2 สิงหาคม 2562… 1 แสนล้านล้านเหรียญสหรัฐ เม็ดเงินมากกว่า GDP ของโลก ถูกควบคุมโดยหลักทรัพย์จัดการกองทุนทั่วโลก คนกลุ่มนี้คุม Direction ธุรกิจได้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดได้ 1 ในนั้นคือการเกิด ESG & ร่วมมือภาคสังคม
ในช่วงงาน SET Social Impact Day 2019 ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เล่าเรื่อง ESG คนอาจจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ว่ามีความสำคัญมากๆ ที่ตลาดทุนจะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้
“หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ธุรกิจต้องเกรงใจตลาดทุนเพราะต้องเข้ามาระดมทุนที่นี่”
แต่ในประเทศไทย คนทำธุรกิจ ยังสงสัยเรื่อง “ความยังไม่แน่นอนของ ESG ในตลาดทุน”
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล่าเรื่องนี้ว่า
“ESG สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหลักแน่นอน ต้องทำเรื่องอะไรบ้าง ทำแล้วดีแน่ๆ แต่คนยังไม่เห็นประโยชน์ ESG ชัดเจน เหมือนกับที่บอกว่า ผมทำดีแล้วผมได้อะไร ไม่เห็นกู้เงินได้ถูกลงเลย ไม่เห็นมีนักลงทุนมากขึ้นเลย เรื่องนี้ คือสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันทำ เรื่องนี้ทั่วโลกมีปัญหาเดียวกันหมด ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ดังนั้นต้องพยายามชี้ให้เห็นเชิงเปรียบเทียบ 2 บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทุกอย่างดีเท่ากัน แต่บริษัทหนึ่งทำเรื่อง ESG มากกว่าได้ก็จะได้ประโยชน์มากกว่า และมีอะไรบ้าง”
ต่างประเทศเขาคุยอะไรกัน
ดร.ภากร กล่าวเสริมว่า การเข้าร่วมงาน UN One Sustainability Day ที่ New York ประเด็น ESG นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เจ้าของงานเชิญนักลงทุนมาพูด โดยชี้ให้เห็นว่า
“คุณเห็นประโยชน์เรื่องนี้หรือยัง แม้ยังวัดไม่ได้ แต่อย่างน้อยใช้เป็น Screening Process ถ้าเขาจะลงทุนในหุ้นอะไรบ้าง หุ้นเหล่านั้นจะต้องมีเรื่องพวกนี้ดี จะต้องมีรายงานเรื่องนี้ ต้องมีการพูดถึงว่า จะต้องดูแลประเด็น ESG อย่างไรบ้างเป็นไปตามเกณฑ์ที่เขาต้องการหรือไม่ นี่คือจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
วันงานดังกล่าว มี MSCI และ S&P (ถือเป็น 3rd Party ) มาเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มทำโปรเจคมาวิเคราะห์ มีรายงานของบริษัทว่า บริษัทนี้ทำเรื่อง ESG & Sustainability มีผลดีไม่ดีอย่างไร มีผลแรงหรือไม่แรงอย่างไรบ้าง ขั้นต่อไปอาจจะเปรียบเทียบกับอินดัสตรีอื่น ๆ ในประเทศ ในโลก
ไพบูลย์ ยกตัวอย่างประเทศในสแกนดิเนเวีย เป็นที่แรกที่ตัดสินใจเลยว่า ถ้าบริษัทใด ๆ ก็ตาม ไม่ผ่านเกณฑ์เรื่อง ESG เขาจะไม่ลงทุนเลย
“หลายครั้งที่ผมพาบริษัทน้ำมันของประเทศไทย ไปพบนักลงทุนที่ Nordic Investment Bank จะมีคำถามเยอะมาก เพราะน้ำมันเป็นฟอสซิล และหลายอย่างที่เขาแอนตี้ แม้กระทั่งบริษัทที่เขาบริหารเงินของประเทศใหญ่ที่สุดเช่นนอร์เวย์ เป็นของรัฐบาล ตัดสินที่จะไม่ลงทุนกับบริษัทที่เป็นน้ำมัน และแก๊ส เพราะเขามองเป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน นี่คือการสร้าอิมแพค ซึ่งเราอาจจะมองผิวเผินว่า ไม่มีความหมายอะไร แต่จริง ๆ ทำให้ธุรกิจเราจำเป็นต้องปรับตัวเอง เปลี่ยนตัวเอง”
ถ้าเป็นเรื่องสังคม เช่นแรงงานทาส บริษัทซีฟู้ดที่ต้องใช้แรงงานประมง นักบริหารเงินทั่วโลกหลายคนลงทุนไม่ได้ เพราะติดลิสต์นี้ หรือคุณมีปัญหาเรื่อง ละเมิดสิทธิมนุษยชน
“นี่คือการสร้างแรงกดดันทางอ้อม บริษัทเหล่านี้ต้องเปลี่ยนตัวเอง เพื่อที่จะระดมทุนขยายกิจการได้ต่อเนื่อง”
คุยแล้ว ธุรกิจลงมือทำอะไรบ้าง
ไพบูลย์เล่าประสบการณ์ที่เห็นการลงมือทำเรื่อง ESG บนเวทีการประชุมนานาชาติที่เปลี่ยนไปจากอดีต ในอดีตเวลาเข้าร่วมงานประชุมต่าง ๆ ที่บริษัททั่วโลกนำเสนอธุรกิจตัวเองกับนักลงทุน 90% ของพรีเซนเตชั่น จะโฟกัสที่ธุรกิจตัวเอง และการเงิน ตัวเลขทั้งนั้นเลย
