NEXT GEN

กสิกรไทย จะต้อง “ทำ-ไม่ทำ” อะไรบ้าง ? ในปีที่ 3 บนหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ หรือ UN PRB

5 ตุลาคม 2564…ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยแห่งแรกและแห่งเดียว เดินหน้าใน“หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” (UN Principles for Responsible Banking) สอดรับกับยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง หนุน“สินเชื่อสีเขียว” ในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และละเว้นการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดใหม่ ยกเว้นโรงไฟฟ้ามีการเปลี่ยนรูปแบบพลังงานเป็นแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ และทยอยลดเงินกู้ปัจจุบันในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่แล้วให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 มุ่งหวังร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ส่งมอบโลกที่ยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กับธนาคารกว่า 240 แห่งใน 69 ประเทศ มีสินทรัพย์รวมคิดเป็น 40% ของมูลค่าสินทรัพย์ธุรกิจธนาคารทั่วโลก ได้ใช้เครื่องมือของยูเอ็นวิเคราะห์ วางโรดแมปไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต เห็นตรงกันว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกธุรกิจ ทุกองค์กร และทุกคนบนโลกต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อช่วยบรรเทาและลดปัญหาที่นำไปสู่การแปรปรวนของภูมิอากาศโลก หรือ ภาวะโลกรวน

ภายใต้ UN PRB ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative: UNEP FI) ซึ่งเปิดตัวโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2562 และธนาคารกสิกรไทยลงนามรับหลักการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยในปีนี้โครงการ UN PRB กำลังเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 3 อย่างเข้มข้น

เกี่ยวกับ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ขององค์การสหประชาชาติ” (UN Principles for Responsible Banking)
“หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ขององค์การสหประชาชาติ” (UN Principles for Responsible Banking) ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative: UNEP FI) ประกอบด้วย 6 ประการ ได้แก่
1.Alignment: การมียุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และหลักการที่เกี่ยวข้อง
2.Impact & Target Setting: การกำหนดและเผยแพร่เป้าหมายที่ธนาคารสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
3.Clients & Customers: การปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างรับผิดชอบและผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน
4.Stakeholders: การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
5.Governance & Culture: การกำกับดูแลและวัฒนธรรมองค์กรสอดคล้องกับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ
6.Transparency & Accountability: การทบทวนและเปิดเผยข้อมูลตามหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ

บทบาทที่ธนาคารกสิกรไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ท่ามกลางความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance factors: ESG) ควบคู่กับการดูแลลูกค้าให้ผ่านพ้นวิกฤติและสามารถเดินหน้าในการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตต่อไปได้ในภาวะปกติใหม่ (New Normal)

“เราสนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือมุ่งสู่ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยในการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ธนาคารสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมาอย่างต่อเนื่องและสื่อสารด้วยความโปร่งใส นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับธนาคารอื่น ๆ ที่ลงนาม UN PRB จากทั่วโลก หรือ Signatory Banks รวมทั้งการนำเครื่องมือของ UNEP FI วิเคราะห์พอร์ตสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองวาระด้านความยั่งยืนของโลกเรื่องลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Reducing the Impact of Climate Change”

ขัตติยายกตัวอย่าง การ “ทำ-ไม่ทำ”
เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายธนาคาร
ในการสร้าง “สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์”

 

“ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธนาคารบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ในวาระเร่งด่วนเรื่องลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การสร้างความพร้อมของบุคลากร หล่อหลอมในกระบวนการทำงานจนเกิดเป็นกรีน ดีเอ็นเอ ควบคู่กับการวางโครงสร้างด้านฐานข้อมูล ESG ที่จะวิเคราะห์สถานะของธุรกิจธนาคารในมิติความยั่งยืนได้แม่นยำ ทำให้ตั้งเป้าหมายและสร้างผลลัพธ์ได้ตรงจุด เป็นแบบอย่างองค์กรที่ดีมีธรรมาภิบาล รวมทั้งการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก บรรเทาภาวะโลกรวน และส่งมอบโลกที่สมดุลและยั่งยืนให้แก่คนรุ่นต่อไป” ขัตติยากล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like