SD DAILY

เมื่อ “กองทรัสต์” จะเป็นเครื่องมือรองรับการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

16 กุมภาพันธ์ 2567…ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการในการจัดตั้งและจัดการทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Investment Trust) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนเพื่อพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ที่ต้องการระดมทุน

ปัจจุบันแนวคิดด้านการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงการที่อนุรักษ์หรือรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพื้นที่ที่มีวัตถุประสงค์สำหรับการปลูกป่าเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนเพื่อพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ที่ต้องการระดมทุนที่มีทรัพย์สินเป็นพื้นที่สำหรับการปลูกป่าโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น เกษตรกรและชุมชนสามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ได้

 

ทั้งนี้ มกราคม 2567 คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้ใช้ทรัสต์เป็นเครื่องมือรองรับการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยสรุปลักษณะสำคัญของกองทรัสต์ ดังนี้

(1) มีนโยบายลงทุนในผืนที่ดินในไทยที่มีการปลูกป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอน ซึ่งอย่างน้อยต้องได้รับการขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือมาตรฐานคาร์บอนเครดิตสากลอื่นที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป

(2) จัดหาผลประโยชน์โดยการขายคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก

(3) ทรัพย์สินที่ลงทุนต้องสามารถประเมินมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ และเป็นไปตามหลักวิชาการและต้องมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าหน่วยทรัสต์ที่เสนอขายทั้งหมดรวมถึงเงินกู้ยืม (ถ้ามี)

(4) โครงสร้างกองทรัสต์จะมีทรัสตีทำหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทรัสต์คัดเลือกและแต่งตั้งผู้จัดการกองทรัสต์ และดูแลให้ผู้จัดการกองทรัสต์บริหารจัดการกองทรัสต์ให้เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์

(5) ผู้ลงทุนต้องเป็นผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ* เนื่องจากการลงทุนของกองทรัสต์อาจใช้ระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างนานและผลตอบแทนที่จะได้รับมีความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=975 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail : fundraisingpolicy@sec.or.th จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2567

 

หมายเหตุ : * ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 39/2564 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564

 

ที่มาภาพเปิดเรื่อง คลิก

 

You Might Also Like