ปัจจุบัน ประมาณ 40% ของพรีเซนเตชั่นจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง ESG เลย หากบริษัทใดไม่พูดเรื่องนี้ ไม่มีทางได้เงินจากนักลงทุน
“ล่าสุด ผมเพิ่งไปที่ประเทศฝรั่งเศส เป็น Global Conference ได้เชิญบริษัทแบรนด์ระดับโลกมาหมด เช่นโคคา-โคล่า เขาขายน้ำ และใช้น้ำเยอะ และน้ำจะหมดไปจากโลกนี้ ซึ่งทุกคนตื่นตัวเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นโคคา-โคล่าจะคืนน้ำ พูดชัดว่ามีนโยบายคืนน้ำสู่สังคม ใช้น้ำ 100 คืน 100 ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำ การสร้าง Water Treatment Society ต่าง ๆ เป็นนโยบายที่จะต้องประกาศอย่างชัดเจน ต้องทำเรื่องเหล่านี้เพื่อตอบโจทย์บริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง หรือหายไป จะต้องมีคำตอบให้นักลงทุนในตลาดทุน ซึ่งจะเอาเงินไปลงทุนได้”
ส่วนน้ำดื่มเอเวียงมีนโยบายชัดเจนของการนำวัสดุที่ทำน้ำดื่มจะรีไซเคิล 100% ภายในปี 2025 ตอนนี้เขาทำได้ 70-80%
ดร.ภากรยกตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงความประทับใจ คนที่มาพูดของ MSCI เขาบอกว่าเขามาจาก NGO นี่คือคนที่รู้จริง และรู้ว่าจะวิเคราะห์อะไรบ้าง จากคนที่ไม่สนใจเรื่องเงินเลย แต่มาอยู่ Index Agency ที่ต้องมาตีค่าของแต่ละกิจกรรม ออกมาเป็นมูลค่าอย่างไรบ้าง คนอย่างนี้คือคนที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ เขาบอกว่า แต่ละอีเวนท์ที่แต่ละบริษัททำ ผลออกมาเป็นอย่างไรบ้าง นับเป็นความน่าสนใจมากวิธีที่เขาเลือกคน และวิธีที่เขาวิเคราะห์
“เขาถามผมว่า คุณจะให้ความช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียนในเรื่องการจัดการพลาสติกอย่างไร? คุณผลิตและคุณทำลายมันที่ไหน ซึ่ง Mindset นักลงทุนทั่วโลกแอคทีฟเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
ไพบูลย์เห็นว่า คนที่บริหารเงินเหล่านี้ไม่ใช่ทำเพื่อกระแสที่ให้ความสำคัญกับ ESG เท่านั้น จริง ๆ แล้ว ตอบโจทย์เขาเองด้วย เพราะคนเอาเงินไปลงทุนย่อมต้องการเห็นผลตอบแทน ตอนนี้พิสูจน์แล้ว แล้วหากดำเนินธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ สุดท้ายก็ไปไม่ได้ เพราะผู้บริโภคนั่นแหละเป็นคนตัดสิน ในต่างประเทศผู้บริโภคจะไม่ซื้อสินค้ากับบริษัทที่ไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้เลย แพงหน่อยไม่เป็นไร นี่คือการกดดันทางอ้อม
“ภาคธุรกิจอาจจะมอง ESG และความร่วมมือกับภาคสังคมเป็นเรื่องไกลตัว ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่สังคมจะ Sanction เองโดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ หากไม่ทำเรื่องเหล่านี้ ธุรกิจอยู่ไม่ได้แน่ ๆ ต้องมีนโยบายเรื่องนี้จริงจัง”
เมื่อหลาย 10 ปีที่แล้วบอกว่า จะไม่ลงทุนกับสิ่งที่เป็นอบายมุข หรือจะไม่ลงทุนกับประเทศที่มีระบอบการปกครองที่เขาไม่เห็นด้วย ต้องมีธรรมาภิบาล นี่คือวิธีสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่นับจากนี้เป็นต้นไป ธุรกิจจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ไม่ได้มีเรื่องธรรมาภิบาลอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมประกอบกันไป และแน่นอนคนที่บริหารเงินและต้องนำเงินไปลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ เขาจะต้องมั่นใจให้ได้ว่า ธุรกิจนั้นตอบสนองนโยบายเหล่านี้
สุดท้าย ถ้าธุรกิจคุณ จำเป็นต้องค้าขายและเป็น 1 ในซัพพลายเชนของบริษัทข้างต้น ก็คงปฏิเสธ ESG ไม่ได้เช่นกัน เพราะจะอยู่ใน Code of Conduct บริษัทที่คุณเป็นคู่ค้าด้วย
Cr.ภาพประกอบ
- SET Social Impact Day 2019
- Nordic Investment Bank
- MSCI
เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง