29 กันยายน 2564…ในงาน Sustainable Thailand 2021 ผ่านช่องทางออนไลน์ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ Chief Environmental Officer ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษ โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม
“สถาบันการเงินต้องมีใบอนุญาต 2 ใบในการประกอบธุรกิจ คือ ใบอนุญาตการธนาคาร หรือ Banking License เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามกฎหมาย และใบอนุญาตทางสังคม หรือ Social License หมายถึงการได้รับการยอมรับจากสังคมในการดำเนินธุรกิจ และดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ธนาคารจึงต้องสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน แม้บางครั้งอาจต้องเผชิญความยากลำบากในระยะสั้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว”
ขัตติยาย้ำ “ถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ ธนาคารก็อยู่ไม่ได้” ธนาคารจะต้องสนับสนุนชุมชนด้วยการสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้การช่วยเหลือทางการเงินในช่วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถรับมือกับวิกฤตครั้งนี้และมีความเข้มแข็งที่จะดำเนินธุรกิจในช่วงหลังโควิด-19 ได้
นอกจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว วาระเร่งด่วนสำคัญของโลกคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกรวน ซึ่งต้องการการจัดการอย่างทันท่วงทีและในวงกว้างเพื่อบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบทุกฝ่าย
“ธนาคารกสิกรไทยต่างเชื่อว่าความพยายามในระดับนานาชาติที่สอดคล้องกับความตกลงปารีสเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องการการประสานพลังเพื่อลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง การดำเนินการดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนจากทางการ การสนับสนุนทางการเงิน และมาตรฐานที่เหมือนกันในแต่ละอุตสาหกรรมและตลอดห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ ขณะนี้บางประเทศและบางองค์กรได้ตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งในอนาคตก็จะมีอีกหลายประเทศและหลายหน่วยงานทั่วโลกที่จะเข้าร่วมปณิธานนี้ต่อไป”
ในแวดวงธุรกิจการธนาคารไทย ได้รับการสนับสนุนจากทางการในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยในการกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน โดยการให้ “สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ” และ “การพัฒนานิยามการเงินสีเขียว” (Green Taxonomy) หรือการจำแนกหมวดหมู่สำหรับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report ตามเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาธิบาล หรือ ESG
“ดิฉันในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Chief Environmental Officer ของธนาคารกสิกรไทย มีความมุ่งหวังให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้พิทักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารและแนวโน้มด้านความยั่งยืนของโลก นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยร่วมผลักดันให้คนไทยพิทักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งต่อโลกใบนี้แก่เยาวชนให้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบ สมดุล และยั่งยืน”
ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าร่วมลงนามรับ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินธุรกิจธนาคารอย่างยั่งยืนของโลก ซึ่งครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมในยุทธศาสตร์ทางธุรกิจด้วย นอกจากนี้ธนาคารยังได้เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures หรือ TCFD) ทั้งในด้านความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
“ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงิน ธนาคารส่งเสริมให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจในขณะที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยธนาคารให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจที่ยึดถือในหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ BCG ตัวอย่างเช่น เราใช้เกณฑ์ ESG ตามความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Screening Tools เป็นเครื่องมือในกระบวนการพิจารณาเครดิตด้วย”
ธนาคารกสิกรไทยได้จัดทำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งได้รับการรับรองการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ด้วย
“ถึงแม้ว่าธนาคารจะดำเนินงานอย่างจริงจังในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ยังมีภารกิจที่จะทำได้อีกมาก ธนาคารกำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงประสบความสำเร็จแล้วในบางเป้าหมาย ในขณะที่เราก็ยังต้องเร่งดำเนินงานให้เร็วขึ้นด้วย”
ขัตติยากล่าวในท้ายที่สุดว่า นอกเหนือจาก “ทำสิ่งดีและทำอย่างดี” แล้ว เรายังต้อง “ทำมากขึ้น” อีกด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น แต่เป็นทุกฝ่ายในระบบนิเวศนี้ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจ หน่วยงานทางการและภาคประชาชนที่จะต้องร่วมมือกันและมีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็งและยั่งยืน