24 กันยายน 2562 – สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัว ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC) หวังรักษาแชมป์ด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในอาเซียน และในอันดับท็อปเทนโลก
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ GRI Data Partner ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ซึ่งเป็นผู้กำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยสามในสี่ของกิจการที่มีรายได้สูงสุดของโลก 250 แห่ง ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้ GRI Standards เป็นมาตรฐานอ้างอิง ได้เปิดตัวประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC)
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำของภาคเอกชนไทย ต่อการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในประชาคมระดับภูมิภาคและระดับสากล รวมทั้งเพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
จากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 14,010 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 56,180 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 33,306 ฉบับ และมี 237 องค์กรในประเทศไทย ที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 651 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2562)
เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุด รองลงมาเป็นประเทศอินโดนีเซีย 156 แห่ง มาเลเซีย 154 แห่ง สิงคโปร์ 153 แห่ง ตามมาด้วย เวียดนาม 104 แห่ง ฟิลิปปินส์ 65 แห่ง กัมพูชา 16 แห่ง และเมียนมา 3 แห่ง ตามลำดับ ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่สถิติในระดับสากล จากฐานข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ.2561 ประเทศไทย ติดอันดับ Top 10 โลก (อยู่ในอันดับ9) ด้านการเปิดเผยรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทาง GRI
วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “นับจากที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านข้อมูล (Data Partner) กับ GRI เมื่อปี พ.ศ.2559 ทำให้จำนวนการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจากเดิมที่ประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยเพียง 41 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 108 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2559 หรือเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า และมาเป็น 120 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11”
การเข้าเป็นหุ้นส่วนด้านข้อมูล หรือ Data Partner กับ GRI ของสถาบันไทยพัฒน์ ในปี พ.ศ.2559 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลในส่วนที่เป็นจำนวนรายงานแห่งความยั่งยืนที่องค์กรธุรกิจไทยเผยแพร่อยู่แล้วเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยได้เลื่อนลำดับการเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI มาอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
การที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มจัดตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC) ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ที่สำคัญ ในอันที่จะรวบรวมและเพิ่มจำนวนองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งในระดับส่วนรวมในนามของประเทศไทยที่มีชื่อติดอันดับในเวทีโลก และในระดับองค์กรที่สามารถยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามกรอบการรายงานที่สากลยอมรับ