29 พฤษภาคม 2562…กลุ่มดุสิตธานี เปิดโมเดลธุรกิจอาหาร Bring Asia to the World ขับเคลื่อนโดย ดุสิต ฟู้ดส์ ในส่วน Organic บริหารซัพพลายเชนเกษตรกรชุมชนเพื่อแบรนด์ “ของไทย” สินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงเป็นตัวนำร่อง
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากบริษัท ประกาศความตั้งใจขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจอาหาร โดยขับเคลื่อนผ่านบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ดังนั้น ในปีนี้จึงเป็น ปีแรกที่ Dusit Foodsได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน THAIFEX World of Food Asia 2019
วิสัยทัศน์ของ Dusit Foods คือ Bring Asia to the World หมายถึงการนำอาหารไทยและอาหารในภูมิภาคเอเชียออกสู่ตลาด เพราะการนำความเป็นไทยไปสู่โลกนั้น เป็นจุดยืนที่เข้มแข็งของกลุ่มบริษัทดุสิตธานีตั้งแต่เริ่มแรก โดยในส่วนของอาหารเอเชียนั้น ก็เพราะมี Foot Print ของธุรกิจโรงแรมในทวีปเอเชียเป็นหลัก ทำให้สามารถต่อยอดกันได้
“เราตั้งใจวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์จากดุสิต ฟู้ดส์ให้เป็น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Healthy) ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ (Natural) ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารเคมี (Organic) และผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเกษตรกรและชุมชนพื้นถิ่น (Supporting farmers and local communities) โดยเริ่มที่แบรนด์ ของไทย (Khong Thai) ทั้งหมดนี้ทำให้เรามั่นใจว่า การขยายไปสู่ธุรกิจอาหารอย่างเต็มรูปแบบของดุสิตธานี จะสร้างโอกาสในการลงทุน การสร้างผลตอบแทน และสร้างความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีอย่างยั่งยืนในอนาคต”
ศุภจี กล่าวเสริมว่าภายใต้แบรนด์ “ของไทย” Dusit Foods มีการทำงานซัพพลายเชนกับเกษตรกรอินทรีย์หลายส่วน 1 ในนั้นมาจากเครือข่ายสามพราน ขณะเดียวกันก็ทำงานกับ 2 มหาวิทยา โดยเกษตรศาสตร์ในเรื่องการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ป้องกันสิ่งสิ่งแปลกปลอม ส่วนมหิดล ทำงานกับคณะเทคนิคการแพทย์ และเห็นผลพื้นที่เกษตรอินทรีย์แปลงแรก 9 ไร่ ในมณฑลทหารบกที่ 17 กาญจนบุรี
“วันนี้เราดูแลแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งซัพพลายเชนในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ รวมถึงผู้ประกอบการเครื่องปรุงต่างๆ เช่นต้นทางดั้งเดิมเริ่มต้นเกาะลอย ศรีราชา ซอสพริก นอกจากนี้มีซีอิ๊ว น้ำปลา ซอสหอยนางรม ทุกส่วนที่เป็นเครื่องปรุง และพืชผักต่างๆ เราสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการขายในตลาดต่างประเทศ”
เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร กรรรมการผู้จัดการ บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า โมเดลธุรกิจของดุสิต ฟู้ดส์ จะสร้างการเติบโตจาก 2 ส่วน นั่นคือ Organic ซึ่งเป็นการออกและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอง และ Non-organic คือ การเข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ
ทั้งนี้ การออกและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เองนั้น ดุสิต ฟู้ดส์ ได้วางแผนสร้างแบรนด์ “ของไทย” เป็นแบรนด์สินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง ที่เน้นวางจำหน่ายในต่างประเทศเป็นหลัก โดยลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในช่วงแรก จะเป็นภัตตาคารที่มีระดับ (White Table Cloth) ก่อน จึงขยายไปร้านอาหารทั่วไป (Food Services) เป็นต้น
ในเบื้องต้นนี้มีการผลิตออกมา 4 เมนู ได้แก่ แกงมัสมัน แกงเขียวหวาน แกงกะหรี่ และก๋วยเตี๋ยวแขก ซึ่งต่างประเทศนิยมมากตามลำดับ แต่ละเมนูจะมี 2 รูปแบบคือ พร้อมปรุง (Simmer Sauce, Ready to Cook) และแบบเข้มข้น (Concentrate Paste) ที่สามารถนำไปเพิ่มกะทิและน้ำตามสูตรที่ต้องการ หลังจากนั้น จะขยายเป็น 8 เมนู ได้แก่ ซอสผัดไทยและซอสปรุงรสต่างๆ เช่น ซอสพริกศรีราชาเกาะลอย น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม ก่อนจะขยับเป็น 20 เมนู ในอีก 2 ปีข้างหน้า
“เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เราได้เชฟเดวิด ทอมสัน ชาวออสเตรเลีย ผู้หลงรักและชื่นชอบอาหารไทย และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านอาหารไทยระดับมิชลิน สตาร์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เข้ามาร่วมพัฒนาสูตรกับทางดุสิต ฟู้ดส์โดยเราวางสัดส่วนการทำตลาดแบรนด์ของไทย ด้วยการส่งออกไปขายในต่างประเทศ 90% ขายในประเทศ 10%”
เจตน์ขายความเพิ่มเติมว่า ตลาดต่างประเทศ จะโฟกัสไปที่สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่และรู้จักอาหารไทยดีอยู่แล้ว โดยจะเจาะตลาดทั้งออนไลน์กับออฟไลน์ ทำตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นพ่อครัวและผู้ประกอบกิจการอาหาร หรือการบริการทำอาหารฟู้ดเซอร์วิส โดยจะเริ่มวางจำหน่ายสินค้าลอตแรกที่สหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนนี้ ก่อนจะขยายไปยังยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส
นโยบายการลงทุนของดุสิต ฟู้ดส์ จะเน้นลงทุนในธุรกิจที่สามารถเชื่อมต่อ สร้างคุณค่า และยกระดับเพิ่มมาตรฐานให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม โดยบริษัทวางเป้าหมายสร้างรายได้จากธุรกิจอาหารรวม 1,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี (2562-2564) และในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจอาหารไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ดุสิต ฟู้ดส์ ได้เข้าไปลงทุนด้วยการถือหุ้น 26% ในบริษัท เอ็นอาร์อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด หรือ NRF ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 25 ปี ผลิตสินค้าส่งออก 25 ประเทศทั่วโลก ให้กับแบรนด์ต่างๆ กว่า 50 แบรนด์ และเข้าลงทุนในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด หรือ ECC ซึ่งเป็นผู้นำให้บริการผลิตอาหารให้กับโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยกว่า 30 แห่ง โดยเข้าไปถือหุ้น 51% และวางแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 19% รวมเป็นถือหุ้น 70% ในต้นปี 2563