SD DAILY

ESG ของ “ไทยยูเนี่ยน” ส่วนของ G กับแรงงานในเรือประมง เพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพการทำงาน

23 พฤศจิกายน 2565… เพิ่มเติมจากการตรวจปกติที่ไทยยูเนี่ยนดำเนินการบนฝั่งกับเรือประมง ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 การว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจประเมินสภาพการทำงานบนเรือถ่ายลำรวมถึงสวัสดิภาพของแรงงานบนเรือเบ็ดราวเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ โดยการประเมินครั้งนี้เป็นการตรวจสอบที่ปรึกษาตรวจประเมินการทำงานบนเรือถ่ายลำเป็นครั้งแรก เพื่อประเมินสภาพการทำงานและสวัสดิภาพของลูกเรือในเรือประมงให้การทำประมงมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

ไทยยูเนี่ยน มุ่งหวังว่าการตรวจประเมินนี้จะช่วยยกระดับการประเมินที่บริษัทได้ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบผ่านทางดาวเทียมและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงการตรวจสอบที่ท่าเรือ ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) และแนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้ใช้เป็นแนวทางในการตรวจประเมินเรือประมงทั่วโลกที่จัดหาปลาและอาหารทะเลอื่น ๆ ให้กับบริษัท

สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้ที่ปรึกษาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในท้องทะเลเป็นเวลา 34 วัน เพื่อทำการประเมินเรือเบ็ดราว จำนวน 19 ลำ ที่ปรึกษากล่าวถึงการปฏิบัติงานในครั้งนี้ว่า

“นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากในการใช้เวลาอยู่บนเรือเบ็ดราวภายใต้โครงการนี้ที่มุ่งพัฒนา ดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและสภาพความเป็นอยู่ของคนงานบนเรือประมง จากประสบการณ์การทำงานด้านนี้มา 13 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่าคนงานบนเรือประมงรู้สึกว่ามีคนเป็นห่วง ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และมีคนรับฟังเสียงของพวกเขา โครงการประเมินสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานบนเรือในท้องทะเลนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำได้ทั่วโลก เป็นจุดเชื่อมโยงแรงงานประมงกับสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกันและสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น”

งานที่เสี่ยงอันตราย
ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญและดำเนินโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะการทำงานตรวจประเมินเรือประมงที่ลอยอยู่กลางทะเลนั้นมีความเสี่ยง ผู้สังเกตุการณ์แรงงานประมงที่ทำงานอยู่กลางทะเลนั้นอาจตกเป็นเป้าโดนทำร้าย ข่มขู่ หรือในกรณีร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิต ตามข้อมูลจาก สมาคมผู้สังเกตุการณ์อาชีพ หรือ Association of Professional Observers (APO) พบว่าในช่วงปี 2558-2563 แต่ละปีมีผู้สังเกตุการณ์เสียชีวิตปีละ 1-2 คน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไทยยูเนี่ยนจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่มีความสามารถในการให้คำแนะนำแก่บริษัทและรับรองความปลอดภัยให้กับผู้สังเกตการณ์ได้

ที่ปรึกษาที่ทำการตรวจสอบในครั้งนี้คือ MRAG ซึ่งมีประสบการณ์ในการส่งผู้สังเกตการณ์และผู้ประเมินเข้าทำงานบนเรือประมงและเรือลำเลียงต่างๆ ที่ปรึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้ออกเดินทางไปกับเรือเพื่อสังเกตการณ์นั้น เป็นผู้ที่ได้ทำงานและตรวจประเมินเรือลำนั้นๆ บนฝั่งมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นเรือที่อยู่ในโครงการพัฒนาเรือประมงของไทยยูเนี่ยนระหว่างการประเมิน โครงการนี้ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกอันเป็นประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจประเมินเฉพาะที่ท่าเรือ ท่านสามารถอ่านผลการรายงานได้ที่ เว็บไซต์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนหรือ SeaChange®

การตรวจประเมินเรือประมง
ในท้องทะเลในอนาคต

หลังโครงการนี้เสร็จสิ้น ไทยยูเนี่ยนสามารถต่อยอดผลการตรวจประเมินรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) โดยไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนามาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการตรวจประเมินเรือประมงกลางทะเล และการประเมินที่ท่าเรือ ซึ่งไม่เพียงแต่กระบวนการตรวจสอบในโครงการนี้เท่านั้น แต่เป็นการยกระดับและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมประมงให้ดีขึ้น ไทยยูเนี่ยนยังมีแผนที่จะทำการประเมินเรือประมงในท้องทะเลในโครงการพัฒนาอื่น ๆ อีกด้วย

ไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นผลักดันให้มีการทำประมงที่โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบริษัทคู่ค้า แสดงถึงความรับผิดชอบและการสนับสนุนให้บริษัทคู่ค้าร่วมพัฒนาไปด้วยกัน

 

You Might Also Like