14 กุมภาพันธ์ 2562….ปี 2561 บริษัทจดทะเบียนไทยมีความโดดเด่นในการพัฒนาด้านความยั่งยืน เพิ่มขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากผลการประเมินการจัดอันดับความยั่งยืนจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ
ผลงานเหล่านี้ไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้แสดงถึง ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการเติบโตขององค์กรอย่างมั่นคงต่อเนื่องในระยะยาวเท่านั้น แต่ผลงานเหล่านี้ยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุน ตามแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืนที่นำประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) มาเป็น องค์ประกอบในการตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของบริษัท
บทความนี้ จึงขอสรุปรวบรวมผลความก้าวหน้าด้านการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย ในรอบปี 2561 มาเพื่อทราบอีกครั้ง
Corporate Governance Report of Thai Listed Companies (CGR)
การประเมินการรายงานด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย ดำเนินการประเมินโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งจะประเมินภาพรวมของการกำกับดูแลกิจการของบริษัท จดทะเบียนไทย โดยดูจากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณชนใน 5 หมวด คือ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติ ต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
ASEAN CG Scorecard
เป็นการประเมินที่ริเริ่มโดย ASEAN Capital Markets Forum ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนของ ก.ล.ต. ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อทำการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 100 อันดับแรกของกลุ่มประเทศอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ณ วันที่ 31 มีนาคมของปีที่ทำการประเมิน
จากผลการสำรวจในปี 2561 บริษัทจดทะเบียนไทยยังคงเป็นผู้นำโดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด เท่ากับ 85.73 คะแนน
“หุ้นยั่งยืน”
Thailand Sustainability Investment (THSI)
การประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วม การประเมินความยั่งยืนที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการประเมินครอบคลุมคำถามในมิติ ESG ซึ่งบริษัทที่ผ่านการคัดเลือก ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต้องมีคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืน อย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติ ESG หรือเป็นบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก ให้เป็นสมาชิกของ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) รวมทั้งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล ผลประกอบการ ด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน การไม่สร้าง ผลกระทบด้าน ESG เป็นต้น
ปี 2561 มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนจำนวน 75 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มี 60 บริษัท
“ดัชนีความยั่งยืน”
SETTHSI Index
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำดัชนีความยั่งยืน SETTHSI Index ในปี 2561 ซึ่งเป็นครั้งแรกในตลาดทุนไทย โดยคัดเลือกหุ้นจากหุ้นยั่งยืน (THSI) ปีล่าสุดที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว และจำนวน หุ้นซื้อขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัทเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน
ในครึ่งปีแรกของปี 2562 มี 57 บริษัทจดทะเบียนเป็นสมาชิกของ ดัชนี SETTHSI
Dow Jones Sustainability Indices (DJSI)
การประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการเชิญให้เข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่จัดทำโดย RobecoSAM เพื่อคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี DJSI ซึ่งบริษัท ที่ได้รับเชิญจะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่า หลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับด้วยการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-float adjusted market capitalization) ไม่ต่ำกว่า US$ 500 million และผ่านเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางธุรกิจ (Corporate Sustainability Assessment) ใน 3 มิติ ESG ซึ่งแบบประเมินความยั่งยืนของ DJSI นั้น ถูกออกแบบเฉพาะ ตามกลุ่มอุตสาหกรรม 60 กลุ่มที่ RobecoSAM จัดทำขึ้นอ้างอิงจากมาตรฐาน GICS (Global Industry Classification Standard) โดยคัดกรองบริษัทที่มีคะแนนการประเมินสูงที่สุด 10% ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (best-in-class)
ในปี 2561 มี 19 บริษัทจดทะเบียนไทยเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI Emerging Market และ 8 บริษัทจดทะเบียนเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI World ซึ่งประเทศไทยยังคงมีจำนวนบริษัทสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2557 โดยในจำนวนนี้ มี 5 บริษัทจดทะเบียนได้รับคะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของโลกด้านความยั่งยืนใน 5 กลุ่ม อุตสาหกรรม (ปี 2560 มี 16 บริษัทจดทะเบียนเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI Emerging Market และ 5 บริษัทจดทะเบียนเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI World)
MSCI ESG Index
การประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนโดย MSCI ESG Research เป็นผู้รวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนของ บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ภายใต้ MSCI All Country World Index และไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน ยาสูบ พลังงานนิวเคลียร์ และอาวุธจากแหล่งต่างๆ โดยรวบรวมจากข้อมูลเผยแพร่ ของบริษัท ข้อมูลของหน่วยงานรัฐ งานวิจัยจากสถาบันการศึกษา ฐานข้อมูลออนไลน์ ข่าวจากสื่อต่างประเทศ และสื่อท้องถิ่น รวมถึงรายงานและบทสัมภาษณ์จากกลุ่ม NGO
ในปี 2561 มี 32 บริษัทจดทะเบียนเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน MSCI AC ASEAN ESG UNIVERSAL
FTSE4Good Index
การประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน โดย FTSE Russell รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทที่อยู่ใน FTSE Index และไม่เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทยาสูบ อาวุธหรือส่วนประกอบ อาวุธ และถ่านหิน โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่บริษัทมีการเผยแพร่ เช่น รายงานประจำปี เว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น
ในปี 2561 มี 34 บริษัทจดทะเบียนเป็น สมาชิกของดัชนีความยั่งยืน FTSE4 Good Emerging Indexes
รางวัล “United Nations Sustainable Stock Exchanges Market Transparency Award” เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ที่มีบริษัท จดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนโดดเด่นและ มีคุณภาพมากที่สุด โดยสำรวจจากบริษัทจดทะเบียน ทั่วโลก 4,300 แห่งที่อยู่ในฐานข้อมูลของ FTSE Russell ESG Research ซึ่งเป็นผู้จัดทำดัชนี FTSE โดยพิจารณา ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน 7 ประเด็น ได้แก่
1) การจัดการ ก๊าซเรือนกระจก
2) การใช้พลังงาน
3) การใช้น้ำ
4) การจัดการของเสีย
5) อัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน
6) อัตราการลาออกของพนักงาน
7) สัดส่วนจำนวนพนักงานชั่วคราวต่อพนักงานทั้งหมด
การจัดอันดับนี้ได้เปิดเผยในรายงาน Sustainable Stock Exchanges Initiative “2018 Report on Progress” เรื่อง Measuring Sustainability Disclosure
จากผลการสำรวจปี 2561 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่อันดับที่ 7 จากตลาดหลักทรัพย์ 35 แห่งทั่วโลก (ในปี 2560 เป็น อันดับ 10) โดยเป็นที่หนึ่งในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์เกิดใหม่ (Emerging Markets) และเป็น ตลาดหลักทรัพย์เอเชียเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่มีบริษัทจดทะเบียนเปิดเผย ข้อมูลด้านความยั่งยืนโดดเด่นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
เหล่านี้เป็นที่น่าภาคภูมิใจของประเทศไทยที่บริษัทจดทะเบียนไทยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืนและขีดความสามารถในการพัฒนาธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
โดย วรางคณา ภัทรเสน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เนื้อหาเกี่ยวข้อง