20 พฤศจิกายน 2563… SET Social Impact Gym ในปีนี้ ช่วยทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ได้ตกผลึกด้านการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน ทั้งมิติด้านการตลาด การขาย การบริหารการเงิน กลยุทธ์การหาลูกค้า และที่สำคัญคือ วิธีประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจเพื่อสังคม
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการ SET Social Impact Gym ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน มี ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เข้าร่วมรวม 59 บริษัท ซึ่งปีนี้มี SE ผู้ผ่านคัดเลือกมีจำนวน 13 บริษัท ทุกบริษัทมีแนวทางด้านธุรกิจเพื่อสังคม ที่ชัดเจน พร้อมมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายมิติ ทั้งในด้านการศึกษา เกษตรกรรมยั่งยืน พัฒนาชุมชน ผู้เปราะบาง สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
“ตลอดระยะเวลา 14 สัปดาห์ที่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมได้รับความรู้อย่างเข้มข้น ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นับตั้งแต่หลักสูตร SET SE102 จนมาถึงโครงการ SET Social Impact Gym โดย 34 ProLunteer หรือโค้ชจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารระดับสูง จากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โค้ชอาสารุ่นใหม่ และโค้ชอาสาที่ยังคงอยู่กับโครงการถึงแม้ธุรกิจจะเข้าสู่ตลาด SET แล้วก็ตาม รวมทั้ง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขา ที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ ในแต่ละด้าน ของการประกอบธุรกิจ ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญยิ่งต่อเส้นทางการเรียนรู้ ของนักธุรกิจเพื่อสังคม”
วันสำคัญก็มาถึง หลังจบช่วงของการติวเข้มในโครงการ SET Social Impact Gym ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมทั้ง 13 บริษัท ได้มานำเสนอแรงบันดาลใจ แผนธุรกิจและผลลัพธ์ทางสังคม โดยขอยกตัวอย่าง SE จำนวน 2 รายที่ได้เล่าถึงแผนงาน
“เรือนปันสุข”
การเกิดของธุรกิจนี้เพราะมองเห็นปัญหาของญาติ ๆ ผู้ป่วยที่จะต้องไปใช้บริการโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อผู้ป่วยต้องรักษาตัวอยู่นาน ญาติผู้ป่วยต้องหยุดงานเพื่อมาดูแล “เรือนปันสุข” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยบรรเทาปัญหานี้ เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของญาติผู้ป่วย โดยทำที่พักสำหรับญาติผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล และจัดให้มีการอบรม กิจกรรมให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วย เพื่อสร้างอาชีพระยะสั้นให้แก่ญาติมีรายได้ระหว่างพักอาศัยอยู่ในโครงการ
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด ให้มุมมองถึงความน่าสนใจของ Business Model “เรือนปันสุข” ว่าเหมาะที่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกของแพลตฟอร์ม โดยรายได้สามารถมาจากสปอนเซอร์ชิพไม่ว่าจะเป็นรูปแบบองค์กร หรือส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาอยากจะลุกขึ้นมาแบ่งปันหรือดูแล
“คนไทยเป็นสังคมที่ชอบเกื้อกูล มีน้ำใจ เพราะฉะนั้นต้องใช้ Business Model ที่ถูกต้อง คือเป็นผู้ให้ความสะดวก ควรหาพาร์ทเนอร์อสังหาริมทรัพย์ก็ได้ สิ่งนี้เป็น CSR ของเขา เวลาหาอสังหาฯ ไม่ได้หมายความว่าให้เขาสร้างใหม่ เพราะช่วงโควิด-19 มีอาคาร ห้องพักที่ไม่ได้ใช้จำนวนมาก หรือมีบ้านหลังใหญ่ปล่อยร้าง เพียงไปปรับเปลี่ยน แล้วทุกคนจะเข้ามามีส่วนช่วย สังคมไทยพร้อมจะช่วยให้ญาติผู้ป่วยมีที่จะพัก และธุรกิจจะเป็นต้นแบบที่จะขยายไปที่ทุกจังหวัดได้ง่าย เพราะทำให้เห็นโอกาสที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเกื้อกูลกัน”
“จิตอาสาเพื่อสังคม”
จากครอบครัวจิตอาสาสู่บริษัทจิตอาสาที่ดูแลส่วนที่เปราะบางในสังคม Pain Point ของบริษัทคือ ทุกครั้งที่ช่วยเหลือพวกเขา เพื่อให้มีงาน และผู้เปราะบางมีโอกาสในการมีอาชีพเป็นไปได้ยาก ขนาดของปัญหามีวงกว้าง นักโทษในเรือนจำผู้หญิง 5 หมื่นคน คนพิการอีก 3 แสนคนหรือเกษตรกรอีก 4.5 ล้านครัวเรือน คนเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันคือมีหัวใจที่จะเอื้ออาทร บริษัทจึงใช้กลไกในการเชื่อมผู้ประกอบการโดยการฝึกอาชีพ ทอวิกให้กับคนเหล่านี้ ส่งมอบให้ผู้เปราะบางอีกกลุ่มคือกลุ่มที่เป็นโรคมะเร็งที่มีจำนวน 300 คนต่อวัน
นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และโค้ชท่านอื่นๆ ฝากข้อคิดของการ Scale up ธุรกิจ และเรื่องตลาดจีนที่ผลิตวิกผม ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า ทั้งนี้บริษัทได้มีการประสานยืมตัวระหว่างเรือนจำที่มีนักโทษที่ฝึกฝีมือทอวิกมาได้ระดับหนึ่งแล้ว เป็นการส่งผ่านองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยที่บริษัทเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลทำให้เขาทำวิกได้ ใช้เวลา 6 เดือนที่หนึ่งเรือนจำจะมีวิกผมออกมาใช้ได้ขายได้ ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม โดยโรงงานอุตสาหกรรมจะทอส่งออก
ไตรสรณ์ วรญาณโกศล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังผ่านไป 14 สัปดาห์ จะเป็นอีกวัน ที่จุดประกายนวัตกรรม เพื่อเป็นทางออกของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการต่อยอดได้
“จะเป็นอีกวัน ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ธุรกิจสามารถเป็นทางออกที่ยั่งยืน ของการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในขณะเดียวกับที่ องค์กรภาคสังคม สามารถสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งได้ ปรากฎการณ์วันนี้ กล่าวได้ว่า ดำเนินอยู่บนเป้าหมายร่วม ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่สังคมไทย ”
นพเก้า กล่าวเพิ่มเติมถึง SET Social Impact Gym 2020 ปี 4 ถือว่า SE ที่เข้ามาปีนี้มีความหลากหลาย มีทั้งเริ่มต้นจริง ๆ และที่ทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นการเติบโตจะแตกต่าง ทั้งที่มีความชัดเจนในตัวเองมากขึ้น และมีการฟอร์มบริษัทให้ชัดเจน อันนี้เป็นเรื่องแรก เรื่องที่สองยังไม่มีการบริหารจัดการที่ดี แม้ว่าบ้างธุรกิจจะมีชื่อเสียงที่ดีมากก็ตาม เรื่องที่สามคือ มีรูปแบบที่ชัดเจนแล้ว แต่ยังมีบางจุดที่ต้องเติม หรือมองโอกาสที่จะสเกลไปข้างหน้า เพราะบางทีดีในระดับที่ตัวเองเป็นอยู่ แต่อาจจะขยายไม่ได้
“อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดมีอิมแพคในเรื่องของสังคมอยู่แล้ว เรามองถึงความหลากหลายของธุรกิจเพื่อสังคม หากเรามีแขนขา มีผู้ประกอบการแบบนี้ในการแก้ไขปัญหาสังคมมากๆ ก็จะช่วยขับเคลื่อนสังคมได้มากขึ้น”
นพเก้าฝากถึงผู้ประกอบการด้านสังคมที่สนใจร่วมโครงการ SET Social Impact Gym ต้องเตรียมตัว เรื่องแรกเลย สิ่งที่ทำต้องเป็นเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่โครงการ แม้ว่าโครงการอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ ธุรกิจเพื่อสังคม แต่ท้ายที่สุดเราต้องมองว่า เราจะเป็นผู้ดำเนินโครงการ หรือเราอยากเป็นผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นหากท่านต้องการเป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม ก็ต้องมีความเข้มแข็ง และมี Mindset มีความกล้าที่จะเริ่มเป็นผู้ประกอบการ
ท้ายที่สุด ในพิธีมอบผ้าครุยเกียรติยศแก่ 13 ธุรกิจเพื่อสังคม งาน “Speech Day” ภายใต้โครงการ SET Social Impact Gym 2020 เมื่อ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนของ SE กล่าวว่า
“วันแรกที่เราเข้ามาเต็มไปด้วย Passion จำได้ว่ามีโค้ชบอกว่า แค่ความฝันอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ เราเข้าไปไม่ใช่การติดกระดุมเม็ดแรก เราเริ่มจากการหากระดุมทุกเม็ดให้ครบ โดยการที่พี่ ๆ โค้ชแต่ละท่าน อาจารย์แต่ละท่าน ช่วยทำให้เราเห็นว่ากระดุมแต่ละเม็ดคืออะไรบ้าง มันคือตั้งแต่การตลาด การเงิน ลูกค้าอยู่ที่ไหน ผลทางสังคมที่เราจะได้เป็นอย่างไรบ้าง พวกเราตอกเสาเข็มต้นแรกด้วย Passion ของเรา พี่ ๆมาเติมเสาให้เป็นบ้านสวยงาม และหวังว่าพี่ ๆ ในบจ.จะช่วยเติมหลังคา ช่วยเติมฝาบ้านเป็นกำลังใจให้พวกเรา เราหวังว่าความรู้ที่พี่ ๆ ให้วันนี้จะช่วยพาให้สังคมเติบโตและยั่งยืน ขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เลือกพวกเราเข้ามา ขอบคุณพี่ๆ โค้ชที่ฟูมฟักพวกเราให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งจะไม่สูญเปล่า”