16 สิงหาคม 2564…SD PERSPECTIVES มองปรากฏการณ์โลกยังอยู่ในภาวะโควิด-19 และภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีผลมาจากภาวะโลกร้อน เอสซีจีมองปรากฏการณ์นี้ต่อเนื่องในอนาคตอย่างไร? หลังจากมีนวัตกรรมช่วยทั้ง 2 เรื่องสอดรับกับ ESG
ภาพบนน้ำท่วมตุรกี https://www.xinhuathai.com/inter/222100_20210815
ภาพล่างไฟป่าตอนเหนือรัฐแคลิฟอร์เนีย https://www.xinhuathai.com/inter/220514_20210807
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงปรากฏการณ์โลกยังอยู่ในภาวะโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เรื่องนี้ เป็นโจทย์ของทั้งโลกต้องมองเป็นสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นโจทย์ระดับโลกแต่ละประเทศต้องร่วมกัน ด้านหนึ่งผลกระทบโดยรวมของประเทศ ในกรณีที่ภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบในกลุ่มที่ความเปลี่ยนแปลงมาก ฝนบางทีก็มา บางทีก็ไม่มา อัตราฝนตกระหว่างจุดที่ต่ำสุด และสูงสุดมีรุนแรง ทำให้เกิดภาวะที่ว่า บางช่วงก็แล้งอย่างรุนแรง บางช่วงก็น้ำท่วมอย่างรุนแรง ผลกระทบในประเทศทุกคนรู้ว่า ถ้าเราไม่ลดการใช้ทรัพยากรที่เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปชั้นบรรยากาศโลก ตรงนี้จะเกิดผลรุนแรงได้ ทุกคนพูดถึงเสมอว่าถ้าอุณหภูมิขึ้นไปถึงบวก 2% จะถือว่ารุนแรงมาก ตอนนี้ลดลงมาไม่ต้องถึง 2 แค่1.5 ก็ถือเป็นผลกระทบที่รุนแรงมาก สำหรับคนไทย ประเทศไทย และรอบบ้านของเรา”
รุ่งโรจน์ กล่าวต่อเนื่อง ส่วนโจทย์ระดับพื้นที่ เป็นเรื่องที่เราต้องทำ ธุรกิจก็ต้องทำ ต้องมีแผนในการลดปริมาณคาร์บอนตรงนี้ ทำคนเดียวก็ไม่ได้ เราทำ แต่รอบบ้านเราไม่ลดก็ไม่ได้ เพาะฉะนั้นจะต้องเป็นลักษณะ ภาครัฐ เอกชนต้องร่วมกันประสานออกไปยังต่างประเทศด้วย
อีกด้านหนึ่ง ในส่วนบริษัท อุตสาหกรรมเองสามารถที่จะเข้าไปทำได้ ตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องฝุ่น จะเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกัน หรือการลดจำนวนฝุ่น หรือทำให้คนที่จะแยกออกมาจากปัญหาเรื่องฝุ่นได้อันนี้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีการระบายอากาศทำให้อากาศมีการหมุนเวียนภายในบ้าน ภายในอาคาร ตรงนี้จะมีส่วนช่วย
หรืออุตสาหกรรมการเกษตร ปัจจัยหลัก ๆ ที่สำคัญคือว่า น้ำ ดิน เป็นอย่างไร แรงงานเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมจะช่วยได้ตรงนี้ นำสมาร์ท ฟาร์มมิ่งมาช่วย ลดการใช้แรงงานลงทำให้เร็วขึ้น ดินทำได้โดยการดูแลสภาพดิน น้ำ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็สามารถช่วยดูแลได้ในการให้น้ำที่เหมาะสมกับการให้น้ำแต่ละพื้นที่ของเกษตรกร และได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และภาวะฉุกเฉินโลกร้อนที่ทั่วโลกต้องรับมือ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนและระบบเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ท้าทายภาคธุรกิจให้ต้องปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที ไม่เพียงให้รอดพ้นจากวิกฤต แต่รวมถึง “การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส” จับกระแส (Trend) ให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
รุกตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน
เทรนด์โลกที่เติบโตสูง
เมื่อ “ทุกวิกฤตถือเป็นโอกาส” โดยเฉพาะสินค้าด้านสุขอนามัยและสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) ที่เอสซีจีกำลังมุ่งไป โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่กับการเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้ามูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
“จากที่ครึ่งปีแรกของปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) คิดเป็น 34% ของรายได้จากการขายรวม หรือ 86,861 ล้านบาท เอสซีจีตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่วนนี้เป็น 50% ภายใน 3-5 ปีจากนี้”
พร้อมกันนี้ ยังมีความร่วมมือเปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือน หมุนเวียนกลับมาเป็นนวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) เพื่อใช้ผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย เร่งธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เติบโตสูง พร้อมการขยายตลาดในต่างประเทศ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง
วางแผนการลงทุน
เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว
รุ่งโรจน์กล่าวถึง การเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย เป็น 50% ในระยะ 3-4 ปีจากนี้ จากในครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่มีรายได้คิดเป็น 44% ของยอดขายรวม หรือ 112,272 ล้านบาท
“ภายใน 1-2 ปี โครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ของเอสซีจีที่เวียดนามจะเริ่มดำเนินการได้ รวมถึงการขยายธุรกิจของแพคเกจจิ้งในภูมิภาค เริ่มเห็นผล มียอดขาย และหากธุรกิจก่อสร้างและซีเมนต์ในต่างประเทศสามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้ จะทำให้สัดส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศสูงขึ้น”
นอกจากนี้ เอสซีจียังลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติให้บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด หรือ “เอสซีจี เคมิคอลส์” ซึ่งเอสซีจีถือหุ้นทั้งหมด เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ “CAP” ประเทศอินโดนีเซีย เป็นจำนวนเงิน 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,260 ล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใน CAP ที่ 30.57% โดยจะนำไปลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ แห่งที่ 2 (CAP2) ถือเป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากตลาดปิโตรเคมีในอินโดนีเซียถือว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีอัตราเติบโตสูง
“การลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ต้องอาศัยระยะเวลาดำเนินการ 4-5 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ จึงต้องวางแผนล่วงหน้า เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ต่อจากโครงการ LSP ที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566”
แม้การระบาดหนักของโควิด 19 ยังมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่สิ่งที่ภาคธุรกิจอย่างเอสซีจีดำเนินการคือ “เร่งปิดจุดเสี่ยง” ลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 มายังพนักงานและคู่ค้า โดยที่โรงงงานจะมีการตรวจเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอ มี Home / Company Isolation โดยมียาและอุปกรณ์การแพทย์ให้ รวมถึง Hospitelสำหรับพนักงานที่ป่วย ให้เข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อรักษาฐานการผลิตสินค้าไว้ ขณะเดียวกันยัง “เปิดโอกาส” แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเน้นการขายผ่าน “ช่องทางออนไลน์” และการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจตลอดซัพพลายเชน