4 ธันวาคม 2563…ปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงทุกขณะ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า อุณหภูมิเพียงแค่ 1 องศาที่เพิ่มขึ้นเช่นในปัจจุบันจะส่งผลร้ายถึงเพียงนี้ ลองจินตนาการว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่านี้จะเกิดความรุนแรงมากเพียงใด
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เอไอเอสตระหนักดีในฐานะพลเมืองของสังคม ด้วยการเดินหน้านำเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งยังได้มีการจับมือกับพันธมิตรเพื่อหาภาคีขยายผลความยั่งยืนไปสู่วงกว้าง ดังจะเห็นได้จากการสานต่อความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย “SDG Lab by Thammasat & AIS” ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Service Provider เอไอเอสมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจที่ตั้งอยู่บนแนวคิดความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและการนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเข้าไปสนับสนุนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย
“สำหรับบทบาทของเอไอเอส ที่ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้วคือ การเป็นผู้ให้บริการกับประชาชนและภาคส่วนธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนในเชิงการใช้งาน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่ส่งเสริมในแง่เศรษฐกิจ อีก 2 บทบาทสำคัญคือสังคมและสิ่งแวดล้อม การเติบโตของเศรษฐกิจย่อมไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม หากมีการบาลานซ์อย่างเหมาะสมเศรษฐกิจเติบโตดี สังคมก็จะเติบโตอย่างมีความสมดุล
วันนี้ชัดเจนแล้วเรากำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัล เอไอเอสยิ่งต้องมีบทบาทมากกว่าเดิมเพราะเราเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล เราจึงมีความตั้งใจมากในการที่จะมีบทบาทในเชิงของการพัฒนาสังคมพร้อมกันอย่างยั่งยืน”
เช่นเดียวกับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SDG Lab by Thammasat & AIS ที่ถือเป็นแห่งแรกในเอเชีย และนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเอไอเอสในการนำเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลที่ดีและทันสมัยที่สุด โดยเฉพาะ 5G มาให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์ที่เหนือระดับไปอีกขั้นของ AIS 5G ตลอดจนเห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี 5G/IoTไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อ SDG Lab by Thammasat & AIS มีความตั้งใจจะเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์และส่งเสริมเรื่องการลงมือทำเรื่องความยั่งยืน สร้างสรรค์นวัตกรรม อย่างมีผลกระทบในเชิงบวก สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงด้วยราคาไม่สูงเกินไปมากนัก การออกแบบตกแต่งสถานที่จึงให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากที่สุด
โดยการออกแบบตกแต่งสถานที่จึงให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากที่สุด เริ่มตั้งแต่ ไม่มีการติดตั้งฝ้าเพดาน, จัดทำสไลเดอร์เชื่อมระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 แทนสัญลักษณ์การลื่นไหลของไอเดียที่เป็นประโยชน์ในการเคลื่อนตัวของนวัตกรรม
เฟอร์นิเจอร์ที่นำมาใช้เป็นงานรีไซเคิลจากวัสดุทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว, ไม้ยางพาราที่ตายแล้ว, กล่องเครื่องดื่ม หรือแม้แต่เศษเหล็กที่เหลือจากการพิมพ์อุปกรณ์ก็ถูกรียูสเป็นชิ้นงานตกแต่งพื้นที่ นอกจากนี้ ยังจัดพื้นที่ Open Space มีโซนปฎิบัติการต่างๆ เช่น Demonstration Space, Makerspaces, Co-Working Space, Event Space และ Meeting room เพื่อเอื้อให้เกิดการลงมือทำและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกคน โดยมี Network Infrastructure และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น 3D Printing, อุปกรณ์เครื่องไม้,เครื่องมือไฟฟ้า และอื่นๆ อีกมากมายคอยอำนวยความสะดวก
ปรัชธนาขยายความขอบข่ายการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติอย่างสร้างสรรค์ ประกอบด้วย
1) Climate& Environment พัฒนาความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาหาทางออกให้กับปัญหาโลกร้อนหรือปรับปรุงสภาวะอากาศให้ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้
2) City นำเทคโนโลยี 5G พัฒนาระบบการขนส่งภายในมหาวิทยาลัยเช่นรถยนต์ไร้คนขับ และจะนำเทคโนโลยีเชื่อมโยงไปสู่ระบบการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่
3) Living พัฒนาความเป็นอยู่ในด้านต่างๆ ด้วยวัสดุรีไซเคิล โดยใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการพลังงานทรัพยากรธรรมชาติ ขยะทั่วไป จนไปถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์
4) Farming พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนที่จะตอบรับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยนำเทคโนโลยี 5G/IoT มาใช้เป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมพัฒนาเพื่อให้เกิดเรื่อง Sustainability โดยคาดว่าจะประหยัดพลังงานในเบื้องต้นได้ 30%
5) People สร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเรื่องสำคัญใน SDG Lab by Thammasat & AIS
