27 กุมภาพันธ์ 2567…โอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักกับการลงทุนที่ยั่งยืน ในลักษณะ “Who cares earns” (ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ)”
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทางความยั่งยืน ปี 2567 ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวล 3 กลยุทธ์ ESG เพื่อให้กิจการใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย
-Chance: หาโอกาสในมิติเศรษฐกิจ
-Choice: สร้างทางเลือกในมิติสังคม
-Change: เปลี่ยนแปลงในมิติสิ่งแวดล้อม
พร้อมกับการประเมินทิศทางความยั่งยืน ปี 2567 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ได้แก่
1. ESG -> License to Earn
ใช้ ESG เป็นใบอนุญาตรับผลตอบแทน
กิจการที่ใส่ใจดูแลผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จะนำเรื่อง ESG มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ในลักษณะที่เสริมกับการสร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพของกิจการ โดยยังส่งผลต่อมูลค่าของกิจการในทิศทางที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน เสมือนเป็น License to Earn หรือใบอนุญาตรับผลตอบแทนของกิจการที่ประกอบธุรกิจโดยใส่ใจเรื่อง ESG
2. One Report -> Double Materiality
แสดงทวิสารัตถภาพในรายงานเดียว
กิจการที่มีการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูล One Report ที่ต้องการยกระดับการรายงานความยั่งยืนให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เนื่องจากมีการดำเนินการค้าขายหรือมีสาขากิจการอยู่ในสหภาพยุโรปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ จะต้องริเริ่มเตรียมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนโดยมีการประเมินทวิสารัตถภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards)
3. Net Zero -> Scope 3 Emissions
รวมมลอากาศในขอบเขตที่ 3 สู่เป้าสุทธิเป็นศูนย์
กิจการที่มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จำเป็นต้องพัฒนาการจัดทำบัญชีรายการก๊าซเรือนกระจกที่สามารถรวบรวมปริมาณมลอากาศในขอบเขตที่ 3 เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง โดยหากกิจการเลือกที่จะไม่รายงาน ต้องมีเหตุผลรองรับ
4. Weaker Governance -> Greener Washing
กำกับดูแลยิ่งอ่อน การฟอกเขียวยิ่งเข้ม
การฟอกเขียวมีแนวโน้มที่จะขยายวงเพิ่มสูงขึ้น ตราบที่การกำกับดูแลภาคธุรกิจต่อการเปิดเผยข้อมูลและการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนยังไม่เข้มแข็ง ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่องค์กรจำหน่าย หรือผู้ลงทุนที่ต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งที่น่าเชื่อถือภายนอก ที่มิใช่ข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยโดยลำพัง
5. Real Bottom Line -> Nature Profit
ให้ธรรมชาติกำไร เป็นจริงในบรรทัดสุดท้าย
จะมีกิจการที่เปิดเผยข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และออกรายงานตามกรอบ TNFD เพิ่มจำนวนขึ้น เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นไปเพื่อการสร้างเสริมและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยสินทรัพย์ธรรมชาติที่เดิมมิได้ถูกบันทึกอยู่ในงบดุลของกิจการ จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานความยั่งยืนและการกำหนดมูลค่าของกิจการ
6. Sustainability Disclosure -> External Assurance
ให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลความยั่งยืนที่เปิดเผย
จำนวนของกิจการที่มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน และดำเนินการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องความเชื่อถือได้และคุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผยในด้านการดำเนินงานความยั่งยืนของกิจการ ที่ไปเสริมหนุนการกำกับดูแล การตัดสินใจ และการจัดการความเสี่ยงองค์กรให้เกิดประสิทธิผล