4 พฤศจิกายน 2564…รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี อธิบายถึง 3 ความเสี่ยง ที่ธุรกิจตั้งเป้าเป็น Net Zero อย่างไรก็ตามในการ แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 เอสซีจีประกาศเดินหน้าสร้างการเติบโตระยะยาวด้วยกลยุทธ์ ESG
รุ่งโรจน์กล่าวถึงภาพรวม ๆ เมื่อคุยเรื่อง ESG (Environmental Social and Governance) มีปัญหาที่ชัดเจน 3 เรื่องคือ
1.เรื่องสิ่งแวดล้อมปัญหาของก๊าซเรือนกระจก (GHG)
2.เรื่องทรัพยากรธรรมชาติลดลง (Lost of Nature) ป่าเสื่อมโทรม ป่าถูกตัดไม้ น้ำถูกทำลาย
3.เรื่องความไม่เท่าเทียมกัน นับเป็นเรื่องสังคมที่มีความชัดเจนมาก
“ความเสี่ยงประเด็นแรกของ ESG คือ จากองค์ประกอบของปัญหาทั้ง 3 หากแก้ไขเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ทำได้ แต่จะส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 เรื่อง เพราะฉะนั้นดีที่สุดต้องทำ 3 เรื่องพร้อมกัน แต่เราไม่สามารถแก้พร้อมกัน 3 เรื่องได้ ประเด็นที่สอง ในเชิงธุรกิจเองมีการพูดกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการใช้ทรัพยากรมาก หรือมีการใช้พลังงานค่อนข้างมาก ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจเมื่อจะไปเปลี่ยนเรื่องการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงมาก ๆ หรือเปลี่ยนเรื่องพลังงานให้เป็นพลังงานที่สะอาดขึ้นมาก ๆ ปรากฏว่าเมื่อเปลี่ยนแล้วต้นทุนสูงขึ้น “ลูกค้าบอกรับไม่ได้” ในขณะที่มีผู้ผลิตอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้เปลี่ยนในลักษณะแบบนั้นคือยังทำเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนว่า ลูกค้าต้องการสินค้าที่ Green สะอาดขึ้น แต่ไม่อยากจะจ่ายแพงขึ้น ตามต้นทุนให้สะอาดขึ้น”
รุ่งโรจน์ขยายความต่อเนื่อง โลกในอดีตไม่สนใจเรื่องที่กล่าวถึงข้างต้นผู้ประกอบการก็ทำงานในแบบเดิมคือ Non Circular เมื่อมาเป็น Circular ต้องยอมรับว่า อย่างน้อยช่วงแรกต้นทุนสูงขึ้น เพราะฉะนั้นความเสี่ยงตรงนี้จะเกิดขึ้นมากับผู้ประกอบการทีเดียว
“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการปรับต้นทุนไปแล้ว ปรับกระบวนการต่าง ๆ ไปแล้วเพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องของ Green มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคไม่ยอมรับตรงนี้ อันนี้เป็นความเสี่ยงประเด็นที่สองที่จะเกิดขึ้น ท้ายที่สุด ผมคิดว่าเป็นความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เรื่องเทคโนโลยี เพราะเมื่อผู้ประกอบการ หรือธุรกิจบอกว่า เอาล่ะต้องไป Net Zero ให้ได้ ก็จะมี 2 เป้าหมายหลัก ๆ อย่างเอสซีจี 2030 จะต้องลดให้ได้ 20% จากปี 2020 ในขณะเดียวกัน 2050 คือ Net Zero”
รุ่งโรจน์เล่าถึงความเสี่ยงในเรื่องเทคโนโลยี ระหว่างปี 2030-2050 ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างมาก และเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเป็นเทคโนโลยีที่ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าเป็นอย่างไร แต่ยังไม่เห็นถึงต้นทุนจริง ๆ ในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ เช่นเมื่อคุยกันถึง Carbon Capture คือการดักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยไปสู่อากาศ เราดักเก็บ บางทีก็อัดลงไปข้างล่างบ้างซึ่งขณะนี้มีเทคโนโลยีแล้ว แต่ราคาแพงมาก บริษัทเองก็พยายามทดลองลงทุนเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ สุดท้ายยังไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีอะไรจะถูกนำมาใช้ อย่างไรก็ตามถ้าบริษัทที่มีสเกลที่มากจะลงทุนหลาย ๆ เทคโนโลยี เพื่อที่อย่างน้อยไม่ใช่การแทงม้าตัวเดียว
“เพราะฉะนั้นเมื่อสักครู่เราคุยกันเรื่อง 3 ความเสี่ยงที่ธุรกิจตั้งเป้าเป็น Net Zero ประกอบไปด้วย 1.แก้ปัญหาเดียวไม่ได้แก้ 2 ปัญหาจะไม่สามารถเดินไปได้ 2.ผู้ผลิตปรับตัว แต่มีผู้ผลิตอีกบางกลุ่มไม่ปรับตัว แล้วสุดท้ายออกมาผู้บริโภคตัดสินใจเลือกอย่างไร เป็นความเสี่ยงธุรกิจตรงนี้่ 3.เป็นเรื่องของการลงุทุนเทคโนโลยีที่หลายอย่างมองเป็นเทคโนโลยีที่มองไปในอนาคตไกล ๆ หาก 3 ความเสี่ยงนี้บริหารจัดการได้ มีโอกาสที่จะก้าวสู่ Net Zero”
สำหรับเอสซีจีเอง แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 กำไรลดลงจากการปิดเมืองทั้งภูมิภาค ต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบที่สูงขึ้นตามตลาดโลก แต่ธุรกิจยังมั่นคง
เอสซีจีประกาศเดินหน้าสร้างการเติบโตระยะยาวด้วยกลยุทธ์ ESG มุ่งบริหารความเสี่ยงต้นทุนวัตถุดิบและเชื้อเพลิง เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนทั้งพลังงานชีวมวลและแสงอาทิตย์ รวมถึงเตรียมความพร้อมรับมือภาวะเงินเฟ้อที่อาจรุนแรงขึ้น คาดหลังเปิดประเทศตลาดจะคึกคัก เศรษฐกิจโลกฟื้น เตรียมคว้าโอกาสด้วยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและสุขอนามัยที่ดี อาทิ SCG Green Choice และ CPAC Green Solution พร้อมรุกธุรกิจผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพ เดินหน้าช่วยสังคมต่อเนื่อง ทั้งกระจายวัคซีนสู่ภาคใต้ด้วยขนส่งควบคุมความเย็น ช่วยน้ำท่วมและสร้างอาชีพ