เลือดออกเป็นปัญหาที่พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกราว 50 ล้านคนต่อปี และมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสำคัญระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสที่จะได้ พัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขระดับโลกนี้ร่วมกัน ซึ่งจะเกิดการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีระหว่างสถาบันวิจัยชั้นนำของโลกอย่างสถาบันปาสเตอร์ และองค์กรขนาดใหญ่ที่ยั่งยืนของไทยอย่างเอสซีจี”
ดร. อนวัช ขยายความถึงโรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งสถาบันปาสเตอร์เองได้ศึกษาและวิจัยเพื่อหยุดยั้งโรคระบาดนี้มานานกว่า 20 ปี
“การจะแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่สามารถทำให้งานวิจัยขยายไปสู่ระดับชุมชนและสังคม ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและภาคธุรกิจ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่จะขยายผลไปยังระดับโลกได้”
ดร. สุรชา กล่าวว่า เอสซีจีมีจุดยืนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Open Collaboration) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับชุมชนและสังคม
“ความร่วมมือในครั้งนี้ สถาบันปาสเตอร์ ให้ความไว้วางใจธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาเคมีภัณฑ์สารเติมแต่งพิเศษ หรือ Functional Material รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และการออกแบบมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการแพร่พันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะสำคัญในการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก”
สำหรับกรอบความร่วมมือระหว่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ สถาบันปาสเตอร์ ในครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยใน 2 ส่วนได้แก่ การพัฒนากับดักยุง (Mosquito Trap) และการพัฒนาสารพิเศษ (Functional Material) ที่ช่วยในการยึดเกาะของสารยับยั้งการแพร่พันธุ์ของยุงได้ดียิ่งขึ้น เมื่อสารดังกล่าวละลายลงในแหล่งน้ำจะทำปฏิกิริยาลดการเจริญเติบโตของลูกน้ำโดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต
นอกจากนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีและ สถาบันปาสเตอร์ ยังได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการใช้สารดึงดูด (Attractant) ล่อยุงลาย และ การวิจัยทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของกับดักยุงนี้ก่อนนำไปใช้จริงอย่างแพร่หลายต่อไป