TALK

อินเทรนด์ ทำเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ให้เป็นไลฟ์สไตล์ได้ทุก Generation

5 มิถุนายน 2564…SD PERSPECTIVES เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยหลายคนโดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z พกกระติกน้ำส่วนตัว พกถุงผ้า ยืนมองว่าจะทิ้งขยะในมือลงถังใด หรือมีพืชผักสวนครัวปลูกเองที่คอนโด/บ้าน/คอนโดฯลฯ ซึ่งกลายเป็นไลฟ์สไตล์ตระหนักในสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม กองบรรณาธิการ ก็มีโอกาสพบผู้ใหญ่ในกลุ่ม Baby Boomer คือคุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร มีไลฟ์สไตล์ดังกล่าวข้างต้นมานานกว่า 40 ปี และส่งผลเข้ามาในการทำงานตั้งแต่รับราชการที่กทม. ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มปลูกพืชผักอินทรีย์กินได้บนดาดฟ้าสำนักงานเขตหลักสี่ เมื่อปี 2522 ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ส่วนสำนักงานเขตอื่น ๆ ก็นำพื้นที่ใกล้ ๆ กันทำเรื่องแปลงสีเขียว นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำงานนำสิ่งของไม่ได้ใช้แล้วมารียูส เป็นของประดับลดการเป็นขยะ หรือการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงทำงานกับชุมชนในการจัดการคลองสวยน้ำใส ฯลฯ การตระหนักสิ่งแวดล้อมบางส่วนเช่นนี้ถูกคิดและลงมือทำมาตั้งแต่ที่คนจำนวนน้อยคิดถึงเรื่องนี้

พร้อม ๆ กับการรับราชการนั้น คุณหญิงณฐนนท ยังเคยเป็นกรรมการสภา 3 มรภ.คือพระนคร สวนสุนันทา ราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา ได้นำไลฟ์สไตล์ตระหนักในสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์สอนด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งในส่วนนโยบายสาธาณะก็หลีกไม่พ้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซี่งจะต้องเข้าพื้นที่จริงกับนักศึกษาเพื่องานวิจัยทางสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

คุณหญิงณฐนนท เยี่ยมชมพื้นที่สำนักงานเขต พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานเขต ซึ่งที่นี่ไม่สามารถใช้ดาดฟ้าทำพื้นที่สีเขียว ก็จะใช้พื้นที่ด้านล่างแทน

ปัจจุบัน คุณหญิงณฐนนท เป็นกรรมการสภาวิทยาลัยพยาบาล มรภ.สวนสุนันทา และกรรมการสภาวิทยาลัยทองสุข ได้นำสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการศึกษาทั้ง 2 สภา ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกันที่ทางภาครัฐ กำหนดให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวชี้วัดการทำงานของวิทยาลัยไม่ด้อยไปกว่าเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน

“ในการทำแผน 5 ปี 10 ปี สภาฯต้องมีรายละเอียดเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เช่น จะต้องมีพื้นที่สีเขียวจำนวนเท่าไหร่ การจัดการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ รวมถึงการนำของมารียูส เช่น การใช้ยางเก่ามาทำเป็นกระถาง หรือขวพลาสติกที่ทิ้งแล้วมาทำเป็นที่นั่งกลางแจ้งเป็นต้น โดยแผนเหล่านี้สกอ.หรือสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จะเข้ามาตรวจว่าเป็นไปตามแผนเช่นเดียวกับเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน ดังนั้นเรื่องของการบริหารจัดสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่สภาฯ จะต้องให้นโยบายเพื่อคณาจารย์นำไปประยุกต์ให้กับนักศึกษาระหว่างที่เรียนด้วย และนักศึกษาเองเมื่อเรียนจบก็สามารถนำเรื่องนี้ไปขยายผลได้ โดยเฉพาะนักศึกษาของวิทยาลัยทองสุข ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการของอปท.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็สามารถทำเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่รับชอบได้เลย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งเช่นกัน นอกจากนี้ก็มีนักศึกษาต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทยเข้ามาเรียน ก็จะได้เห็นการทำน้ำอีเอ็มที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านโดยใช้ฐานคิดจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถูกนำมาเป็นต้นแบบในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหลากหลายประเภทให้กับชุมชน และสถาบันการศึกษาได้อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันยังขยายความต่อเนื่องถึงแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมของสภาฯ เช่นนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยจะต้องเดินตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งของ UN หรือแม้กระทั่งที่ UNEP เพิ่งประกาศเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศ นับจากปี 2564 ถึง 2573 โดยย้ำว่าใครก็ทำได้ในประเด็นที่สนใจ ทั้งคนธรรมดา ชุมชน กลุ่มต่าง ๆ เอกชน รัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าเรี่องเหล่านี้เมื่อจะต้องทำโดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ ก็ต้องทำให้เป็นไลฟ์สไตล์

