8 มิถุนายน 2562…สิงห์ เอสเตท โฟกัส SDGs เป้าหมาย 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เห็นผลจากพีพี โมเดล สู่อ่าวมาหยา และธุรกิจโรงแรมที่มัลดีฟ (ภาพข้างต้นฉลามกลับมาแล้วที่อ่าวมาหยา)
ธุรกิจสิงห์ เอสเตท เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลายรูปแบบในหลายพื้นที่ของประทศไทย ก่อนที่จะขยายไปยังมัลดีฟ จึงมีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่ม
เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว บริษัทได้ร่วมสนับสนุนโครงการประชารัฐเพื่ออุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ในการป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการร่วมสนับสนุนโครงการพีพี โมเดล ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้จัดการอุทยานฯ โดยอิงตามหลัก IUCN ด้วยการใช้หลักธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเน้นการคืนสมดุลธรรมชาติ
นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เล่าย้อนหลังการเริ่มต้นทำงานเรื่องนี้ ตามแนวทาง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางแผน #พีพีโมเดล ไว้ โดยการบริจาคารมอบทุ่นจอดเรือที่ทะเลแหวก เพื่อป้องกันรักษาไม่ให้แนวปะการังเสียหายจากการทิ้งสมอของเรือท่องเที่ยว สนับสนุนเรือตรวจการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการวิจัย สาหร่ายจิ๋ว (Zooxanthellae) ฟื้นฟูปะการังฟอกขาว หรือการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวในเขตอุทยาน เป็นต้น
“เมื่อเราได้ลงมือทำแล้ว เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ธรรมชาติเกิดการฟื้นฟูอย่างเห็นได้ชัด” นริศย้ำ
ผศ.ดร.ธรณ์ ย้อนกลับไปต้นปี 2559 เสนอกรมอุทยานให้ปิดเกาะยูง หมู่เกาะพีพี เนื่องจากสภาพใต้น้ำเสียหายยับเยิน แนวปะการังด้านในเหลือแต่เศษซากจากการทิ้งสมอ ฯลฯ ปะการังที่มีชีวิตด้านในเหลือน้อยกว่า 5% กรมอุทยานพิจารณาจากข้อมูลภาพถ่ายและรายงานการสำรวจ ก่อนดำเนินการตามนั้น เกาะยูงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกที่ถูกปิด ก่อนหน้าเกาะตาชัยและอ่าวมาหยา
“ในช่วงนั้น เราไม่ทราบหรอกว่า ปิดแล้วปะการังจะฟื้นไหม เร็วช้าอย่างไร อาศัยความเชื่อใจในท้องทะเลว่าเธอฟื้นคืนได้ เมื่อปิดแล้ว เราเดินหน้า #พีพีโมเดล ทำทุกอย่างทุกทางเพื่อความหวัง รวมทั้งการสำรวจศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งใต้น้ำและบนฟ้า ผมมองว่าสังคมยังคงต้อง การผู้กล้า หน่วยงานที่พร้อมร่วมมือกับภาครัฐอย่างจริงจังอีกมาก เพื่อให้เกิดการพัฒนาและดูแลทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างยั่งยืน”
ฟื้นแบบไม่มีข้อกังขา ไม่มีคำโต้แย้ง
ฟื้นแบบตูมเดียวเต็มเกาะ !
เธอมอบ #ของขวัญจากเกาะยูง ให้พวกเราในวันนี้
ดร. ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนัก สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ มุ่งสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนมีความหวงแหนและมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องนี้ทางกรมฯ ไม่สามารถทำฝ่ายเดียวได้ ทรัพยากร ธรรมชาติเป็นของพวกเราทุกคน ทุกภาคส่วนจึงควรจะต้องมีส่วนรวม และให้ความร่วมมือในการดูแลรักษา สิงห์ เอสเตท ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของภาคเอกชน ที่ได้เข้ามาสนับสนุนภาครัฐโดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จนเห็นเป็นรูปธรรม
นริศขยายความเพิ่มเติมว่า สังคม ชุมชน เกิดความตระหนักรู้อย่างจริงจังเราจึงตั้งใจที่จะทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมาสู่การปิดอ่าวมาหยา โดยในปี 2561 บริษัทได้สนับสนุนโครงการติดตามและฟื้นฟูปะการังโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศให้กับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา รวมถึงยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC) แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทางทะเล ณ โรงแรมพีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป และนักท่องเที่ยวได้เข้าศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศของเกาะพีพี
“จากนี้ไปยังคงโฟกัส SDGs เป้าหมาย 14 Life Below Water ซึ่งที่มัลดีฟก็จะเป็นเรื่องนี้ แต่สเกลจะใหญ่กว่าในเมืองไทย”
วันทะเลโลก 8 มิถุนายนนี้ สิงห์ เอสเตท ได้เปิดตัวโครงการ “#SeaYouTomorrow ทะเลวันพรุ่งนี้อยู่ในมือคุณ” เพื่อเป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาธรรมชาติของบริษัทฯ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรณรงค์ ให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจต่างๆ มากมาย ได้แก่ การร่วมกับทางนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย จัดงานประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ ทะเลวันพรุ่งนี้อยู่ในมือคุณ
Cr. ภาพทะเล
- ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- สิงห์ เอสเตท