22 มีนาคม 2567…รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยติดตามเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมถึงแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการกำหนดโทษ สำหรับผู้ที่ก่อมลพิษ เพื่อป้องกันและลดปัญหามลพิษทางอากาศ ดังตารางด้านล่าง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน แม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดโทษตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle) แต่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมีความท้าทายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะมลพิษที่เกิดจากภาคเกษตรในระดับบุคคล เช่น การเผาขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ พื้นที่ ทำให้การดำเนินการเพื่อจับกุมอาจต้องอาศัยงบประมาณและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาค่า PM2.5 ของประเทศไทยยังคงเกินเกณฑ์มาตรฐานจนอยู่ในระดับอันตรายในหลายพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง
ดังนั้น การดูแลให้ประชาชนมีสิทธิในการได้รับอากาศสะอาดประเด็นอีกประเด็นที่ยังขาดการบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทำให้ยังคงมีช่องว่างของกฎหมายในการดูแลประชาชนในฝั่งของผู้ได้รับมลพิษ ให้ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ
ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศควรกำหนดแผนงานเป็นหลายระยะ ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนในระยะสั้น จนไปถึงแผนระยะยาวสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งไปรวมถึงการกำหนดเป้าหมายของนโยบายในระดับบุคคล และระดับอุตสาหกรรม โดยในระดับบุคคล แนวทางการแก้ไขคงต้องเน้นการปรับพฤติกรรมผ่านนโยบายสนับสนุนและกำหนดโทษ (The carrot-and-stick motivational approach) และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะจากการเผาซึ่งถูกมองว่าประหยัดต้นทุนและประหยัดเวลา แต่สร้างมลพิษ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาระดับโรงงานและอุตสาหกรรม การกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอากาศสะอาดที่ชัดเจนและครอบคลุม จะช่วยเร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 สารเคมี และมลพิษทางอากาศอื่น ๆ เพื่อสร้างสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับอากาศของประชาชนที่ปราศจากฝุ่นและมลพิษ และคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด (ร่าง พ.ร.บ.ฯ) ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา จะมาช่วยเชื่อมโยงกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นผล ให้ต้องดำเนินการเพื่อจัดหาอากาศสะอาดให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง ผ่านการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งระบบการตรวจคุณภาพอากาศที่สามารถระบุพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติเพื่อใช้เครื่องมือและจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที่ เพื่อให้อากาศสะอาดให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องรับรอง และปกป้องให้ประชาชนให้ได้รับอากาศที่ปราศจากมลพิษโดยกฎหมาย