40 ปีที่แล้ว คุณหญิงณฐนนท เริ่มการรณรงค์การทิ้งขยะ ใช้ถุงผ้าซึ่งในครั้งนั้นทำงานกับภาคเอกชน นำของเหลือใช้มารียูสเป็นเฟอร์นิเจอร์

ในยุคแรกของคนในกลุ่ม Baby Boomer อาจจะไม่ได้พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จะพูดถึงการอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหญิงณฐนนทเมื่อรับราชการกทม.แล้ว ได้ทุนด้านสิ่งแวดล้อมไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ จากนั้นทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ก่อนกลับมาทำงานต่อที่กทม. ซึ่งภาพที่เห็นในยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมมีพัฒนาการมาก ดังนั้นแนวคิดดังกล่าวถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกทม.ในเวลาต่อมาคือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นยุคที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย

“ด้วยแนวคิดในการทำงาน กายภาพดี มีรายได้เหมาะสม สังคมร่วมใจ อนามัยสมบูรณ์ เพิ่มพูคุณธรรมตั้งแต่ปี 2533 ตอนที่รณรงค์กับชุมชนทำเรื่องคลองสวยน้ำใสไร้มลพิษ ปลูกต้นไม้ริมคลอง ไม่ใช้การจัดอีเวนท์ ที่จบแค่วันเดียว แต่ลุยเคาะประตูบ้านชุมชนที่อยู่ริมคลอง พูดคุยถึงความจำเป็นในการดูแลคลองของชุมชนเอง ไม่ทิ้งขยะ ทิ้งน้ำเสียในลำคลอง พร้อมกำหนดวันทำงาน และมีเรือมารับขยะ หรือในเวลานั้นมีโครงการลดการใช้โฟม และพลาสติก รณรงค์เปลี่ยนพวงหรีดโฟม เป็นการใช้ฟางข้าวแทน รวมถึงการเปลี่ยนพวงหรีดจากดอกไม้เป็นค้นไม้พวงหรีดใช้ผ้าห่มทำพวงหรีด เสร็จงานก็บริจาคผ้าห่มให้พระในวัดโดยเฉพาะภาคเหนือใช้ได้เลย รวมถึงการเปลี่ยนพวงหรีดดอกไม้มาเป็นพัดลมพวงหรีด เสร็จงานก็บริจาคให้วัด หรือจะบริจาคให้โรงเรียนที่ขาดแคลนพัดลม ซึ่งปัจจุบันเราเห็นพัดลมพวงหรีดอย่างแพร่หลายด้วยวัตุประสงค์เดียวกัน ส่วนผ้าห่มพวงหรีดยังพอมีอยู่บ้าง เพิ่มเติมช้อนส้อมจานพวงหรีดก็มีมากขึ้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนจำนวนไม่น้อยมีเรื่องการลดขยะอยู่ใน Mindset และกลายเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น”

ล่าสุด บางสำนักงานเขตใช้ระเบียงปลูกเมล่อน และได้ผลที่น่าสนใจมาก ส่วนอีกภาพเป็นการนำกกระถางแตกแล้วมาตกแต่งเป็นกระถางประดับสวนอีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันเมื่อคุณหญิงณฐนนท จะส่งพวงหรีดเคารพศพ ยังคงเลือกใช้พัดลมพวงหรีดแบบที่เคยทำมาต่อเนื่องเมื่อ 31 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าทำงาน จะเลือกผ้าที่ไม่จำเป็นต้องรีด เพื่อช่วยการประหยัดพลังงาน แต่เมื่อใช้เสื้อผ้าเหล่านี้ก็เรียบร้อยไม่แตกต่างจากผ้าที่ต้องรีด หรือในการซักผ้าด้วยมือ น้ำล้างน้ำยาปรับผ้านุ่ม จะถูกนำมาใช้เป็นน้ำถูบ้าน เช็ดโต๊ะ เช็ดโซฟา ส่งกลิ่นหอมให้ทั่วทั้งบ้าน

“เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นไลฟ์สไตล์ส่วนตัวมานานมาก ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะคิดถึงเรื่องนี้โดยปริยาย ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 นำมาเป็นต้นแบบ โดยไม่ต้องมีกฎระเบียบมาบังคับ หรือแม้กระทั่งการไปต่างถิ่นต่างพื้นที่ ตั้งแต่ยังรับราชการถึงวันนี้ สิ่งหนึ่งที่ยังต้องทำคือ ถ่ายภาพถังขยะเก็บไว้ ซึ่งวันนี้ดีใจที่เห็นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วย เพื่อเตรียมพื้นที่ของโลกใบนี้สำหรับคน Gen Z ที่มี Mindset ใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเขาจะต้องอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป” คุณหญิงณัษฐนนทกล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like