5 ธันวามคม 2562… ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตำแหน่งและความรับผิดในขณะนั้นคือ รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (Prime Minister Delivery Unit: PMDU), คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.), ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เคยเขียนถึงเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
การวิเคราะห์เชิงระบบทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 องค์ประกอบคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี สามองค์ประกอบนี้เป็นกระบวนการ ความรู้และคุณธรรมเป็นสิ่งที่ใส่เข้าไปในกระบวนการ ผลผลิตที่ได้คือการได้เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน
ถ้าเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับกรณีโลกร้อน จะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังทำให้เกิดความพอประมาณ นั่นคือ ไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายใน 10 ปีหรือจากปี 2563 ถึง 2568 อัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 เป็นอัตราที่ยังทำให้ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
ในแง่ความมีเหตุผลนั้น ประเทศไทยต้องร่วมแก้วิกฤตโลก โลกมีเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกินสององศาเซลเซียสภายในปี 2643 ปัจจุบันอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณหนึ่งองศาแล้ว การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นแล้วว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นยังไม่พอ ประเทศกำลังพัฒนาต้องร่วมลดก๊าซนี้ด้วย นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยประกาศว่าจะร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราดังกล่าว นี่คือเหตุผลตามหลักวิชา มีเหตุผลตามหลักกฎหมายด้วย นั่นคือพันธกรณีฉบับใหม่ชื่อความตกลงปารีส ที่บังคับให้ทุกประเทศต้องร่วมลดการปล่อยก๊าซนั้น
ในแง่การมีภูมิคุ้มกันที่ดี คือการเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเพื่อบริหารความเสี่ยง ประเทศไทยจะปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันเรื่องการส่งออกได้
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาหรือความรู้ที่ได้จากพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุ SDG ทั้ง 17 ประการได้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิด ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่พัฒนาขึ้นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อถ่ายทอดแนวคิดเป็นยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 การปรับปรุงกฎหมาย 318 ฉบับ และแผนแม่บทด้านต่างๆ เป็นการนำไปสู่การปฏิบัติ
ทั้งนี้ มีแผนเส้นทางที่จะทำให้บรรลุ SDG ได้ ซึ่งมีสามส่วนคือ ส่วนแนวคิดยุทธศาสตร์ ส่วนแผนงานโครงการ และส่วนระบบติดตาม ในด้านแนวคิดยุทธศาสตร์ จะหาวิธีประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ ส่วนแผนงานโครงการจะเป็นแผนปฏิบัติซึ่งมีกรอบเวลาของการปฏิบัติตามแผน ส่วนระบบติดตามสามารถใช้ตัวชี้วัดขององค์การสหประชาชาติ ร่วมกับตัวชี้วัดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่องค์กรต่าง ๆ ได้ทำไว้แล้วหรือกำลังทำ สิ่งที่ได้นำเสนอนี้คือ ภาพอนาคตของประเทศไทย
ที่มา