10 พฤศจิกายน 2566…การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้อยู่ภายใต้โครงการ CAP SEA (แคป ซี) มีเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
ฮันส์-อูลริช ซืดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้สนับสนุนประเทศไทยในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แผนปฏิบัติการ และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อป้องกันและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ สำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะเน้นไปที่การรับมือกับมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติก รวมถึงการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะพลาสติก ผ่านการแบ่งปันความรู้ ทรัพยากร และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570)
ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ กรุงเทพมหานคร และ GIZ ร่วมดำเนินงานใน 4 แนวทางต่อไปนี้
1.การพัฒนาแนวปฏิบัติในการลดและป้องกันพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในระดับเมือง ตามหลักการการเรียกเก็บค่ามัดจำจากผู้ซื้อ และจะคืนเงินเมื่อนำผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์นั้นมาคืน ณ จุดที่กำหนด (Deposit Return Scheme – DRS) โดยจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในงานอีเวนต์หรืองานเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดในกรุงเทพมหานคร
2.การศึกษาประเด็นการเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม (Preconditions) สำหรับการจัดตั้งระบบ DRS ในระดับเมือง โดยเฉพาะการคืนขวด PET ผ่านเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์แบบอัตโนมัติ
3.การพัฒนาข้อเสนอแนะสำหรับการใช้และบำรุงรักษาระบบเติมน้ำดื่มสาธารณะเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในด้านสุขอนามัย
4.การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดและป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
ความสำเร็จของการดำเนินงานจะถูกวัดและประเมินผลผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกของโครงการฯ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในไทยและต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป