15 มกราคม 2564…ก.ล.ต. ประกาศการเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD supporter) อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำปัจจัยด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศไปผนวกเข้ากับกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับตลาดทุนไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
ตามที่คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board: FSB) ซึ่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosure: TCFD) โดยการริเริ่มของภาคเอกชนนานาประเทศ และได้ออกแนวปฏิบัติ (TCFD Recommendations) เพื่อช่วยให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศต่อผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำไปวิเคราะห์ความสามารถด้านการรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ และเปรียบเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันได้ รวมถึงเป็นกลไกตลาดให้เกิดการขับเคลื่อนการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมกับเชิญชวนให้ภาครัฐและเอกชนนานาประเทศร่วมเป็นผู้สนับสนุน
รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ประกาศการเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD supporter) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ซึ่งนับเป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งแรกของไทยที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนดังกล่าว* ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้ผู้ลงทุนทั่วโลกเห็นว่า
ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่สอดคล้องกับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่การยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนในการเปิดเผยข้อมูลในแบบรายงานเดียว (แบบ 56-1 One Report) โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างความสามารถของภาคธุรกิจให้บริหารจัดการกับความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ และโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และนโยบายภาครัฐในอนาคตที่อาจมีผลต่อการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับตลาดทุนไทยในการตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมจากการที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2030 รวมถึงการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในท้ายที่สุดว่าการดำเนินการตามแนวทางของ TCFD** จะช่วยให้บริษัทสามารถวิเคราะห์และจัดทำกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป็นข้อมูลให้กับผู้ลงทุนในการพิจารณาการลงทุน นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท ตลาดทุน เศรษฐกิจ และประเทศ โดย ก.ล.ต. มีแผนที่จะสนับสนุนบริษัทที่สนใจเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางของ TCFD อย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาส 1 ปี 2564 ก.ล.ต. จะร่วมกับกองทุนพรอสเพอริตี้ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ภายใต้โครงการ ASEAN Low Carbon Energy Programme (ALCEP) และบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด (สิงคโปร์) จัดงานสัมมนาออนไลน์ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “Deep Dive into Climate Risk Disclosure” เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้บริษัทจดทะเบียนที่สนใจการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางของ TCFD
ขยายความ
* ปัจจุบันมีองค์กรร่วมเป็นผู้สนับสนุน TCFD กว่า 1,600 แห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก สามารถดูรายชื่อของบริษัทและหน่วยงานในไทยที่เป็นผู้สนับสนุน TCFD ได้ที่ https://www.fsb-tcfd.org/supporters/
**แนวทางของ TCFD ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่
(1) การกำหนดโครงสร้างและบทบาทของกรรมการและผู้บริหารในการกำกับดูแล (Governance)
(2) การเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง โอกาส และผลกระทบที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศต่อธุรกิจ กลยุทธ์และการแผนทางการเงินของบริษัท ตลอดจนแนวทางในการรับมือ (Strategy)
(3) การระบุและประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร (Risk Management)
(4) การกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย (Metrics and Targets)
ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางของ TCFD ได้ที่ https://www.fsb-tcfd.org/