NEXT GEN

6 ทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ใช้ ESG เป็นใบเบิกทางสร้างโอกาสธุรกิจตอบความต้องการโลก

27 กุมภาพันธ์ 2566…สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดการณ์ทิศทางความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย ปี 2566 ยังต้องทำงานด้วยแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) จากที่เป็น “ปัจจัยความเสี่ยง” ขององค์กร สู่ปัจจัยที่ใช้เป็น “โอกาสทางธุรกิจ”เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการตามความต้องการโลก

“ปัจจุบัน ESG มิได้เข้ามามีบทบาทเพียงในแง่ของความเสี่ยงที่กระทบกับธุรกิจ หรือถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายทางเดียว แต่ยังเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ช่วยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนของกิจการ ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับกระแสในเรื่องนี้ แล้วแปลงมาเป็นโจทย์ทางธุรกิจได้ ก็จะทำให้กิจการได้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ในฐานะที่เป็นใบเบิกทาง (Enabler) สู่ตลาดใหม่ ๆ”

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ขยายความถึง การประมวลแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ไว้เป็น 3 ธีมสำคัญ ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา พร้อมกับการประเมินทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ใน 6 ทิศทางสำคัญ สำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจที่จะใช้ ESG เป็นกรอบในการขับเคลื่อน สามารถนำไปเป็นข้อมูลนำเข้าและใช้พัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของกิจการให้มีความครอบคลุมอย่างรอบด้าน

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ เล่าถึงทิศทางความยั่งยื่น 2566 และการเสวนาเรื่อง ESG Footprint : The Supplier Journey โดยผู้บริหารสถาบันไทยพัฒน์ วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการ กรรมการ ดำเนินการเสวนาโดย โมไนย เย็นบุตร

 

สถาบันไทยพัฒน์สรุป 6 ทิศทางความยั่งยืน ปี 2566

1. ESG as an Enabler
From ‘Risk Management’ to ‘Opportunity Identification’

 

คลิกภาพ ขยายใหญ่

ธุรกิจที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้แก่กิจการ จะนำเรื่อง ESG มาใช้เป็นโจทย์ทางธุรกิจ เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อตลาดตามทิศทางและกระแสโลกที่คำนึงถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่ปิดกั้น (Diversity, Equity, and Inclusion: DEI) บนพื้นฐานการดำเนินงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

2. Industry-specific Taxonomy
From ‘ESG in General’ to ‘ESG in Sectoral’

หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทย จะริเริ่มจัดทำแนวทาง (Guideline) และการแบ่งหมวดหมู่ (Taxonomy) ประเด็นด้าน ESG จำเพาะรายอุตสาหกรรมที่ตนเองกำกับดูแล ทั้งในภาคธนาคาร ภาคตลาดทุน ภาคประกันภัย ภาคพลังงาน ภาคโทรคมนาคม ฯลฯ ตามความพร้อมของหน่วยงาน และแรงผลักดันจากตลาดที่มีความต้องการนำเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

คลิกภาพ ขยายใหญ่

“ทุกธุรกิจล้วนเกี่ยวข้องกับใบเบิกทางสร้างโอกาสธุรกิจตอบความต้องการโลก   หลายครั้งที่ธนาคารมานำเสนอเรื่องความยั่งยืนให้ฟัง ก็จะบอกว่าธนาคารไม่ได้เกี่ยวโดยตรงกับการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะธุรกิจนี้ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม จึงให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นรอง ๆ แต่หากมองจากมุมมองใหม่ ตามภาพทิศทาง 2 จะพบว่าเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเรามองในมุมธนาคารในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อ นี่คือ Core Business การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจ โดยธนาคารต้องใช้ทรัพย์สินลูกค้าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สมมติวันนี้ลูกหนี้ไม่จ่ายเงิน สุดท้ายสิ่งที่ธนาคารต้องทำคือ ยึดทรัพย์สินนั้นมาเป็นของธนาคาร หากทรัพย์สิน ซึ่งเป็นโรงงาน หรือเครื่องจักร ปล่อยก๊าซเรือนกระจก นั่นหมายถึงว่าธนาคารมีบทบาทในการรับผิดชอบ Emission ตรงนั้นด้วย”

ดร.พิพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งนี้คือ Follow the Money คือเงินที่ธนาคารปล่อยกู้ไปนั้น ไปอยู่ทรัพย์สินใด ต่อจากนี้ไปอาจจะต้องเป็นภาระในการรายงานว่า พอร์ตสินเชื่อตัวเองมีส่วนในการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องในมิติสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใน Core Business ที่อยู่ในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่าธนาคารใดยั่งยืนกว่ากัน อาจจะต้องมาดูตรงนี้ด้วยว่า พอร์ตสินเชื่อแต่ละธนาคารมีการรายงานเรื่องนี้ไหม

แตกต่างจากมุมมองของธุรกิจประกันภัย บริษัทจะจัดสรรธุรกิจที่จะเข้าไปทำประกันแต่ละทรัพย์สิน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในอนาคตอันใกล้ที่ธุรกิจประกันจะนำมาใช้ในพอร์ตโฟลิโอของบริษัทประกันเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า บริษัทประกันดังกล่าวมีส่วนช่วยเหลือ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร ผ่าน Core Business ของธุรกิจประกันเอง

“ปีนี้เชื่อว่าจะได้เห็นหน่วยงานกำกับดูแล ในแต่ละภาค ธนาคาร ประกัน โทรคมนาคม ลุกขึ้นมาทำเรื่อง Taxonomy เพื่อให้ผู้เล่นในธุรกิจนั้น ๆ นำไปใช้ ส่วนใครจะทำก่อนหรือหลัง ขึ้นอยู่กับแรงกดดันของตลาดว่ามี Need จะทำเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด Taxonomy เรื่องนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องดูว่าจะดำเนินการสอดคล้องกับธุรกิจเราอย่างไร”

3. Double Materiality
From ‘Outside-in’ to ‘Inside-out’ Approach

กิจการที่ต้องการภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต้องแสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความคาดหวังของผู้ลงทุนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ ด้วยสารัตถภาพเชิงการเงิน (Financial Materiality) รวมทั้งความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อการสร้างผลบวกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (Impact Materiality) ควบคู่กัน

คลิกภาพ ขยายใหญ่

 

4. Climate Action
From ‘Voluntary Practices’ to ‘Mandatory Requirements’

จำนวนของบริษัทไทยที่ทำการประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality และเป้าหมาย Net Zero จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น สอดรับกับความเคลื่อนไหวในเรื่องการออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานจากภาคสมัครใจมาสู่ภาคบังคับ รวมทั้งการส่งเสริมกลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

คลิกภาพ ขยายใหญ่

5. Lean Operation
From ‘Doing more with best’ to ‘Doing more with less’

ธุรกิจที่เดิมยึดหลัก “Doing more with best” ด้วยการแสวงหาความเป็นเลิศในทุกด้าน จะหันมาเตรียมรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีนี้ พร้อมกับประเมินความเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปชันจากเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการกระชับต้นทุนและขนาดของกิจการ สู่การเป็น Lean Operation ภายใต้หลัก “Doing more with less” ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรอีกทางหนึ่ง

คลิกภาพ ขยายใหญ่

6. Proof of Governance
From ‘Responsibility at the Workplace’ to ‘Accountability at the Board Level’

ธุรกิจที่ประกาศแนวทางการดำเนินงานโดยยึดกรอบ ESG นอกจากการแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังต้องมีการพิสูจน์ธรรมาภิบาล (Proof of Governance) ด้วยการแสดงให้เห็นถึงภาระรับผิดชอบในระดับคณะกรรมการ ที่เหนือกว่าความรับผิดชอบในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตามบทบาทฐานะของผู้นำหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กร

คลิกภาพ ขยายใหญ่

 

You Might Also Like