7 มกราคม 2568…รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ และทีมงานได้ตรวจเยี่ยมการประชุมซักซ้อมที่ศาลาว่าการ กทม. เพื่อสร้างความเข้าใจและพัฒนาทักษะการสื่อสารของเจ้าหน้าที่สำหรับการจดทะเบียนสมรสตามพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม พ.ศ. 2567 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มกราคม 2568 นี้
ความสำคัญของการเตรียมความพร้อม
ศานนท์ระบุว่า การเปิดให้จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย พร้อมชี้ว่า
“ทะเบียนสมรสเท่าเทียมไม่ใช่เพียงเอกสาร แต่เป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจและต้องมีความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ”
ประชาชนที่ต้องการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในวันที่ 23 มกราคม กรอกรายละเอียดและส่งเอกสารล่วงหน้าผ่านลิงก์ https://form.jotform.com/Bangkokpride2024/equal-marriage-registration-confirm? ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนมาแล้ว 100 คู่ แบ่งเป็นจดทะเบียนสมรสที่สยามพารากอน 67 คู่ ส่วนที่เหลือจะอยู่ที่สำนักงานเขต คาดว่าจะมีผู้มาจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในวันดังกล่าวราว 300 คู่
เอกสารที่จำเป็นและค่าใช้จ่าย
ละไม อัศวเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กทม. เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ถึงสองครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารและการบริการ โดยสำหรับคนไทยที่ต้องการจดทะเบียนสมรสต้องเตรียมบัตรประชาชน หากเคยจดทะเบียนหย่ามาก่อน ต้องมีหลักฐานการหย่า ส่วนชาวต่างชาติจะต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม เช่น สำเนาหนังสือเดินทางและหนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูต ค่าใช้จ่ายในสำนักงานเขตไม่มี แต่กรณีการจดทะเบียนพิเศษที่สยามพารากอนจะมีค่าธรรมเนียมคู่ละ 20 บาท
สร้างความเข้าใจและพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารด้วยความเข้าอกเข้าใจ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น โดยระบุว่า
“การสื่อสารอย่างเป็นมิตรและเข้าใจความรู้สึกของผู้มาจดทะเบียน จะช่วยลดความตึงเครียดและสร้างความประทับใจในบริการ หลายครั้งเจ้าหน้าที่มักระบุว่าทำตามหน้าที่ ทำตามกฎหมาย แต่ความจริงมนุษย์ไม่ได้สื่อสารในระดับกฎหมายเท่านั้น แต่มีเรื่องความรู้สึก อารมณ์ และความเข้าใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทะเบียนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การสื่อสารด้วยความเป็นมิตรการเข้าอกเข้าใจ จะช่วยทำให้การทำงานของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างราบรื่น”
ในวันดังกล่าว การประชุมเน้นฝึกปฏิบัติเรื่องการพัฒนาทักษะการสื่อสารกับประชาชนให้เป็นมิตรและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างสังคมที่ยอมรับความหลากหลายและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกมิติ