NEXT GEN

TCEB เผย 3 แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์

14 พฤษภาคม 2563… MICE Venue Hygiene Guidelines หวังเป็น “วิถีปฎิติใหม่” จะครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ระหว่างงาน และหลังจบงาน

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ทีเส็บจับมือสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) ร่วมพัฒนาและจัดทำแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Venue Hygiene Guidelines) สถานที่จัดงาน ผู้จัดงานประชุม นิทรรศการ และงานอีเวนต์ เพื่อป้องกันและควบคุมการติดเชื้อไวรัส Covid-19 และโรคติดต่ออื่น ๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ภายในประเทศทั่วทุกภูมิภาคได้ศึกษาทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมในการกลับมาจัดงานไมซ์อีกครั้ง หากได้รับการผ่อนปรนให้ดำเนินกิจการได้ตามพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยยังคงมาตรการความเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้ร่วมงานตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้น 5 มาตรการควบคุมหลัก ดังนี้

1.จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ (จำนวน 1 คนต่อพื้นที่ 2 ตารางเมตร)
2. ตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย (ต้องมีระบบดูแล ส่งต่อ และติดตามผู้ป่วย เช่น การใช้ Application)
3. การเว้นระยะห่างในสถานประกอบการ เช่น สถานที่จัดงาน : ห้องประชุม บันไดเลื่อน ห้องน้ำ ห้องอาหาร เป็นต้น
4.ระบบติดตามผู้ใช้บริการ (Tracking system) ในกรณีผู้ใช้บริการป่วย หลังจากมาใช้บริการในสถานประกอบการ
5. จัดระบบคิว โดยแยกพื้นที่รอก่อนใช้บริการ

แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ จะครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ระหว่างงาน และหลังจบงาน โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง

แนวปฏิบัติก่อนเริ่มงาน

ครอบคลุมด้านการเตรียมความพร้อมของพนักงาน การจัดการเดินทางระหว่างงาน การจัดตั้งจุดคัดกรอง และการจัดทำคู่มือสื่อสารผู้เกี่ยวข้องกับงาน เช่น จำนวนคนที่รวมกลุ่มในการจัดงาน คำแนะนำและแนวทางในการทำกิจกรรมขนาดใหญ่ การจัดทำคู่มือและวีดีโอคำแนะนำการปฏิบัติตัวด้านสุขอนามัยให้กับผู้เข้าร่วมงาน การนำส่ง Self-Screening Application หรือเว็บไซต์คัดกรองตนเองให้ผู้ร่วมงานตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมงก่อนงานเริ่ม เป็นต้น

แนวปฏิบัติระหว่างงาน

มุ่งเน้นมาตรการด้านความปลอดภัยสาธารณสุข ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยลดความเสี่ยง เช่น จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่เพื่อลดจุดสัมผัส การทำความสะอาดในจุดสัมผัสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ จุดลงทะเบียนและการตอบแบบสอบถามความพึงพอใจควรใช้ระบบ QR Code และกระจายให้เพียงพอต่อผู้ร่วมงานเพื่อลดความแออัด

การจัดประชุมสัมมนา จัดแผนผังของห้องให้มีระบบอากาศถ่ายเทสะดวก จัดที่นั่งเว้นระยะห่างทางกายภาพไม่ต่ำกว่า 2 เมตร วางไมโครโฟนไว้ตามจุดต่างๆ และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลทำความสะอาดทุกครั้งที่มีผู้ใช้งาน ในกรณีที่มีวิทยากรเดินทางข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศมา ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้เข้าอบรมด้วยการชี้แจงมาตรการควบคุมป้องกันโรคและการอำนวยความสะดวกให้แก่วิทยากรเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรค เช่น บริการรถรับส่ง หรือเลือกที่พักใกล้สถานที่จัดประชุม เป็นต้น

การจัดนิทรรศการ ควรนำเทคโนโลยีในการจองคิวล่วงหน้ามาใช้จองรอบเข้าดูนิทรรศการแต่ละบูธเพื่อลดความแออัด หรือนำเทคโนโลยีการจัดงานเสมือนจริง (Virtual Exhibition) มาใช้งานสร้างประสบการณ์ของผู้ร่วมงานระหว่างรอคิวเข้าชมนิทรรศการ และสร้างแพลทฟอร์มออนไลน์ (Online Platform) ให้สามารถจองหรือสั่งซื้อสินค้าภายในงานได้ทันที

แนวปฏิบัติหลังจบงาน

ผู้จัดงานต้องตรวจสอบประกาศคําสั่งและข้อกําหนดที่ได้จากรัฐและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่องการจัดทํารายงานผลการจัดงานชี้แจงต่อหน่วยงานที่อนุญาตให้จัดงาน และจัดระบบการจัดการขยะมูลฝอยให้สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

จิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย  “แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Venue Hygiene Guidelines)” เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไมซ์และเผยแพร่แนวปฏิบัติไปยังสมาชิกโรงแรมทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง โดยผู้ประกอบการไมซ์อื่น ๆ สามารถดาวน์โหลดแนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ได้ที่ http://www.micecapabilities.com/mice/uploads/attachments/MICE_Hygiene_Guidelines_(Post_COVID-19).pdf

 

 

You Might Also Like