13 มกราคม 2566… เอสซีจี ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ นิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง และ ไทยนิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ศึกษาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน จากการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเป้าหมาย Net Zero Cement & Concrete ภายในปี 2050
สุรชัย นิ่มละออ Chief Innovation & Technology Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด และวิเชษฐ์ ชูเชื้อ Chief Operating Officer บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลง “การศึกษาความเป็นไปได้ในการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์จากก๊าซเผาไหม้ ที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” กับ Takashi Suzuki (ทาคาชิ ซูซูกิ) BoD Environment Energy Sector – Nippon Steel Engineering Co., Ltd. (NSE) และ Masaya Watanabe (มาซายะ วาตานาเบะ) CEO – Thai Nippon Steel Engineering and Construction Corporation, Ltd. (TNS)
ความร่วมมือดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจาก New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ของรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ นำโดย ชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี และ Yukito Ishiwa (ยูกิโตะ อิชิวะ) Representative Director and President – NSE Group เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Cement & Concrete ในปี 2050
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 30 ล้านตันต่อปี ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ได้ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างเร่งด่วน หนึ่งในแผนการดำเนินงาน คือ การศึกษาและนำเอา Carbon Capture and Utilization (CCU) เทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับและเหมาะสำหรับการนำมาใช้ดักจับก๊าซ เผาไหม้ที่มีความดันค่อนข้างต่ำและความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำในปริมาณมาก เช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ทุกประเภท รวมถึงก๊าซจากปล่องของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางเอสซีจี และ NSE จะได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในระบบการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบดูดซับสารเคมีที่พัฒนาขึ้นภายในบริษัท ที่เรียกว่า “ESCAP™”[1] เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซเผาไหม้ที่ปล่อยออกมาจากโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของเอสซีจี ที่จังหวัดสระบุรี และจะพัฒนาโครงการ[2] และโมเดลทางธุรกิจในการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ โดยจะเปลี่ยนให้เป็นก๊าซมีเทน รวมถึงก๊าซออกซิเจนที่เกิดจากกระบวนการผลิต จะถูกนำกลับไปใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ความร้อนที่เกิดจากระบบส่วนหนึ่งจะถูกนำไปหมุนเวียนในระบบ ESCAP™ เพื่อเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตปูนซีเมนต์ด้วยความรับผิดชอบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม
เบื้องต้นเอสซีจี มีแผนเตรียมโรงงานนำร่อง (Demonstration Plant) ที่พัฒนาร่วมกับ NSE ในปี 2024 (โดยประมาณ) เพื่อนำผลการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีดังกล่าว และนำข้อมูลไปออกแบบและติดตั้งโรงงานในเชิงพาณิชย์ (Commercial Plant) ต่อไป เพื่อให้ได้ระบบที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโรงงานผู้ผลิตปูนซีเมนต์ อันเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของเอสซีจี เพื่อบรรลุเป้าหมาย “Net Zero Cement & Concrete ภายในปี 2050” สอดคล้องตามแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ “1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ Plus เชื่อมั่น โปร่งใส”
ข้อมูลเพิ่มเติม
[1] คุณสมบัติของ ESCAP™ เป็นระบบดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประหยัดพลังงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ ในตลาด มีความได้เปรียบในด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อันเป็นปัจจัยที่จะทำให้โครงการเป็นไปได้มากขึ้น นอกจากนี้ ความบริสุทธิ์ของ CO2 ที่ได้ยังสูงมากพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ทำให้สามารถสร้างให้เกิดโมเดลธุรกิจได้หลากหลาย ปัจจุบันมีโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีนี้สองแห่งในญี่ปุ่น ขนาด 120 ตัน/วัน และ 143 ตัน/วัน ตามลำดับ โดยโรงงานแห่งแรกดำเนินงานมาแล้วตั้งแต่ปี 2014
[2] โครงการนี้เป็นโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจาก New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ในหัวข้อ International Demonstration Project on Japan’s Energy Efficiency ในปี 2022 ครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในระดับพื้นฐาน (Basic Study)