11-12 มกราคม 2563…วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดข้อมูลงานวิจัยการตลาดโลกสวย Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา จากกลุ่มผู้บริโภค 1,252 คน พบผู้บริโภคไม่น้อยเริ่มเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ยอมจ่ายกับสินค้าECO ซึ่งเป็นช่องทางการตลาด แต่ยังมีจำนวนมากที่ไม่สนใจ ซึ่งทุกฝ่ายยังต้องทำงานหนักในเรื่องนี้
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่มีแนวโน้มตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และบริการที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทัศนคติการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้โลกสวยด้วยไลฟ์สไตล์รักษ์โลกของตนเอง ส่งผลให้ทุกธุรกิจเผชิญความท้าทาย และต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาด ให้เท่าทันเทรนด์รักษ์โลกของกลุ่มผู้บริโภคโลกสวยในยุคปัจจุบัน
พิมพ์ลดา ธารินทร์ภิรมย์ Project Leader งานวิจัย Voice of Green เพื่อโลก เพื่อเรา ตัวแทนนักศึกษา สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยนี้ทำทั้ง Quantitative และ Quanlitatives ข้อมูลงานวิจัยการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภค จำนวน 1,252 คน เป็นกลุ่ม Baby boomer อายุ 55-73 ปี และ Gen X อายุ 39-54 ปี สูงสุด โดยกลุ่มสินค้าที่มาแรงในปี 2563 ได้แก่ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าอีโค่มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่
ปัจจุบันในประเทศไทยมีกลุ่มผู้บริโภคโลกสวย แบ่งเป็น 4 ประเภท แบ่งเป็น
1.สายกรีนตัวแม่ จำนวน 37.6%
2.สายกรีนตามกระแส จำนวน 20.8%
3.สายสะดวกกรีน จำนวน 15.7%
4.สายโนกรีน จำนวน 26.0%
ผลวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคที่อายุมาก โดยเฉพาะคนกลุ่ม Baby boomer (อายุ 55-73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด ตามมาด้วยผู้บริโภคกลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี) Gen Y (อายุ 23-38 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) ตามลำดับ เนื่องจากยิ่งผู้บริโภคที่มีอายุมาก จะยิ่งมีความพร้อมทางด้านรายได้ และมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ออกจะแปลกใจกับตัวเลขที่เกิดขึ้น Baby boomer มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด เพราะในขณะที่บริษัทจำนวนมากมักจะบอกว่า คนรุ่นใหม่ Gen Y ที่จะเข้ามาทำงาน หรือทำงานในองค์กรอยู่แล้ว “ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก หลายคนดูองค์กรว่าลงมือทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงจังอย่างไร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเข้าทำงาน”
ดร.บุญยิ่ง กล่าวว่า เราถามถึงสิ่งที่คุณทำ และสิ่งที่คุณคิด การสำรวจตรงนี้เป็นการสำรวจเรื่องทัศนคติ เป็นการสำรวจเชิง Subjectives ในกลุ่มตัวเอง เพราะฉะนั้นจะเปรียบเทียบยาก เพราะว่าคนเป็นผู้ใหญ่อาจจะตอบในทางบวก ส่วนเด็กอาจจะจริงใจ ไม่ได้ทำ หรือยังไม่ได้ทำ หรือในประเด็นที่เราถาม มีหลายเรื่อง เช่นการใช้เงินกับผลิตภัณฑ์อีโค คนมีรายได้สูงซึ่งเป็นผู้ใหญ่จะซื้อได้ แต่เด็ก ๆ ยังต้องเน้นความสะดวกไม่สามารถทำได้
“ในแบบสอบถามเราใช้สเกล1-5 อย่างผู้ใหญ่บอกว่าทำแค่นี้คือ 4 เด็กอาจจะบอกว่าแค่นี้ 3 ตรงนี้เราวัดเพื่อเป็นไอเดียว่า การตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประมาณใด ซึ่งอันนี้อาจจะยากนิดเพราะเป็นตัวเลข เลยต้องไปทำแบบ Qualitative สัมภาษณ์เจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องของแบรนด์ เพราะเรารู้ว่าเรื่องของการ ทำ วัดยาก เช่นเมื่อถามเรื่องความถี่ เท่าไหร่จึงจะเรียกว่าทำเยอะ บางคนบอกว่าต้องทำตลอดจึงเรียกว่า 5 บางคนบอกนี่ฉันก็เยอะแล้วนะ ฉันเห็นเปิดไฟทิ้งไว้ฉันก็ปิด อันนี้เป็น Subjective ล้วนๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเด็กและผู้ใหญ่มีมุมตอบคำถามไม่เหมือนกันทีเดียว”
ดร.บุญยิ่ง ขยายความต่อเนื่อง เมื่อนำเสนอ อย่างน้อยที่สุดในส่วน Demographic เราไม่ฟันธงจะทำให้เข้าใจผิด แต่เราอยากชี้ให้เห็นว่ากรีนตัวแม่จริง ๆ ฟังดู 30% มันเยอะ แต่มองอีกมุมยังเหลือ 70 % ที่ยังไม่ได้ทำเรื่องนี้ ในขณะที่ทุกคนบอกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของสังคมเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งแล้วใครจะเป็นคนช่วยกันดันให้คนกลุ่มใหญ่ที่เหลือทำให้เยอะขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยพบว่า กลยุทธ์การทำการตลาดโลกสวย จะช่วยทำให้กลุ่มผู้บริโภคสายโนกรีน และสายสะดวกกรีน ตระหนักถึงการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ส่วน“องค์กรธุรกิจ” เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคจับตามองมากขึ้น องค์กรที่ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ
นอกจากนี้ ตลาดยังมีมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคในปี 2563 ประกอบด้วยธุรกิจที่มีสินค้า หรือบริการต่อไปนี้
• สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพแบรนด์ Moreloop ที่นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดมารวมกัน และนำเศษเหล่านั้นมาตัดเป็นเสื้อผ้าใหม่เพื่อลดขยะ
• สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจร้าน Refill Store เติมเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น เป็นต้น
• สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไบโอ และธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนพืชให้มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เป็นต้น