“การนำเทคโนโลยีของเอไอเอสมาสร้าง SMART City ภายในศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SDG Lab by Thammasat & AIS ในครั้งนี้มีการนำร่องด้วยการทำ Smart Farm ครอบคลุมบริเวณอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปีติดตั้งอุปกรณ์ 5G/IoT ควบคุมดูแลการเพาะปลูกแบบอัตโนมัติ และติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศและวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ไว้บนแปลงเกษตร Rooftop อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่สามารถควบคุมการทำงานผ่านระบบฟาร์มอัจฉริยะ Smart Farm เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และเร็วๆนี้จะขยายลงไปพื้นที่ด้านข้างอีก 100 ไร่ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะทำเป็นแปลงนาปลูกข้าวสำหรับคนในมหาวิทยาลัยและชุมชน” ปรัธนา เล่าถึงงานต่อเนื่อง
หลักการทำงานของ Smart Farm นำอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต และส่งข้อมูลขึ้น Platform และสั่งการทำงานอุปกรณ์ให้ทำงาน ซึ่งจะสามารถสั่งการทำงานจากที่ไหนก็ได้
เทคโนโลยี SMART FARM โดย AIS ได้สนับสนุนเทคโนโลยี ดังนี้
-ระบบ IoT Sensor สำหรับการตรวจวัดค่าในแปลง
-ระบบ IoT Controller เพื่อการควบคุม การเปิด-ปิดน้ำผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
-เทคโนโลยี 5G และระบบ Cloud smart farm เพื่อการเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล
-เทคโนโลยี “iFARM” ระบบ Smart farm ที่ให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยน ตั้งค่าการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในฟาร์มได้อย่างง่ายดาย)
“นอกจากนี้ ในส่วนอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่ของ SDG Lab by Thammasat & AIS เราตั้งเป้าหมายว่าศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชียแห่งนี้ จะเป็นมากยิ่งกว่า Co-working Space เพราะเป็นพื้นที่สำหรับนวัตกรทั่วโลก ที่เน้นการลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืน ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมต้นแบบเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยสามารถใช้งาน Network Infrastructure ของเอไอเอส โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้ง 5G, IoT, Fibre และ AIS Super WiFi รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ ภายในศูนย์ฯ เพื่อสร้างนวัตกรรมต้นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมทดลอง ทดสอบบนเครือข่ายและสภาพแวดล้อมจริงได้เลย” ปรัธนาขยายความถึงการใช้เทคโนโลยี
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
“ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเอไอเอสล้วนมีเป้าประสงค์เดียวกันในด้านการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการนำโนว์ฮาว เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญจากเอไอเอสมาผนวกกับความรู้ด้านการวิจัย และทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมาสร้างพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันไม่เพียงเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังจะเป็นแหล่งดึงดูดให้คนจากทั่วโลกที่มีความสนใจด้านนี้เข้ามาศึกษาโมเดลที่ประสบความสำเร็จต่างๆ เพื่อต่อยอดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต
“บนอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เราตั้งใจที่จะทำ Smart Farming ปลูกผักบนหลังคาเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน แต่ในเวลาเดียวกันเราก็หาทางดูดก๊าซดังกล่าวกลับคืนมาเปลี่ยนเป็นอาหารปลอดภัย นี่คือคอนเซ็ปต์หลังคาสีเขียว เพื่อลดความร้อนเข้ามาในอาคารได้ 30% นั่นหมายถึงการลดพลังงานจากแอร์ได้ 30% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 30% การเป็นหลังคาเขียวเฉย ๆ จะเป็นการสิ้นเปลืองทั้งน้ำ และการดูแลตัดหญ้า เราจึงทำให้เป็นหลังคาเขียวที่กินได้ เปลี่ยนคาร์บอนไดอ๊อกไซด์กลับมาเป็นอาหารปลอดภัยให้เรา”
ปรัธนา กล่าวว่า จาก Smart Farming บนหลังคาอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี จะเป็นโมเดลนำร่องที่เกิดจาก SDG Lab by Thammasat & AIS หลังจากนี้จะเข้าสู่ขอบข่ายเรื่อง City จะนำ AIS 5G มาใช้ในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มากยิ่งขึ้น เช่น การบริหารจัดการการจราจร ผ่านเทคโนโลยี Smart Parking และ Autonomous Car หรือรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับไว้บริการนักศึกษา บุคลากรให้มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้รถยนต์พร้อมแล้ว เพื่อเดินหน้ายกระดับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ Smart City อย่างเต็มรูปแบบ โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดการสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
“บทบาทเอไอเอสในการเป็นDigital Service Provider เป็นส่วนสำคัญอยู่แล้ว แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันและเอไอเอสทำมาอย่างต่อเนื่องคือการพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืนไปพร้อมกัน”ปรัธนากล่าวในท้ายที่สุด